เรื่อง เจษฎา ปุรินทวรกุล
รู้หรือไม่ว่าแพ็คเกจจิ้งเองก็มีช่วงอายุการใช้งาน หมายความว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์ครั้งหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าออกแบบมาขายเพียงครั้งเดียวแล้วจบกันไปเลย เพราะสินค้า มีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) 4 ช่วง ดังนี้
1. ช่วงแนะนำ เป็นช่วงเปิดตัวสินค้า ยอดขายอาจต่ำ อาจมีหรือไม่มีคู่แข่งในท้องตลาดก็ได้
2. ช่วงเติบโต เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาด สินค้าได้รับการยอมรับและยอดขายเติบโตขึ้น
3. ช่วงอิ่มตัว ช่วงนี้ยอดขายจะเริ่มนิ่ง และอาจมีคู่แข่งเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด
4. ช่วงลดลง ยอดขายลดลง ถ้าไม่มีการพัฒนา ปรับปรุง รักษาคุณภาพให้ดี หรือแตกไลน์สินค้าใหม่ ก็อาจเข้าสู่ภาวะขาดทุนได้
แล้วช่วงไหนหรือเหตุผลอะไรที่เราควรปรับเปลี่ยนแพ็คเกจจิ้ง มาดูเคล็ดลับในการปรับแพ็คเกจจิ้งเพื่อไม่ให้เราต้องสูญเสียยอดขายและส่วนแบ่งทางการตลาด กันดีกว่า
เจาะตลาดใหม่
หากยอดขายสินค้าเริ่มมีการอิ่มตัว เช่น แบรนด์ขนมท้องถิ่นแบรนด์หนึ่ง ขายสินค้าอยู่ในจังหวัด จนยอดขายอิ่มตัวและเริ่มมีคู่แข่งเข้ามา ก็อาจจะสร้างแพ็คเกจจิ้งขึ้นมาใหม่เพื่อส่งออกไปยังต่างจังหวัด วางขายตามห้าง ส่งออกต่างประเทศ หรือสร้างแพ็คเกจจิ้งขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย จากเดิมขายคนในพื้นที่เพื่อรับประทานโดยตรง ก็ปรับเป็นแพ็คเกจจิ้งสวยงาม เพื่อเน้นกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดที่ต้องการซื้อเป็นของฝากแทน เป็นต้น
ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่
ยกตัวอย่างง่ายๆ ชาเขียวแบรนด์หนึ่ง ฉลากและฝาเป็นสีเหลือง ซึ่งสร้างความเข้าใจตรงกันมานานว่านั่นคือชาเขียวรสน้ำผึ้งมะนาว ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า นานวันไปแบรนด์นี้มีคู่แข่ง ยอดขายลดลง ส่วนแบ่งทางการตลาดต่ำลง เขาจึงเพิ่มยอดขายด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาเป็นชาเขียวรสลิ้นจี่ซึ่งมีฉลากและฝาเป็นสีชมพู หรือมันฝรั่งที่ใช้บรรจุภัณฑ์แบบเดิมแต่เปลี่ยนสีเปลี่ยนรสชาติ เพื่อแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด ทั้งนี้ต้องพยายามคงรูปแบบเดิมเอาไว้เพื่อแสดงความสัมพันธ์กับสินค้าชิ้นเดิมและให้ลูกค้าจดจำเราได้
การส่งเสริมการขาย
แบรนด์ระดับยักษ์ใหญ่มักมีการออกแบบแพ็คเกจจิ้งขนาดทดลองใช้ แล้วนำไปแจกฟรีตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้ทดลองใช้สินค้า นี่ก็คือส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการขาย หรือสร้างแพ็คเกจจิ้งขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มยอดขายในช่วงวันวาเลนไทน์และเทศกาลปีใหม่ก็ได้เช่นกัน
เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย
ช่องทางการจัดจำหน่ายที่เปลี่ยนไป ระยะทางไกลขึ้น อาจต้องมีการออกแบบรูปทรงสินค้าใหม่ เพื่อให้คุ้มค่าคุ้มทุนปริมาณหน่วยขนส่ง และเพื่อให้ค่าใช้จ่ายลดลงด้วย เช่น เดิมที สินค้าของเราอาจนำไปใส่กล่องได้ 24 ชิ้น หลังจากปรับเปลี่ยนแพ็คเกจจิ้งให้ดีขึ้นแล้ว สามารถนำไปใส่กล่องขนาดเดิมได้ถึง 48 ชิ้น จากเดิมที่เคยใช้รถบรรทุก 10 คันในการขนส่ง ก็อาจจะเหลือเพียงแค่ 5 คัน เป็นต้น
วันหนึ่งที่เราเริ่มถึงจุดอิ่มตัว ยอดขายไม่ขยับหรือขายได้น้อยลง การปรับแพ็คเกจจิ้งคือหนึ่งในวิธีที่จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ได้อย่างแน่นอน
Create by smethailandclub.com