ระบบชำระเงินยุคดิจิตอล ประตูอนาคตของ e-commerce





    ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ E-Commerce ระบบการชำระเงินได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้บริโภคในยุคดิจิตอลต้องการทางเลือกในการชำระเงินใหม่ๆ ที่มีความสะดวกสบายสูง แต่ก็คำนึงถึงความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือเป็นประเด็นสำคัญ ระบบ Tokenization ของ Apple Pay จะก้าวมาเป็นระบบเสริมความปลอดภัยที่สำคัญในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้ร่วมกับระบบชำระเงินอื่นๆ เช่น Host-Card Emulation (HCE) ของ Google Wallet หรือบัตรเครดิตแบบฝังชิป (chip) ของ EuroPay MasterCard และ Visa (EMV) เป็นต้น 

    ในอนาคตคาดว่าธุรกิจชำระเงินจะเติบโตได้อีกมาก พร้อมกับมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้ให้บริการที่หลากหลาย แต่ระบบชำระเงินที่จะได้รับการยอมรับในวงกว้างและขึ้นแท่นเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ได้ ต้องเป็นระบบที่สามารถตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยของการชำระเงินออนไลน์ได้นั่นเอง

    การขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจซื้อขายออนไลน์ (E-Commerce) หรือซื้อขายทางโทรศัพท์มือถือ (Mobile Commerce) ได้นำไปสู่พัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของระบบการชำระเงิน ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการระบบการชำระเงินใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันการชำระเงินแบบเดิม เช่น การชำระผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ยังคงเป็นช่องทางหลักในการชำระเงินออนไลน์ 

    แต่คาดว่าสัดส่วนการชำระเงินผ่านทางเลือกใหม่ๆ เช่น e-wallets การโอนเงินแบบ real-time หรือทางโทรศัพท์มือถือ จะเพิ่มขึ้นทั่วโลกจาก 43% ในปี 2012 เป็น 59% ในปี 2017 อัตราการขยายตัวที่จะสูงถึง 14% ต่อปีของธุรกิจออนไลน์สำหรับกลุ่มผู้บริโภค (Business-to-Consumer) ในระยะข้างหน้า จะสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ให้บริการการชำระเงินหน้าใหม่อีกหลายราย 

    นอกจากการชำระเงินออนไลน์แล้ว ระบบชำระเงินแบบไร้สัมผัส (contactless payment) ผ่านเครื่องมือสื่อสารเคลื่อนที่ เช่น ระบบ Google Pay และ Apple Wallet ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ Samsung ได้ร่วมมือกับ Master Card ในการเปิดให้บริการ Samsung Pay ที่ผู้ใช้งานสามารถชำระเงินค่าสินค้าผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ขณะอยู่ภายในร้าน และนอกจากนี้ ระบบ LoopPay ที่ Samsung ได้ซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ก่อนหน้านี้ จะช่วยเสริมให้ระบบชำระเงินแบบใหม่สามารถใช้งานร่วมกับเครื่องอ่านบัตรชนิดแถบแม่เหล็ก แบบเดิมได้อีกด้วย 

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีบริการชำระเงินใหม่ๆ ให้ได้เลือกใช้ แต่ความนิยมของผู้ซื้อในการใช้จ่ายผ่านช่องทางใหม่ๆ นี้ ยังต่ำกว่าที่ผู้ให้บริการคาดไว้ โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคลังเลที่จะใช้บริการดังกล่าวคือเหตุผลด้านความปลอดภัย

    นวัตกรรมการชำระเงินที่สามารถตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยของธุรกรรมออนไลน์ ย่อมมีความได้เปรียบในการสร้างความเป็นผู้นำตลาด ความกังวลด้านความปลอดภัยและการโจรกรรมข้อมูลเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือระบบ

    ไร้สัมผัส ข้อมูลจาก Line Flash Sale ในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตที่ได้รับความนิยม เผยว่า แม้ว่า 89% ของผู้บริโภคเข้าชมเว็บไซต์ e-commerce ทางโทรศัพท์มือถือ แต่ 42% กลับเลือกที่จะซื้อสินค้าและชำระเงินผ่านคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ รายงานของ KPMG ได้แสดงว่า 88% ของกลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญกับการคุ้มกันข้อมูลและความปลอดภัยในการชำระเงินเป็นอันดับต้นๆ เมื่อชำระเงินทางโทรศัพท์มือถือ 

    ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงได้คิดค้นระบบเสริมความปลอดภัยรูปแบบต่างๆ ขึ้น โดยตัวอย่างแรกของความพยายามดังกล่าว ได้แก่ การใช้ข้อมูล biometrics เพื่อระบุและยืนยันตัวตนในระบบ Touch ID ของ Apple Pay และระบบ Smile to Pay ของ AliPay นอกจากนี้ Apple ยังต่อยอดนวัตกรรมด้านนี้โดยการใช้ระบบ “Tokenization” ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูงสุดในปัจจุบัน

    นับตั้งแต่ Apple Pay ได้เริ่มนำระบบ Tokenization มาใช้ ก็ได้กระตุ้นให้มีบริษัทด้านเทคโนโลยีรายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดที่มีศักยภาพสูงนี้มากขึ้น และทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมเช่น Google ต้องปรับกลยุทธ์ของบริษัทใหม่ ปัจจุบัน Apple และ Google นับว่าเป็นผู้ให้บริการสองรายที่ได้รับการยอมรับในด้านการพัฒนาระบบชำระเงิน โดยทั้งสองบริษัทให้บริการชำระเงินแบบไร้สัมผัสในร้านค้าผ่านระบบ NFC ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายความถี่สูงที่สามารถส่งข้อมูลในระยะทางสั้นๆ ประมาณ 10 ซม. 

    อย่างไรก็ตาม Apple Pay ได้รับความนิยมสูงขึ้นมากหลังจากเริ่มใช้ระบบ Tokenization ซึ่ง ใช้วิธีสุ่มชุดตัวเลขและตัวอักษร หรือที่เรียกว่า token ขึ้น แล้วเข้ารหัสเพื่อส่งไปยังระบบบริการชำระเงินหรือร้านค้าออนไลน์ ที่จะถอดรหัสชุดข้อมูลนั้นเพื่อยืนยันการชำระเงิน แทนการใช้ข้อมูลที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง Personal Account Number (PAN) ของบัตรเครดิต 

    ระบบนี้ช่วยลดความ เสี่ยงในการชำระเงินออนไลน์ลงได้มากเนื่องจาก token แต่ละชุดจะใช้ได้เพียงครั้งเดียวก่อนหมดอายุ และมิจฉาชีพไม่สามารถโจรกรรมข้อมูลได้ ดังนั้น ความปลอดภัยที่เหนือกว่าประกอบกับฐานลูกค้าของ Apple ที่มีอยู่ทั่วโลก ทำให้ระบบนี้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดการชำระเงิน ดังเช่นการออกบริการ Samsung Pay เป็นต้น

    ขณะที่อีกฟากหนึ่ง คือ Google Wallet นั้น ถึงแม้ว่าจะเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2011 แต่ยังให้บริการอยู่เพียงในสหรัฐฯ เท่านั้น ระบบนี้ใช้เทคโนโลยี Host-Card Emulation (HCE) ซึ่งจะเก็บข้อมูลบัตรเครดิตของผู้ใช้บริการไว้ใน Google Cloud และการชำระเงินทุกครั้งจะกระทำผ่าน Google Cloud นอกจากนี้ยังสามารถทำงานผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือของร้านค้าหรือธนาคารต่างๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ SIM card เพราะระบบ Google Wallet สามารถเชื่อมต่อกับระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ได้โดยตรงผ่าน NFC in-card emulation mode 

    โดยข้อดีของระบบนี้ คือมีการให้ข้อมูลส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชำระเงินโดยตรง (non-payment information) เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าได้  แต่ข้อเสียคือ มีความเสี่ยงต่อการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวสูงกว่าระบบ Tokenization ของ Apple Pay ดังนั้นหลังการเปิดตัวของ Apple Pay นั้น Google ได้ตอบโต้ด้วยบริการ Android Pay ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยี Tokenization มาใช้เสริมความปลอดภัยให้กับการชำระเงินระบบ HCE ทำให้ระบบนี้นอกจากจะมีข้อได้เปรียบด้านข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์แล้ว ยังมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย

    พัฒนาการของระบบชำระเงินจัดว่ายังอยู่ในขั้นเริ่มแรก มีผู้ให้บริการหน้าใหม่ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ระบบ Tokenization นับได้ว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นมาตรฐานหลักด้านความปลอดภัยของการชำระเงินในอนาคต ในยุคที่นวัตกรรมการชำระเงินใหม่ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น ระบบ Tokenization จะสามารถเข้ามาช่วยปิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลของระบบ EMV และ HCE และมีศักยภาพในการเป็นมาตรฐานใหม่ของระบบชำระเงินทั่วโลก 

    ความพยายามของ Visa และ MasterCard ที่จะผลักดันให้ระบบ HCE สามารถใช้งานบนโทรศัพท์มือถือได้นั้น ถือเป็นโอกาสดีที่จะทำให้โทรศัพท์มือถือที่รองรับระบบ NFC อยู่แล้วสามารถรองรับระบบ HCE ได้เพียงผ่านการอัพเกรดแอปพลิเคชั่น การที่โทรศัพท์มือถือสามารถใช้งานระบบ HCE ผนวกกับระบบ Tokenization ได้ (ซึ่งทำได้แล้วในกรณีของ Android Pay) จะพลิกโฉมของธุรกิจการชำระเงิน เพราะโทรศัพท์ที่ส่งขายทั่วโลกในครึ่งหลังของปี 2014 สูงถึง 84.7% ใช้ระบบ Android OS ซึ่งจากการศึกษาของ IDC เผยว่าโทรศัพท์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีเทคโนโลยี NFC ติดตั้งมาแล้วด้วย 

    ความสำเร็จของนวัตกรรมการชำระเงินขึ้นอยู่กับการยอมรับในวงกว้างจากผู้บริโภคและร้านค้า ลูกค้าจะตัดสินใจใช้ระบบชำระเงินใหม่ๆ ก็ต่อเมื่อสามารถมั่นใจได้ว่าร้านค้าส่วนใหญ่รองรับระบบนั้น และเช่นเดียวกันร้านค้าเองย่อมเลือกลงทุนติดตั้งระบบใหม่หากมั่นใจว่ามีลูกค้าใช้ระบบนั้นมากเพียงพอ เพราะการเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่อาจมีต้นทุนสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ 

    ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ให้บริการระบบชำระเงินต้องเร่งสร้างการยอมรับทั้งในกลุ่มลูกค้าและร้านค้า และหากบริการใดมีทั้งความสะดวกสบายและความปลอดภัยควบคู่กันย่อมจะประสบความสำเร็จได้มากกว่า เมื่อใดที่ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของระบบร้านค้าก็จะสามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น จึงนับได้ว่าระบบชำระเงินที่มีมาตรฐานนั้นจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

    รูปแบบของบริการใหม่ๆ ที่เราจะได้เห็นในอนาคตนั้น จะเกิดจากการนำเทคโนโลยีในหลายๆ ด้านมาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ร้านค้าและธนาคารอาจนำระบบ Tokenization มาใช้ชำระเงินภายในร้านแบบ contactless และติดตั้งระบบ HCE เพื่อให้สามารถใช้งานกับเครื่องมือ NFC ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ

 %

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน