เรื่อง : มลฑา ชัยธำรงค์กูล
หลายครั้งที่การแต่งแต้มสีสัน ต่อเติมเรื่องราวในตัวผลิตภัณฑ์เพียงเล็กน้อย กลับช่วยทำให้สินค้าดูดีมีคุณค่า และหนึ่งในเครื่องมือที่จะทำให้สินค้าของคุณมีคุณสมบัติที่ว่ามานี้ก็คือ ‘ดีไซน์’ หรือ ‘การออกแบบ’
พิชิต วีรังคบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรมสัมพันธ์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ให้ความเห็นถึงความสำคัญของการออกแบบที่มีต่อผลิตภัณฑ์ว่า การออกแบบก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูดีขึ้นแล้ว ยังนำไปสู่การแก้ไขปัญหาบางประการต่อตัวสินค้าและธุรกิจได้ ยิ่งถ้าการออกแบบนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้งาน (Content) จริงๆ ไม่ใช่เพราะเพื่อรูปทรงที่แตกต่าง และสีสันที่สวยงามเพียงอย่างเดียวก็จะทำให้สามารถต่อยอดความคิดนั้นได้ไม่มีที่สิ้นสุด
สิ่งที่สำคัญจึงอยู่ที่ความกล้าคิด กล้านำเสนอ ไม่ต้องกลัวว่าเชย เพราะงานออกแบบทุกอย่างนั้นมีตลาดรองรับเสมอ เพียงแต่ต้องมีการเก็บข้อมูลที่ดีก่อน แล้วนำมาทดลองกับชีวิตจริง ใช้สิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนด ลองทำอะไรที่แตกต่างซะบ้าง เช่น ยืนประชุม ปรับเปลี่ยนที่นั่งทำงาน ทาสีห้องใหม่ เวลาเห็นสิ่งที่ต่างกันสุดขั้วก็พยายามจินตนาการให้ได้ภายในเวลาอันจำกัดว่าสามารถนำสิ่งนั้นๆ มารวมกันโดยเกิดประโยชน์สูงสุด และมีรูปลักษณ์ที่โดนใจได้อย่างไร เมื่อฝึกฝนการใช้จินตนาการอย่างสม่ำเสมอแล้ว ความคิดสร้างสรรค์ก็จะตามมา นวัตกรรมก็จะเกิดขึ้น
สำหรับตัวเขาเองนั้นมักจะหาแรงบันดาลใจด้านการออกแบบจากการเปิดดูเว็บไซต์ต่างประเทศ อาทิ www.notcot.org ซึ่งมีสินค้าไอเดียเท่ๆ จากทั่วโลกมาอัพเดตทุกวัน ตั้งแต่เครื่องประดับชิ้นเล็กไปจนถึงรถยนต์คันโต ซึ่งใครๆ ก็สามารถจุดประกายไอเดียได้จากเว็บไวต์ทำนองนี้ที่มีอยู่มากมาย เช่น http://critica.us/, www.todayandtomorrow.net/, http://www.behance.net เป็นต้น
ดีไซน์ดีต้องมี ‘เรื่องราว’
นอกจากรูปร่างหน้าตาของผลิตภัณฑ์ที่จะต้องน่าสนใจแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการสร้างแม่เหล็กดึงดูดใจผู้ซื้อก็คือ เรื่องราวของสินค้า ดังที่ พูลพัฒน์ โลหชิตรานนท์ ผู้อำนวยการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บอทานิค จำกัด ได้ชี้ให้เห็นว่า ‘ภาพลักษณ์สำคัญกว่าความเป็นจริง’
ซึ่งหมายถึง เมื่อไรก็ตามที่ผู้ซื้อเชื่อในสินค้านั้นๆ มูลค่าของสินค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การสร้างอารมณ์ และความรู้สึกร่วมของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก วิธีการสร้างเรื่องราวให้กับสินค้าจึงเป็นสิ่งที่เขาเน้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการตั้งชื่อ การสร้างเรื่องราวให้ผู้ซื้อรู้สึกร่วมไปกับสินค้า พร้อมสื่อสารให้ลูกค้าเห็นถึงวิธีคิด และวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความแตกต่างแล้ว ยังทำให้การลอกเลียนแบบได้ยากขึ้น
พูลพัฒน์ยกตัวอย่างสินค้าที่บริษัท บอทานิค จำกัด หยิบจับมาอาบน้ำประแป้งเสียใหม่จนเพิ่มค่าได้อย่างน่าฉงนชนิดที่ฝรั่งมังค่ายังคลั่งไคล้ ยอมจ่ายเพื่อซื้องานไอเดียสุดล้ำที่ทำได้ไม่ยากมาไว้ตกแต่งบ้าน อาทิ ไม้ศัตรูพืช หรือผลไม้เล็กที่เป็นของไร้ค่าของชาวไร่ชาวสวน เขานำมาผ่านกระบวนการเฉพาะให้มีกลิ่นหอม และบรรจุลงในหีบห่อสวยหรู วางตลาดพร้อมกับเรื่องราวของสินค้าให้ผู้ซื้อได้ดื่มด่ำไปกับรูปธรรม นามธรรม เท่านี้สินค้าของเขาก็ทำกำไรสูงกว่าต้นทุนได้เป็นร้อยเท่า
หรือแม้กระทั่งปัญหาที่เกิดกับสินค้าซึ่งทางบริษัท บอทานิค จำกัด ดูแลให้กับแบรนด์อื่นๆ เขาก็สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ เช่น การผลิตเจลหอมหลากสีที่ไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องของเม็ดฟองอากาศซึ่งผุดให้เห็นอย่างชัดเจนได้ การตั้งชื่อให้ว่า OXYGEN จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการสร้างเรื่องราวของสินค้าให้ล้อไปกับภาพลักษณ์ที่เห็นอยู่นั่นเอง
ทั้งหมดนี้ เขาบอกว่ามาจากการคิดนอกกรอบในทุกๆ เรื่อง มิได้จำกัดอยู่ที่การออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกของสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว โดยมีเคล็ดลับ คือ ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนมา และอย่าอิงทฤษฎีบท เพราะสิ่งที่อยู่ในหนังสือก็คือ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ให้ลืมคำว่า ‘คนอื่นเขาไม่ทำกัน’ เพื่อที่จะสามารถออกไปยืนอยู่นอกกรอบ และมองเห็นหลายๆ อย่างมากขึ้น
นอกจากนี้ ก็จะต้องหาสไตล์ของตัวเองให้ชัดเจน อาจเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวอย่างการแต่งตัว การแต่งห้อง ฯลฯ เพื่อให้เกิดการดื่มด่ำอย่างแท้จริง แล้วจึงค่อยๆ เริ่มผนวกวิธีคิดทางธุรกิจเข้ามาใช้ในการเข้าถึงลูกค้า การเลือกใช้วัสดุ เทคโนโลยีในการผลิตสินค้า การบริการแบบมีดีไซน์ จนถึงการจัดการด้านต่างๆ
สร้างความต่าง แก้ปัญหา ‘ก๊อบปี้’
ถึงแม้ว่าสินค้าจะมีทั้งจุดแข็ง จุดขายที่ลงตัวแล้ว แต่เมื่อสินค้าออกวางขาย อาจจะมีปัญหายอดนิยมตามมาอย่าง ‘การลอกเลียนแบบ’ ซึ่งผู้ผลิตหลายคนเคยเจอและถอดใจไปแล้วหลายราย
จิรพรรณ กิตติศศิกุลธร Design Director หญิงคนเก่งแห่งบริษัท Able Interior Workshop จำกัด บอกถึงแนวทางในการแก้ปัญหานี้ว่า ตัวเธอเองก็เคยเจอปัญหานี้เช่นกัน ชนิดที่ว่ารูปแบบเหมือนกันทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่เว็บไซต์ แต่นั่นยิ่งเป็นพลังขับเคลื่อนให้เธอไม่อาจหยุดความคิดสร้างสรรค์ลงได้ และการก๊อบปี้นั้น คนที่ลอกเลียนแบบแต่ละรายจะสามารถทำได้อยู่แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่มีรายใดที่จะสามารถยืนหยัดด้วยการก๊อบปี้ผลงานของคนอื่นๆ แล้วประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ เธอยังแนะนำอีกด้วยว่าหากมีสินค้าที่เหมือนกันมาก การต่อสู้แบบกดราคากันเองจะเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ประกอบการโดยรวม เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการควรหันมาสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าจะดีกว่า
ส่วนคนที่อยากสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าของตัวเองนั้น เธอแนะนำว่า การเรียนดีไซน์เป็นแค่จุดเริ่มต้น คนทั่วไปก็สามารถที่จะซึมซับได้โดยการทำให้ดีไซน์เข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของตนเอง ซึ่งทุกคนต้องหาตัวเองให้เจอ โดยอันดับแรก ต้องให้ตัวเองชอบก่อนแล้วจึงทำให้เต็มที่ ยืนหยัดในคาแร็กเตอร์ของตนเอง แต่สินค้านั้นก็ต้องชัดเจนด้านการใช้งานด้วย
เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือ อย่าให้ลูกค้าถามว่าซื้อไปทำอะไร แล้วจะได้เจอลูกค้าที่เป็นเนื้อคู่ ชนิดที่ว่าเกิดมาเพื่อกันและกัน