เรื่อง วันวิสา งามแสงชัยกิจ
ยุคนี้ออนไลน์ ซื้อง่าย สั่งสะดวกก็จริง
แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ ค่าขนส่ง
ลูกค้าอยากกิน แต่ค่าส่งแพง = การสูญเสียโอกาสของร้านเบเกอรีรายเล็ก
หนึ่งในปัญหาที่คอยขัดขาคนขายเบเกอรีออนไลน์ คือ การที่ค่าขนส่งสูงพอๆ หรืออาจจะสูงกว่าค่าขนมที่สั่ง จนลูกค้าไม่น้อยต้องถอดใจยกเลิกการสั่งซื้อไป เหมือนอย่างที่ เชฟนนท์ - นนทวรรธ โรจนศักดิ์ชัย เจ้าของร้าน BRIX Dessert Bar ได้เจอมา หลังจากทำการออกสินค้าใหม่อย่าง “เบนเย่ (Beignet)” หรือ โดนัทฝรั่งเศส ได้เพียงหนึ่งอาทิตย์ แล้วต้องเจอเข้ากับการล็อคดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบแรกในปีที่แล้ว
“เรามีครัวกลางอยู่ที่เอกมัย ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งจองขนมเข้ามาล่วงหน้า 1 วันได้ ผ่านช่องทางของ LINE OA โดยในวันรุ่งขึ้น เราจะเป็นคนเรียกรถไปส่งให้ และลูกค้าก็ชำระค่าส่งตามระยะทาง แต่ปัญหาข้อหนึ่งที่เราพบคือ เราไม่สามารถที่จะให้บริการลูกค้าที่อยู่ไกลๆ ได้ เนื่องจากลูกค้าสู้ค่าส่งไม่ไหว และจุดนี้เองที่ทำให้เราต้องเสียโอกาสของการที่จะได้ลูกค้าไปไม่น้อย”
ร้านเสียโอกาสที่จะได้ลูกค้าจากปัญหานี้ประมาณ 20% - 30%
ใน 10 สายที่โทรเข้ามา จะเป็นลูกค้าที่ติดเรื่องค่าส่งประมาณ 3 – 4 สาย
เมื่อเจอปัญหาทางออกของร้านขนมหวานที่อยู่มานานถึง 5 ปี ก็มาจบลงที่ “เมื่อค่าส่งแพง ก็ต้องออกไปหาลูกค้าเองซะเลย” หรือที่ เชฟนนท์ เรียกหมากเกมนี้ว่า “Brix On Tour”
“On Tour คือ การที่เราบุกไปหาลูกค้าในแต่ละที่ หรือไปตามจุดต่างๆ เพื่อไปทำความรู้จักกับลูกค้าในโซนต่างๆ ให้มากขึ้น เพราะยังมีลูกค้าอีกหลายๆ โซนที่ยังไม่รู้จักเรา ด้วยความที่ร้านของเรานั้นอยู่ในเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่สยามพารากอน ไอคอนสยาม และเซ็นทรัลลาดพร้าว”
โดย Brix On Tour ถูกทำออกมาใน 3 รูปแบบ คือ
1.การตั้งบูธรับส่งสินค้า
รูปแบบแรกของการ On Tour ที่ทางร้านทำคือ การขอเช่าพื้นที่ 2 x 2 เมตร ณ ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อใช้เป็นจุดรับส่งสินค้า โดยให้ลูกค้าทำการ Pre-order เข้ามาก่อน และให้เข้ามารับเองที่บูธ ณ วันที่กำหนด ซึ่งทางร้านจะมอบส่วนลดให้ 5% นับเป็นวิธีที่ช่วยให้ลูกค้าสบายขึ้น เพราะไม่ต้องเสียค่าส่งแพงๆ
ทางร้านทำการโปรโมทล่วงหน้า 1 สัปดาห์ ผ่าน Facebook โดยให้ลูกค้า Pre-order ช่วงวันจันทร์ – วันศุกร์
ทำการตั้งบูธให้ลูกค้ามารับขนมที่สั่ง ณ วันเสาร์ที่กำหนด + ให้ส่วนลด
สิ่งต้องรู้ : สำหรับ on Tour แบบตั้งบูธ
ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา = ค่าเช่าบูธ และค่าน้ำมันรถส่วนตัว เนื่องจากขับไปเอง
เปิดบูธเอง = ลูกค้าจงใจมาหาเราเท่านั้น เพราะฉะนั้น ต้องทำการโปรโมทให้ดี บอกรายละเอียดให้ชัดเจน
ข้อจำกัด = ลูกค้าต้องรอหลายวัน เพราะทางร้านต้องรวบรวมจำนวนคนที่ต้องทำการจัดส่งในอาทิตย์ที่กำหนด
2.จับมือร่วมกับ COVID Rider
การจับมือร่วมกับ COVID Rider หรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งโดนพักงาน หรือรายได้หดหาย ณ ช่วงเวลานั้น เพื่อจัดส่งขนมตามโซนที่กำหนดให้ลูกค้าถึงหน้าประตูบ้าน ทางร้านทำการโปรโมทล่วงหน้า 1 สัปดาห์เช่นกัน และให้ลูกค้าทำการ Pre-order เข้ามา
มีการกำหนดขั้นต่ำในการจัดส่ง เช่น สั่ง 3 กล่อง หรือ 480 บาทขึ้นไป จะเก็บค่าจัดส่งเพียง 50 บาท
เป็นรูปแบบที่สามารถจัดส่งขนมให้ลูกค้าได้ถึงที่ โดยลูกค้าไม่ต้องออกจากบ้าน
สิ่งต้องรู้ : สำหรับ on Tour แบบจับมือกับ COVID Rider
ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา = ค่าเปิดโซนของเส้นทางการจัดส่งของ COVID Rider ซึ่งถือว่าถูกกว่าการใช้บริการแอปดิลิเวอรีค่อนข้างมาก หากจะใช้รูปแบบนี้ต้องพิจารณาให้ดี เพื่อทำให้ไม่ขาดทุน ต้องมีการกำหนด Margin และมีขั้นต่ำในการสั่ง
ข้อจำกัด = ลูกค้าต้องรอหลายวัน เพราะร้านต้องรวบรวมจำนวนคนที่ต้องทำการจัดส่งในอาทิตย์ที่กำหนด
เป็นรูปแบบที่ใช้เพียงช่วงที่มี COVID Rider ให้บริการในปีที่แล้วเท่านั้น
3.ออกอีเวนท์ ร่วมงานแฟร์
การออกบูธร่วมกับออร์แกไนเซอร์ที่จัดงานแฟร์หรืออีเวนท์ต่างๆ ติดต่อขอเช่าบูธ
จากงานที่น่าสนใจ ไปในโซนที่เหมาะกับเรา ตรงกับลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย สถานที่ในการจัดงานดี และรูปแบบของงานดี อย่าพลาดที่จะเข้าร่วม
สิ่งต้องรู้ : สำหรับ on Tour แบบร่วมงานแฟร์
- ควรขอดูภาพงานที่ทางผู้จัดเคยจัดมาก่อน เพื่อใช้ในการตัดสินใจเข้าร่วม
- เลือกขนมที่จะนำไปขายในงานให้ดี ควรจะเป็นแบบที่ขายได้ง่าย ขายได้เร็ว และสามารถซื้อกลับบ้านได้
- ข้อดีคือ ได้อานิสงส์ของ Traffic คนที่มาเดินในงาน
- ค่าเช่าบูธในงานอาจจะแพงกว่าการไปเปิดบูธเองอย่างในรูปแบบแรก
ทำ On Tour ดีอย่างไร?
- ได้ศึกษาลูกค้าในพื้นที่ใหม่ๆ
- ไขข้อสงสัยได้ว่า โซนนั้นๆ ดีต่อการทำธุรกิจของเราจริงหรือไม่
- แม้จะต้องเสียค่าน้ำมัน หรือค่าเช่าบูธ แต่ค่าขนมที่ได้ก็ได้แบบเต็มๆ โดยไม่ต้องแบ่งกับใคร
- เห็นภาพชัดเจนว่า โซนไหนบ้างที่มีศักยภาพต่อการทำธุรกิจ
- ได้ฐานข้อมูลมาอยู่ในมือ ช่วยในการตัดสินใจในอนาคตในเรื่องของการตลาด การเปิดสาขาใหม่ และอื่นๆ
- ไม่ต้องเสียค่า GP จากการใช้บริการของแอปดิลิเวอรีต่างๆ
- การไปเปิดบูธข้างนอก = การมี Outlet เพิ่ม และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับร้าน
- ข้อดีของการเปิดบูธคือ ไม่ต้องลงทุนเยอะ เมื่อเทียบกับการลงทุนเปิดร้านใหม่ ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ามัดจำล่วงหน้า ค่าเช่า หรือค่าตกแต่งร้านที่มีราคาสูง
- ต่อรองค่าเช่าบูธให้ดี ก็ช่วยประหยัดต้นทุนไปได้มาก
ข้อควรรู้ก่อนเริ่ม On Tour
- ค่าขนส่งต้องรับไหว
- ค่าเช่าบูธ / พื้นที่ต้องไม่แพงเกินไป
- เปิดให้ลูกค้า Pre-order ได้ แต่ไม่ควรนานเกินไป เพราะความอยากกินมันจะหมด ทางที่ดีอย่างน้อยควร 1 วัน
- สินค้าต้องเหมาะกับการดิลิเวอรี / การขนส่ง เพราะไม่ใช่อะไรก็ได้ ยิ่งเป็นขนมหรือเบเกอรี ที่บางตัวจะมีครีม หรือต้องใช้ความเย็น
- จะทำอย่างไร? ให้ขนมถึงมือลูกค้าได้โดยที่ขนมไม่เสียและอยู่ในสภาพที่ดี
- ใช้เรื่องของแพ็กเกจจิ้งเข้ามาช่วย เช่น ใช้กล่องที่มีขนาดพอดีกับขนม ปิดสนิท ถือง่าย จัดส่งง่าย
- ใช้น้ำแข็งแห้ง (Dry Ice) เพื่อรักษาความเย็นให้กับตัวสินค้า
- การจัดการต้องเป็นระบบ เพื่อไม่ให้ผิดพลาดในการจัดทำออร์เดอร์ เพราะการหลุดออร์เดอร์ครั้งหนึ่ง ไม่ใช่แค่ต้องย้อนกลับมาเอาสินค้า แต่ยังทำให้ลูกค้าไม่แฮปปี้
ดังนั้น แม้ว่าวันนี้ลูกค้าอาจจะเดินเข้ามาหาเราอย่างเต็มที่ไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่การปิดประตูตายของการทำธุรกิจ เพราะการออกไปพบปะลูกค้าในรูปแบบของการ On Tour เป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนดั่งที่เจ้าของร้านรายนี้ได้บอกเอาไว้ว่า
“ลองออกไปหาลูกค้าในโซนไกลๆ ดูบ้าง เพื่อที่จะได้เจอลูกค้า / โซนที่มันเหมาะกับเราจริงๆ”
FB : brixdessertbar
Tel : 02 005 1963
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี