2 ขั้วต่าง! กทม - ตจว พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างไรในยุคโควิด

TEXT : กองบรรณาธิการ


 
          เรียกว่าปรับตัวอยู่ร่วมกันมายาวนาวกับวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 ที่ในแต่ละช่วงระยะเวลาก็มักจะส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่แตกต่างกันออกไป ล่าสุดจากการระบาดต่อเนื่องระลอก 3 และ 4 ที่ในวันนี้ก็ยังแทบจะมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ โควิดได้เข้ามาส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคให้เปลี่ยนไปอีกครั้ง จนเกิด 2 ขั้วความต่างระหว่างผู้บริโภคกรุงเทพฯ - ปริมณฑล


          และพฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างจังหวัดอย่างเห็นได้ชัด จะเป็นอย่างไรนั้นลองไปติดตามกันเลย 





กรุงเทพฯ – ปริมณฑล กักตัวอยู่บ้าน เน้นช้อปสิ่งอำนวยความสะดวก

 
               
        จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) พบ 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่คนไทยโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลใช้จ่ายมากที่สุด ได้แก่
 
 
•              อาหาร 25 เปอร์เซ็นต์

 
•              ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน 17 เปอร์เซ็นต์

 
•              โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน 11 เปอร์เซ็นต์

 
•              อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต 6 เปอร์เซ็นต์

 
•              เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 5 เปอร์เซ็นต์




 
         โดยจะพบว่าแม้อาหารอาจเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงสุด แต่หากมองภาพรวมของทั้ง 5 อันดับ พบว่ากลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ก็คือ สินค้าที่เน้นอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตในบ้านเป็นหลัก ซึ่งมีอยู่มากถึง 3 อันดับด้วยกัน


       หากจำแนกเป็นช่วงอายุสำหรับวัย 20-39 ปี พบว่ามีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่รองรับในช่วง Work from home เช่น ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์มากขึ้น ขณะที่ช่วงอายุ 50-59 ปี มีความต้องการสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เพื่อความสะดวกสบายและมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในเรื่องสุขภาพและความงาม


       เนื่องจากผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้มที่มีการระบาดค่อนข้างสูง ต้องกักตัวอยู่บ้าน และ Work From Home อยู่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและการพัฒนาทักษะเพื่อสร้างรายได้





ต่างจังหวัด คนแห่กลับภูมิลำเนา ยอดสินค้าปรับปรุงบ้านพุ่งสูง

 
               
         ในขณะที่ต่างจังหวัดเอง พฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคนั้นแตกต่างออกไปจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างเห็นได้ชัด โดยสถาบันวิจัยฮาคูโฮโดได้ทำการศึกษาแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายของพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยเพิ่มเติมตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายนและสิงหาคม พบว่าในภูมิภาคต่างๆ นั้นล้วนมีอัตราความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น


         ตั้งแต่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มขึ้น +1, ภาคตะวันออก +4, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ +6, ภาคเหนือ +4, ภาคใต้ +2 มีเพียงภาคกลางที่เท่านั้นที่ลดลง -1





       จากภาพรวมจะเห็นได้ว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดเองนั้น มีแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายสูงมากกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งพบว่าผู้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกอยากออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารนอกบ้าน กิจกรรมกลางแจ้ง รวมไปถึงการท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ไม่ตึงเครียดเท่ากับในพื้นที่ส่วนกลางของประเทศ


        โดยมีจุดสังเกตอีกอย่างที่น่าสนใจ คือ จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าภาคที่มีคะแนนแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายสูงมากเป็นอันดับ 1 ก็คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาเหตุที่เป็นอย่างนั้น เนื่องจากมีแรงงานบางส่วนได้ย้ายถิ่นฐานกลับไปอาศัยอยู่ยังบ้านเกิดของตนอย่างถาวรมากขึ้น เนื่องจากการระบาดที่ยืดเยื้อกินเวลานาน ต้องเจอกับคำสั่งล็อกดาวน์ ไม่มีงานให้ทำ หลายคนต้องโดนออกจากงาน จึงทำให้มีความต้องการในการซื้อสินค้าเกี่ยวกับที่พักอาศัย การต่อเติมหรือตกแต่งบ้านเพิ่มสูงขึ้นกว่าภูมิภาคอื่นๆ

 


          ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของจ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้ออกมาประเมินภาพรวมการจ้างงานไทยในช่วงครึ่งปีหลังว่าอาจแย่กว่าปีที่ผ่านมา โดยการระบาดของโควิดระลอก 4 ทำประกาศรับงานหายไปเกือบครึ่งจากระบบ


          หากย้อนดูจำนวนประกาศงานออนไลน์ในประเทศไทย (รวม Marketplace และ Aggregator) ที่ได้ผลกระทบจาก COVID-19 ในแต่ละระลอกจะพบว่า


      ระลอก 1 ลดลง -35.6 เปอร์เซ็นต์


       ระลอก 2 ลดลง -45.5 เปอร์เซ็นต์


       ระลอก 3 ลดลง -12.5 เปอร์เซ็นต์


       ระลอก 4 ลดลง -48.3 เปอร์เซ็นต์


         โดยหากเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวตามมา คือ การขาดแคลนแรงงานเข้ามาทำงานในระบบเมื่อสถานการณ์กลับมาดีขึ้น เหมือนกับปรากฏการณ์ “Turnover Tsunami” คลื่นยักษ์สึนามิที่เข้ามากวาดต้อนผู้คนออกไปจากระบบอย่างที่หลายประเทศกำลังกังวลอยู่นั่นเอง





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน