สถานการณ์การระบาดสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ ตั้งแต่ร้านอาหาร ท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจบริการ ธุรกิจบันเทิง ไปจนถึงร้านค้าปลีก บางธุรกิจถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนไปใช้การตลาดออนไลน์ที่ไม่คุ้นเคย ร้านอาหารถูกบังคับให้พึ่งพาเดลิเวอรี่เพียงอย่างเดียว แต่อย่าเอาแต่โฟกัสไปที่ผลกระทบด้านลบที่โควิด-19 มีต่อธุรกิจ เรามาเรียนรู้บทเรียนที่แบรนด์ต่างๆ สามารถเรียนรู้ได้จากวิกฤตครั้งนี้กัน โดยเฉพาะเรื่องอี-คอมเมิร์ซ เพราะมันแทบจะเป็นช่องทางหลักของหลายๆ ธุรกิจไปแล้วนี่นา
และนี่คือ 5 เรื่องที่แบรนด์สามารถเรียนรู้ได้จากการที่ต้องเอาชีวิตรอดในยุคโควิด
- ผู้บริโภคยินดีจ่ายเสมอ
Best Buy รายงานว่ายอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นมากกว่า 240 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ หลายคนตุนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ให้ตัวเองและครอบครัวใช้ขณะที่ต้องอยู่บ้านเพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้เองว่า “สถานการณ์ปกติ” จะกลับมาเมื่อไหร่
แม้จะมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับงาน รายได้ ไปจนถึงเศรษฐกิจ ผู้บริโภคก็ยังคงใช้จ่ายเงิน แม้จะกันเงินส่วนหนึ่งเอาไว้เผื่อสำรอง แต่ผู้บริโภคก็มีแนวโน้มที่จะจับจ่ายเมื่อต้องเผชิญกับความเบื่อหน่าย และความซ้ำซากจำเจในระหว่างที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน ผู้บริโภคจำนวนมากจึงหันมาซื้อของออนไลน์เป็นความบันเทิงให้กับชีวิต
- การค้าออนไลน์เปลี่ยนไปมาก
แม้ว่าหลายประเทศหรือแม้แต่บางจังหวัดในประเทศไทยก็ตามได้เริ่มกลับมาเปิดร้านขายของกันตามปกติ แต่จากที่เคยสัมผัสความสะดวกสบายในการช้อปปิงออนไลน์แล้วได้รับสินค้าภายในไม่กี่วัน บางครั้งได้รับสินค้าภายในวันที่สั่งเลยด้วยซ้ำ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากยังคงติดอกติดใจกับการซื้อของออนไลน์ต่อไป
ดังนั้นแล้ว แบรนด์อี-คอมเมิร์ซไม่ควรกลัวการกลับมาของร้านค้าปลีกทั่วไป แล้วเน้นไปที่การดูแลลูกค้า คิดหาวิธีที่จะมอบคุณค่าให้ลูกค้าประทับใจมากยิ่งขึ้น เช่น การเก็บข้อมูลลูกค้าแต่ละรายแล้วนำมาพัฒนาให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อซ้ำได้สะดวกขึ้น ยิ่งพวกเขาใช้ระยะเวลาในการทำรายการน้อยเท่าไร ยิ่งยอมจ่ายง่ายขึ้นเท่านั้น
- โซเชียลมีเดียสามารถเปิดตัวแบรนด์ได้ในชั่วข้ามคืน
สิ่งน่าสนใจที่สังเกตได้ก็คือมีธุรกิจที่ดำเนินการเพียงคนเดียวเกิดขึ้นมากมายและเฟื่องฟูขึ้นด้วยโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน ไปจนถึงงานศิลปะและงานฝีมือ โดยที่แบรนด์เหล่านั้นประสบความสำเร็จขึ้นมาได้โดยที่ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการใช้ TikTok หรือ Instagram
สิ่งที่เราเห็นนั้นพิสูจน์ได้ว่าแบรนด์ไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างเว็บไซต์ ไม่จำเป็นต้องจ้างนักมาร์เก็ตติง หรือไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณาบน Facebook ด้วยซ้ำ เมื่อมีผลิตภัณฑ์ที่โดนใจกับวิธีการนำเสนอสุดครีเอท ลูกค้าก็เต็มใจจ่าย บอกต่อ และสนับสนุนความพยายามของแบรนด์อย่างเต็มที่
แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ลงทุนสร้างหน้าเว็บไซต์อย่างดี และยอมจ่ายเงินค่าโฆษณาจะทำไม่ถูก เพราะนั่นก็เป็นการลงทุนอย่างชาญฉลาดโดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างแบรนด์ในระยะยาวได้เช่นกัน
- ผู้บริโภคชื่นชอบแบรนด์แบบ D2C (Direct to Customers) และรักการเป็นส่วนหนึ่งในคอมมูนิตี้แบรนด์
ผู้บริโภคยอมจ่ายให้กับแบรนด์ที่ขายสินค้าแบบปลีกผ่านช่องทางการขายเฉพาะของแบรนด์เอง อาจจะเป็น Line หรือแอคเคาท์ออฟฟิซเชียลของแบรนด์ โดยไม่ผ่านตัวแทน ไม่ผ่านคนกลาง เพราะผู้บริโภคจได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับแบรนด์มากขึ้น เพราะสร้างความมั่นใจในสินค้าได้มากกว่า
แบรนด์ที่สร้างสรค์ชุมชนได้สำเร็จจะกระตุ้นให้ลูกค้าแชร์บนโซเชียลมีเดียโดยใช้แฮชแท็กที่กำหนด หรือแชร์สินค้าหรือบริการของแบรนด์ลงบนโซเชียลมีเดียของพวกเขา อาจจะเป็นรีวิวร้าน รีวิวสินค้าโดยที่แบรนด์ไม่ต้องจ่าย และแน่นอนว่าวิธีนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าการโฆษณาแบบดั้งเดิมมากทีเดียว
- อย่ากลัวที่จะปรับตัวเพื่อปลดล็อกโอกาสให้กับธุรกิจ
การระบาดของโควิดทำให้หลายแบรนด์ต้องพลิกผัน ผู้ผลิตเสื้อผ้าบางรายเปลี่ยนไปทำหน้ากากอนามัย โรงแรมบางแห่งเปลี่ยนไปเป็นร้านอาหาร ซึ่งมันกลายเป็นว่าธุรกิจยังไปต่อได้แถมยังเติบโตด้วย ขณะเดียวกันธุรกิจจำนวนมากที่ปิดใจไม่ปรับตัว ก็ต้องเลิกกิจการ เลิกจ้างพนักงานไป
ธุรกิจจึงต้องมองหาและเปิดรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีอะไรผิดหรือจะเปลี่ยนทิศทางไปจากเดิม ซึ่งอาจนำไปสู่ความสำเร็จหรือผลกำไรเพิ่มเติม ถ้าหากเอาแต่ทำแบบเดิมในวันที่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว นั่นก็เท่ากับปิดประตูแห่งโอกาสไปแล้ว
เรียบเรียงจาก : www.entrepreneur.com
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี