อย่าเชื่อว่าทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้ลองทำ 14 PEAKS : Nothing is impossible ภารกิจพิชิต 14 ยอดเขาใน 7 เดือน

 

     คุณเคยมีความฝันบ้าๆ บ้างไหม ฝันแบบที่พอเล่าให้ใครๆ ฟังก็มักจะได้รับคำตอบแบบเดียวกันว่า “เป็นไปไม่ได้”

     ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ได้บันทึกการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไว้ ในปี ค.ศ. 1953 เอดมันด์ ฮิลลารี และ เทนซิง นอร์เก ชาวเชอร์ปา พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ภูเขาที่สูงที่สุดในโลกได้เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็มีนักปีนเขาชาวตะวันตกมากมายฝันจะพิชิตภูเขาสูง ซึ่งในโลกนี้มีภูเขาเพียง 14 ลูก ที่สูงเกินกว่า 8,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ความสูงระดับที่เรียกว่าเขตความตาย (Death Zone)

1


     ไรน์โฮลด์ เมสส์เนอร์ บุคคลแรกที่พิชิตยอดเขาสูงแปดพันเมตรทั้ง 14 ลูกได้สำเร็จ โดยใช้เวลา 16 ปี บอกว่าการปีนยอดเขาแปดพันเมตรครบทุกลูกในหนึ่งช่วงอายุคนนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก              

     สำหรับนักปีนเขาสูง การปีนเขาแปดพันเมตรแค่ลูกเดียว ก็เป็นความพยายามที่ยิ่งใหญ่แล้ว ต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่าสองเดือน แต่ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 2019 แวดวงนักปีนเขาสูงเริ่มคุยกันถึงชายชาวเนปาลบ้าๆ คนหนึ่ง ที่ไม่มีใครเคยได้ยินชื่อมาก่อน เขามีแผนจะพิชิตภูเขาสูง 14 ลูกนั้น ในเวลา 7 เดือน ชายคนนี้ชื่อ “นิมส์ ปุร์จา”

     นิมส์ เป็นลูกชายคนสุดท้องในครอบครัวชาวเนปาลยากจน พ่อของเขาเคยเป็นทหารในกองทัพกูรข่า ซึ่งถือเป็นนักรบที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก นิมส์เข้าร่วมกองทัพกูรข่าเช่นเดียวกับพ่อ หลังจากเป็นทหารกูรข่ามา 6 ปี นิมส์ตัดสินใจสมัครเข้ากองกำลังพิเศษอังกฤษ เขาตื่นนอนตั้งแต่ตีสองตีสาม แบกน้ำหนัก 34 กิโลกรัม ออกไปวิ่งกว่า 20 กิโลเมตร ก่อนจะออกไปทำงาน เข้ายิม แล้วกลับบ้านตอนห้าทุ่ม ฝึกฝนตัวเองเช่นนี้อยู่ 6 เดือน ที่สุดก็เป็นทหารกูรข่าคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเลือกให้อยู่หน่วยปฏิบัติการพิเศษทางเรือของอังกฤษ     

     หลังจากพิชิตเอเวอเรสต์ในปี ค.ศ. 2012 นิมส์ก็รับรู้ว่าเขาเป็นนักปีนเขาที่แข็งแกร่ง การปีนเขาสูงแปดพันเมตรกลายเป็นความหลงใหลของเขา เมื่อนิมส์รู้ว่าในชีวิตนี้อยากทำอะไร ความท้าทายครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้น เขาบอกพี่ชายว่าอยากลาออกจากกองทัพ พี่ชายบอกว่าอีกแค่หกปีเขาก็จะได้เงินบำนาญแล้ว ให้รอถึงตอนนั้นก่อน แต่นิมส์ไม่ฟัง เขาทะเลาะกับพี่ชายที่เห็นว่าการปีนเขานั้นทั้งเสียเวลา เสียเงิน เขาคิดถึงแต่ตัวเอง ไม่คิดถึงครอบครัว  

     มีคนบอกว่าแผนพิชิต 14 ยอดเขาใน 7 เดือนของเขาเป็นไปไม่ได้ นิมส์จึงตั้งชื่อโปรเจกต์ของเขาว่า “Project  Possible” เขารวมทีมนักปีนเขาชาวเนปาลและหาทุนทำความฝันให้เป็นจริง ในวัฒนธรรมเนปาลที่คุณต้องเป็นฝ่ายให้ การไปขอเงินจากสปอนเซอร์เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่มีใครเชื่อว่าเขาทำได้ นิมส์พบแต่ความผิดหวังซ้ำๆ ที่สุดก็ตัดสินใจเสี่ยงด้วยทุกอย่างที่มี ด้วยการเอาบ้านของตัวเองไปจำนอง โดยที่ภรรยาของนิมส์เชื่อมั่นในตัวเขา

     การเดินทางพิชิตภูเขาลูกแรกเริ่มต้นขึ้นที่ อันนะปุรณะ สูง 8,091 เมตร นิมส์ได้พบนักปีนเขาสูงที่พยายามพิชิตภูเขาลูกนี้มาแล้ว 5 ครั้งในเวลา 13 ปี แต่ยังไม่เคยทำสำเร็จ นักปีนเขาคนนั้นรับรู้ว่า “ชายเนปาลคนนี้เชื่อว่าพวกเขาจะทำได้สำเร็จ และพวกเขาก็พยายามทำจนได้”

     หลังจากพิชิตยอดเขาลูกแรกสำเร็จกลับลงมาถึงแคมป์ นิมส์กับทีมของเขาได้รับรู้ว่ามีนักปีนเขาจากอีกทีมที่ไม่ได้ลงมา พวกเขาเกาะเชือกที่โยงจากเฮลิคอปเตอร์กลับขึ้นไปช่วยพานักปีนเขาคนนั้นกลับลงมา ภารกิจนี้ไม่ได้มีเพียงแค่พวกเขาอีกต่อไป     

     ณ ภูเขาลูกที่สาม ปกติแล้วนักปีนเขาจะนอนพักค้างคืนที่แคมป์หนึ่ง และปีนต่อในวันรุ่งขึ้น ไปพักค้างคืนที่แคมป์สอง  แคมป์สาม และ แคมป์สี่ ตามลำดับ แต่ด้วยสภาพอากาศทำให้ต้องปีนรวดเดียวจากฐานไปถึงยอดโดยไม่พักค้างคืน นิมส์บอกลูกทีมว่าหากรู้สึกว่ามาทำอะไรโง่ๆ และกำลังพาตัวเองไปตาย ก็ให้ทิ้งเขาไปได้ แต่ทุกคนยังคงไปต่อ พวกเขาออกเดินทางตลอดทั้งคืนและในที่สุดก็พิชิตยอดเขาได้ตอนหกโมงเช้า

     ขากลับลงมาพวกเขาพบนักปีนเขาที่ออกซิเจนหมด นิมส์เอาออกซิเจนของตัวเองให้นักปีนเขาคนนั้นและวิทยุขอถังออกซิเจน คืนนั้นพายุหิมะกระหน่ำ นิมส์โทรหาภรรยา บอกว่านักปีนเขาคนนั้นตายในอ้อมแขนของเขา ไม่มีใครมาช่วยเลย นิมส์ขาดออกซิเจนกว่า 13 ชั่วโมง เริ่มมีภาวะสมองบวม ทำให้เริ่มควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ รู้สึกอ่อนล้าทั้งร่างกายและจิตใจ เขาเริ่มตั้งคำถามกับแผนการของตัวเอง แต่ก็ยังรวบรวมแรงเดินต่อไป เขาพบนักปีนเขาที่หลงทาง ซึ่งมีภาวะสมองบวมเช่นกันและได้ช่วยชีวิตนักปีนเขาคนนั้น

     นิมส์มีแผนที่ท้าทายขึ้นไปอีก เขาจะพิชิตยอดเขา เอเวเรสต์ โลตเซ และมาคาลู ใน 48 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นสถิติใหม่ของโลก ที่ยังไม่มีใครทำได้มาก่อน

     ฤดูใบไม้ผลิปีนั้น เกิดพายุรุนแรงบนเอเวอเรสต์ มีช่วงที่อากาศดีอยู่แค่สองวัน ขณะที่มีนักปีนเขา 400 คน กับเชอร์ปาอีก 400 คน พยายามพิชิตยอดเขาในช่วงสองวันนั้น ทำให้เส้นทางปีนเขามีการจราจรคับคั่ง นักปีนเขาทะเลาะกันว่าใครจะได้ขึ้นหรือลงก่อน นิมส์พิชิตยอดเอเวอเรสต์ได้ในวันที่ 29 ของโปรเจกต์พอสซิเบิล ระหว่างเดินลงมาเขามองย้อนกลับไปมองขบวนแถวยาวเหยียดของเหล่านักปีนเขาและบันทึกภาพไว้ เมื่อโพสต์ลงอินเตอร์เน็ต ภาพๆ นี้กลายเป็นกระแสไปทั้งโลก มีชื่อ นิมส์ เป็นผู้ถ่ายภาพ

2           

       ในช่วงที่สองเป็นการปีนภูเขาสูงแปดพันเมตรในปากีสถาน ซึ่งถือเป็นการปีนเขาที่โหดร้ายเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ภูเขาลูกที่ 7 นังกาปาร์บัต ได้ชื่อว่าเป็นภูเขาเพชฌฆาตที่คร่าชีวิตนักปีนเขามากมาย นิมส์ลื่นตกลงไป สูญเสียการควบคุม เขาใช้กำลังทั้งหมดที่มีคว้าเชือกไว้แน่นสุดชีวิต บอกตัวเองว่าวันนี้ไม่ยอมตายเด็ดขาด เขาร่วงลงไปประมาณร้อยเมตรได้ เป็นประสบการณ์ที่สั่นคลอนความมั่นใจอย่างมาก แต่ในฐานะผู้นำทีม แม้ว่าบางช่วงจะรู้สึกว่าไม่ไหว เขาก็ต้องซ่อนความอ่อนแอไว้และเดินหน้าต่อไป

     ในโลกของการปีนเขามีการถกเถียงถึงเรื่องวิธีที่ใช้ปีนเขา นักปีนเขาสายเคร่งครัดเชื่อว่าการปีนเขาแปดพันเมตรควรจะใช้วิธีแบบอัลไพน์ คือไม่ใช้ออกซิเจนเลย ทีมของนิมส์เลือกวิธีแบบไฮบริด ซึ่งจะใช้ออกซิเจนที่ความสูงเกินแปดพันเมตร หลายคนบอกว่าการปีนเขาโดยใช้ออกซิเจนนั้นง่าย  

     “พวกนักปีนเขาสูงคนอื่นๆ รอให้พวกเราขึงแนวเชือกเอาไว้ให้ พวกเขาก็แค่ปีนตามมา แบบนั้นมันง่ายกว่าเยอะ” ทีมของนิมส์จะติดตั้งแนวเชือกเรื่อยๆ ขึ้นไปถึงยอด และแบกอุปกรณ์ปีนเขาขึ้้นไปเอง เรียกว่าพึ่งพาตัวเองทั้้งหมด 

     ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1978 ไรน์โฮลด์ เมสส์เนอร์ พิชิตยอดเขา 8 พันเมตร ทั้ง 14 ลูก ได้โดยไม่ใช้ออกซิเจนช่วย แต่ก็ใช้เวลาถึง 16 ปี นิมส์รู้ว่าหากเขาปีนเขาโดยวิธีนั้น ก็จะเป็นไปไม่ได้ในเวลาแค่ 7 เดือน    

      เมื่อมาถึงเคทูที่เลื่องลือในเรื่องความโหดร้าย เหนือแคมป์สี่ขึ้นไปจะมีช่วงคอขวดที่ถือเป็นจุดวิกฤตของเส้นทาง มีชะง่อนผาน้ำแข็งยักษ์ซึ่งอาจถล่มกวาดทั้งทีม ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เพิ่งมีนักปีนเขาสามคนถูกหิมะถล่มใส่ นิมส์ได้พบกับทีมนักปีนเขาที่ถอดใจเตรียมเดินทางกลับ ท่ามกลางความหดหู่ ในคืนนั้นเขาจัดปาร์ตี้สุดเหวี่ยง หลายคนคิดว่าไม่มีโอกาสที่ใครจะพิชิตเคทูได้ในฤดูกาลนี้ แต่นิมส์พร้อมที่จะเสี่ยง และทำให้เต็มที่สุดชีวิต ไม่สนใจว่าใครคิดอย่างไร เขายืนยันว่าจะทำให้สำเร็จให้ได้ เขาบอกว่าหลายครั้งที่รู้สึกว่า ซวยแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ความซวยมีอยู่แค่ 45 เปอร์เซ็นต์ หลายคนยอมแพ้หันหลังกลับ หลายคนทำไม่สำเร็จ แต่ทีมต้องร่วมมือรวมพลังไปด้วยกัน
 

     หลายคนพยายามขึงแนวเชือกในช่วงกลางวัน ตรงนั้นมีหิมะถล่มง่ายมาก นิมส์คิดแผนจะไปถึงจุดที่ทุกคนยอมแพ้ตอนตีหนึ่งตรง ในเวลานั้นหิมะจะแข็งเหมือนคอนกรีต กลยุทธนี้ทำให้นักปีนเขาชาวเนปาลทั้งห้าพิชิตยอดเคทูได้ในที่สุด และยังทำให้นักปีนเขาที่ถอดใจไปแล้วเปลี่ยนใจ ให้โอกาสตัวเองอีกครั้ง นักปีนเขา 24 คนไปถึงยอดเขาเคทูในสองวัน เป็นเพราะนิมส์และทีมของเขาทำให้เป็นไปได้   
 

     ทีมของนิมส์ปิดฉากการเดินทางช่วงที่สองในเวลา 3 เดือน 3 วันของโปรเจกต์พอสซิเบิล ขณะที่แม่ของนิมส์หัวใจวาย  และอาจไม่มีโอกาสฟื้นขึ้นมาอีก ร่างกายนางอ่อนแอเกินกว่าจะผ่าตัดได้ นิมส์รู้สึกว่าในขณะที่กำลังทำโปรเจกต์ที่สร้างแรงบันดาลใจและให้พลังบวก แต่ตัวเขาเองกลับล้มเหลวในฐานะลูกชาย ภรรยาของเขาคอยให้กำลังใจว่า “อย่าถอดใจนะ แม่ภูมิใจในตัวคุณ” อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา แม่ของนิมส์รอดชีวิตราวปาฏิหาริย์ นางฟื้นขึ้นมาและอวยพรลูกชายให้ทำสำเร็จ   

3

     เฟสสาม เหลือภูเขาอีกสามลูกสุดท้าย นิมส์วางแผนไว้ว่าจะพิชิตภูเขามนาสลู ในประเทศเนปาลก่อน จากนั้นก็เข้าทิเบตเพื่อปีน โชโอยู และชิชาพังมะ แต่เมื่อมาถึงแคมป์ฐานของมนาสลู ก็ได้ข่าวร้ายว่ารัฐบาลจีนปฏิเสธคำขออนุญาติปีนชิชาพังมะ เทือกเขานี้จะปิดตลอดทั้งปี และขณะเดียวกันโชโอยูจะปิดในสัปดาห์หน้า ดังนั้นเขาต้องเปลี่ยนแผนรีบเดินทางไปทิเบตให้เร็วที่สุดเพื่อพิชิตโชโอยู แล้วจึงกลับมาที่มนาสลูอีกครั้ง

     เมื่อได้ไปยืนบนยอดเขามนาสลู นิมส์มีความสุข แต่ในใจก็รู้สึกว่านี่อาจจะเป็นภูเขาลูกสุดท้าย สำหรับคนทั่วไป การถูกรัฐบาลจีนปฏิเสธอย่างชัดเจน หมายถึงต้องล้มเลิกแล้ว แม้ว่าเขาจะไม่มีอะไรเลย เมื่อเทียบกับอำนาจของรัฐบาลจีน แต่นิมส์ก็ไม่ยอมถอดใจ เขาใช้ 2 วิธี วิธีแรก คือ ใช้กระบวนการทางการเมือง หาทางเข้าพบนักการเมืองเพื่อขออนุญาตผ่านทางรัฐบาลเนปาล แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะใช้เวลานาน 4-6 เดือน

     และวิธีที่สอง นิมส์โพสต์ขอความช่วยเหลือลงทางโซเชียลมีเดีย ยอดผู้ติดตามของเขามากขึ้นเรื่อยๆ  มีคนมากมายจากทั่วโลกเขียนจดหมายไปหารัฐบาลจีน และได้การสนับสนุนจากวงการนักปีนเขาด้วยอีกทาง ทุกคนต่างเห็นว่านี่ไม่ใช่ภารกิจเพียงเพื่อตัวเขาอีกต่อไป แต่เพื่อเนปาล เพื่อชาวเชอร์ปา และเพื่อวงการปีนเขาสูง ถึงตอนนี้การใช้โซเชียลมีเดียทำให้มีแนวร่วมจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งรัฐบาลจีนเห็นว่าทั้งโลกให้การสนับสนุนเขา ในที่สุดทีมของนิมส์ก็ได้พิชิตภูเขาลูกสุดท้าย ชิชาพังมะ ในวันที่ 29 ตุลาคม 2019

     โปรเจกต์พอสซิเบิลสำเร็จลุล่วง นิมส์และทีมของเขาพิชิต 14 ภูเขาได้ในเวลา 6 เดือน 6 วัน ทำลาย 6 สถิติโลกของการปีนเขาสูง ด้วยทีมเวิร์คดี ผู้นำที่ไม่ยอมแพ้ พวกเขาทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และยกระดับนักปีนเขาชาวเนปาลให้มีตัวตนในระดับสากล     

     “ไม่สำคัญว่าคุณจะมาจากไหน คุณแสดงให้โลกเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ บางครั้งไอเดียที่คุณคิดขึ้นมาได้ อาจดูเป็นไปไม่ได้สำหรับคนอื่นทั้งโลก แต่นั่นไม่ได้แปลว่ามันเป็นไปไม่ได้สำหรับคุณ และถ้าเราสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอีกหนึ่งหรือสองคน ในทางที่ดี เราก็สร้างแรงบันดาลใจให้โลกได้”

      นิมส์เป็นอีกคนหนึ่งที่ลาออกจากงานมาทำตามความฝันของตัวเอง มนุษย์เงินเดือนมากมายก็ทำแบบเดียวกัน แต่ชายเนปาลบ้าๆ คนนี้คิดทำเรื่องที่ใครๆ บอกว่าเป็นไปไม่ได้ โดยไม่ยอมถอดใจ เขาพิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของความเป็นไปได้ และยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอีกมากมาย

     เราต่างก็มีภูเขาสูงของตัวเองเช่นกัน เราได้สู้ถึงที่สุดเพื่อพิชิตภูเขาของเราเองแล้วหรือยัง

ประเภท : สารคดี / ฉายทาง Netflix

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน