ซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง เทรนด์การชำระเงินบนโลกออนไลน์ ที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น




          ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง (Buy Now, Pay Later : BNPL) กำลังเป็นเทรนด์การจับจ่ายซื้อของบนโลกออนไลน์ เพราะคนที่ไม่มีบัตรเครดิตก็สามารถซื้อหรือผ่อนชำระได้เหมือนกัน และแม้แต่คนที่ถือบัตรเครดิตอยู่แล้วก็กำลังหันมาชำระเงินด้วยวิธีนี้


          ความนิยม BNPL ค่อยๆ เติบโตขึ้นแต่มาก้าวกระโดดในช่วงโควิด-19 นี่เอง ด้วย 3 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

      
           1. คนหันมาช็อปออนไลน์มากขึ้น


           2. การเงินที่ไม่คล่องตัวในยุคปัจจุบัน หลายคนยั้งใจมากขึ้นในการจะจ่ายเงินซื้อของแต่ละที แต่ว่า BNPL เข้ามาแก้ปัญหาตรงนั้นได้ เพราะแทนที่จะต้องจ่ายเงินทันทีผู้ซื้อสามารถเลื่อนการชำระเงินไปวันหลังได้ โดยตัวเลือกยอดนิยมจะจ่ายใน 30 วัน หรือแบ่งง่ายเป็นงวดๆ โดยที่ปลอดดอกเบี้ย แม้ว่าหลายแพลตฟอร์มจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจ่ายล่าช้าก็ตาม


           การแบ่งจ่ายได้ทำให้รู้สึกว่าแม้จะเป็นสินค้าชิ้นใหญ่อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่สินค้าแบรนด์เนมก็ดูมีราคาไม่แพง ทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น และถึงเงินไม่พอในตอนนี้ก็ยังซื้อได้อยู่ดี


            ที่สำคัญคือ 3. ผู้ใช้บริการ BNPL ไม่ต้องมีการตรวจสอบเครดิต ไม่มีการขอหลักประกันเหมือนกับการขอสินเชื่อ ทลายข้อจำกัดทางการเงินของผู้บริโภคไปอีกขั้น





FinTech ที่ครองใจเหล่า Millennials และ Gen Z

               

             Buy Now, Pay Later เป็น FinTech ที่เปิดตัวครั้งแรกโดย Afterpay ในปี 2558 ในตอนนั้นกำหนดให้มีการแบ่งชำระเงินเป็น 4 งวดโดยไม่มีดอกเบี้ยหรือการตรวจสอบเครดิตขั้นต่ำ และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Afterpay ได้ให้บริการทั่วออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ หลังจากนั้นก็มีบริการเดียวกันจาก Klarna ขึ้นในยุโรป และ Affirm เกิดขึ้นในสหรัฐฯ จนถึงตอนนี้ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดการชำระเงินอย่าง PayPal, Square ก็มีบริการ BNPL หรือแม้แต่บริษัท Mastercard ยังเปิดตัว Mastercard Installments แพลตฟอร์มที่อนุญาตให้ธนาคารหรือผู้ให้สินเชื่อต่างๆ สามารถเสนอ BNPL ให้กับลูกค้าได้


            บริการนี้ไม่ได้มีแค่ในแพลตฟอร์มการซื้อขายในต่างประเทศเท่านั้น เพราะเทรนด์นี้ได้รุกคืบเข้ามาในประเทศไทยแล้ว  โดยแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสอย่าง Shoppee ที่เพิ่งเปิดตัว SPayLater ในช่วงกลางปี 2564 นี้เอง หรือมาร์เก็ตเพลสน้องใหม่อย่าง LerdBuy ที่กำลังทำการตลาดอย่างหนักโดยชู BNPL เป็นจุดขาย





              และแน่นอนว่าผู้บริโภคที่ตอบรับบริการนี้มากที่สุดก็คือกลุ่มที่เคยชินกับการช็อปออนไลน์อย่าง Millennials และ Gen Z นับย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2561 เลยทีเดียวที่ผู้ใช้บริการ BNPL หลักๆ เป็นกลุ่ม Millennials หรือ Gen Z มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ แต่คาดว่าสัดส่วนนี้จะลดลงเหลือ 73.2 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เพราะคนวัยอื่นก็เริ่มหันมาใช้บริการนี้เช่นเดียวกัน


             ถึงอย่างนั้นกลุ่ม Millennials จะยังคงเป็นฐานผู้ใช้ส่วนใหญ่ไปจนถึงปี 2568 มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วน Gen Z จะกินส่วนแบ่งมากขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2565 นักช็อปออนไลน์ที่เป็น Gen Z จะใช้บริการ BNPL อย่างน้อย 1 ครั้ง


              โดยที่สินค้ายอดนิยมที่ผู้บริโภคซื้อโดยใช้บริการ BNPL ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าและแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ รวมไปถึงสินเค้าเพื่อความบันเทิงดิจิทัลอื่นๆ อย่าง ภาพยนตร์ เกม หรือเพลง และในอีกไม่นานเราจะเห็นบริการชำระเงิน BNPL ในธุรกิจท่องเที่ยว และแม้กระทั่งการดูแลสุขภาพด้วย



 

ผลกระทบต่อผู้ขาย

               

            แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว แพลตฟอร์มที่ให้บริการ BNPL จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ค้าสูงถึง 8-10 เปอร์เซ็นต์ต่อการสั่งซื้อ ซึ่งมากกว่าที่บริษัทบัตรเครดิตเก็บเสียอีก แต่เมื่อลองคำนวณดูแล้วอาจมีประโยชน์หลายประการที่นับว่าคุ้มค่า นั่นก็คือ
               

          ได้รับเงินทันทีเหมือนลูกค้าจ่ายเงินสด : เมื่อลูกค้าใช้บริการ BNPL แพลตฟอร์มจะเป็นคนจ่ายเงินค่าสินค้าเต็มจำนวนให้กับร้านค้า และรับภาระในการติดตามการชำระเงินหรือการผ่อนชำระจากลูกค้าเอง
               

            มีโอกาสในการขายมากขึ้น : หากลูกค้าต้องจ่ายเป็นเงินสดก้อนใหญ่หรือใช้บัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยสูง หลายคนเลือกที่จะตัดใจไม่ซื้อสินค้าราคาแพงๆ ไปเลยก็ได้ แต่ BNPL จะช่วยให้ลูกค้าไม่ตัดสินใจแบบนั้นเพราะภาระที่ต้องจ่ายนั้นเบาลงจนจ่ายได้ หรือบางครั้งลูกค้ายังไม่แน่ใจว่าจะซื้อสินค้านั้นเป็นครั้งแรกดีหรือไม่ ถ้าได้ของมาลองก่อนที่จะต้องจริงก็ช่วยให้ตัดสินใจซื้อมาลองได้ง่ายขึ้น



               

           ขยายฐานลูกค้า : ร้านค้าสามารถดึงดูดลูกค้าที่อาจจะไม่คิดซื้อสินค้าของแบรนด์มาก่อนอาจจะเพราะสินค้ามีราคาสูง เมื่อร้านค้าเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการ BNPL ทำให้สามารถเข้าถึงผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าใหม่ได้อีกจำนวนมาก
               

          ผู้ซื้อซ้ำมากขึ้น : จากข้อมูลของ McKinsey พบว่านักช็อปที่มีประสบการณ์ใช้บริการ BNPL 15-20 ครั้งต่อปี จะเข้าแอปพลิเคชันเพื่อเลือกดูสินค้า 10-15 ครั้งต่อเดือน และมีข้อมูลว่าร้านค้าที่มีบริการ BNPL จะมีอัตราการซื้อซ้ำที่ 20 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
               

            ลูกค้าซื้อสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น : เพราะ BNPL เน้นไปที่การแบ่งชำระตั้งแต่ 2 เดือนไปจนถึง 1 ปี ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าราคาสูงได้ง่าย บริการนี้ได้รับความนิยมสูงสุดในสินค้าที่มีราคาสูงถึง 250 ดอลลาร์ และถ้าหากลูกค้าใช้บริการ BNPL แล้วชำระเงินตามกำหนด แพลตฟอร์มก็จะเพิ่มวงเงินใช้จ่ายให้ในอนาคต
 
 

         ที่มา : https://www.mytotalretail.com/article/what-the-buy-now-pay-later-trend-means-for-retail-and-returns/
                   https://www.scalefast.com/blog/buy-now-pay-later/
                   https://www.mastercard.com/news/perspectives/2021/buy-now-pay-later-mastercard-installments/
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน