เรื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ผ่านไปแล้วกับไตรมาสแรกของปี 2558 ดูเหมือนว่าธุรกิจสิ่งทอยังเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่อยู่ในช่วงชะลอ และเพื่อความอยู่รอดในธุรกิจสิ่งทอในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมองเทรนด์ความต้องการที่เกิดขึ้น
โดยในขณะนี้เทรนด์การบริโภคในตลาดโลกที่น่าจับตา และผู้ประกอบการสิ่งทอไทยมีความสามารถเพียงพอที่จะปรับกลยุทธ์การผลิตสินค้าเพื่อรับกับกระแสดังกล่าว ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภท ดังต่อไปนี้
สิ่งทอที่ใช้เป็นวัตถุดิบในสายการผลิตธุรกิจต่อเนื่อง อย่าง “ธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม” รองลงมาคือ ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว
โดยมีตลาดปลายทางที่สำคัญคือ กลุ่มประเทศผู้ผลิตในอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดสิ่งทอสำคัญที่สุดของไทย มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของการส่งออกสิ่งทอของไทยทั้งหมดไปยังตลาดโลก
ทั้งนี้ ผู้บริโภคในอาเซียนมีกำลังซื้อสูงขึ้น อีกทั้งยังมีรสนิยมใกล้เคียงกับไทย มีความต้องการสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ดีไซน์ทันสมัย หากผู้ประกอบการสิ่งทอไทยจะเจาะตลาดกลุ่มนี้ นอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าในท้องถิ่น ยังสามารถเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติได้อีกด้วย โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวและลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ อีกหนึ่งตลาดที่น่าเข้าไปแสวงหาโอกาสสำหรับสินค้าประเภทนี้ก็คือ กลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลาง เนื่องจากการผลิตในประเทศมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนแรงงานในประเทศ ทำให้ค่าจ้างในธุรกิจสิ่งทออยู่ในระดับสูง สินค้าที่ผลิตได้ในประเทศจึงมีราคาแพงหากเทียบกับสินค้าสิ่งทอที่นำเข้ามา ทำให้สินค้าประเภทสิ่งทอก็ยังเป็นที่ต้องการ
สิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Textile) ที่ผลิตจากเส้นใยหรือสีย้อมจากธรรมชาติ หรือใช้การผลิตแบบออร์แกนิค 100% ที่ไร้สารเคมีตกค้าง ซึ่งสามารถทำตลาดได้ดีในตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป เพราะสังคมผู้บริโภคโลกตะวันตกกำลังอยู่ในยุค Go Green หรือกำลังอยู่ในเทรนด์ของการรักษ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม
และหากพิจารณาถึงโอกาสของผู้ประกอบการสิ่งทอไทยในตลาดนี้ อาจจะต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้า Niche Market อย่างเช่น กลุ่มผู้สูงอายุหรือเด็ก เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าราคา
รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สิ่งทอไลฟ์สไตล์ที่เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เปิดรับนวัตกรรมของสินค้าเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต เช่น สิ่งทอนาโนที่สามารถซัก รีดง่าย ไม่ยับ กันน้ำ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เทคนิคสำหรับการเข้าสู่ตลาดนี้ที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญอย่างมากก็คือ สินค้าจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานสากลทางด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อาทิ EU Flower, REACH, Carbon Footprint ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและมีโอกาสสูงในการเจาะตลาดผู้บริโภค
สิ่งทอเทคนิค (Technical Textile) เป็นสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ/ ประโยชน์ทางด้านเทคนิคมากกว่าความสวยงาม อาทิ ด้านสุขภาพ/การแพทย์ (ผ้าพันแผล/ด้ายเย็บแผล) สิ่งแวดล้อม/การเกษตร (ผ้าคลุมดิน) การกีฬา (ร่มชูชีพ/ผ้ารองเท้ากีฬา) ยานยนต์ (พรม ผ้าหุ้มเบาะ เข็มขัดนิรภัย) เป็นต้น ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้สามารถทำกำไรให้ผู้ประกอบการในระดับสูง เนื่องจากอรรถประโยชน์ในการใช้งานมีมากกว่าสิ่งทอที่วางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด
ทั้งนี้ สำหรับสิ่งทอเทคนิคของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ได้แก่ 1) สิ่งทอเทคนิคที่ใช้ในอุตสาหกรรมประเภทยานยนต์ เพราะปัจจุบันผู้ผลิตยานยนต์เริ่มหันมาใช้สิ่งทอเป็นส่วนประกอบในยานยนต์มากขึ้นเป็นลำดับ
2) สิ่งทอเทคนิคทางการกีฬาและนันทนาการ อาทิ ประเภทเสื้อผ้ากีฬาที่มีคุณสมบัติในการดูดซับเหงื่อ ระบายอากาศ หรือเพิ่มสมรรถภาพขณะที่สวมใส่เล่นกีฬา โดยกลุ่มประเทศที่มีความต้องการสูง
ผลิตภัณฑ์สำหรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ด้วยปัจจุบันจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งประชากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการสินค้าที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจ คุณประโยชน์มากกว่าราคา
โดยสินค้าสิ่งทอที่เป็นที่ต้องการของคนกลุ่มนี้ ได้แก่ สิ่งทอประเภทไลฟ์สไตล์ (เครื่องแต่งกาย/ ของตกแต่งบ้าน) สินค้าสิ่งทอประเภท Fashion with Function ที่สามารถสวมใส่ง่าย ดูมีรสนิยม อาทิ ผ้าพันคอ หรือผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำหรับผู้สูงวัยที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น อุปกรณ์พันเข่าที่ทำจากผ้าเพื่อให้สามารถเดินได้สะดวก เป็นต้น