เปิดยุทธวิธีส่ง SME บุกตลาดโลก พึ่งพาซัพพลายเชนของธุรกิจใหญ่ Go Global ไปพร้อมกับเจ้าสัว

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย
 

              


       ในบรรดาผู้ประกอบการ SME ไทยที่ขึ้นทะเบียนนิติบุคคลประมาณ 3.1 ล้านราย และไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกประมาณ 2.7 ล้านราย ส่วนใหญ่แข่งขันกันภายในประเทศ ทำการตลาดกับคน 70 ล้านคน เมื่อตลาดเล็กการเพิ่มยอดขายค่อนข้างยาก ซึ่งผลลัพธ์ก็คือธุรกิจไม่สามารถสร้างรายได้มากมายอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ นั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ว่าทำไมใน 10 ปีที่ผ่านมา GDP ของไทยเติบโตค่อนข้างน้อย


         ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (​EXIM BANK) บอกว่า สิ่งที่ SME ต้องทำคือออกจากฝั่งไปเจอกับตลาดภายนอก การที่เราจะมีตลาดที่แข็งแรง ตอบโจทย์การผลิตหรือการให้บริการในธุรกิจได้นั้นคือตลาดต้องใหญ่ขึ้น มีพื้นที่ในการทำกำไรมากขึ้น SME ต้องผันตัวเองจากการเป็นผู้ประกอบการภายในประเทศ กลายมาเป็นผู้ประกอบการที่เรียกว่า Direct Exporter (ผู้ส่งออกใหม่)
               

        เมื่อมองตัวเลขย้อนหลังตลอด 10 ปีหลังไทยมีจำนวนผู้ส่งออกเพียง 30,000 รายหรือประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ประกอบการในระบบเท่านั้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีผู้ประกอบการส่งออกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์


           การเป็นผู้ประกอบการตัวเล็กๆ อาจจะทำให้ไม่กล้าพอที่จะออกไปเสี่ยงในน่านน้ำที่เป็นทะเลลึกด้วยตัวเอง เพราะนั่นหมายถึง การเรียนรู้ตลาดใหม่ และการบริหารจัดการ และที่สำคัญคือเม็ดเงินการลงทุนที่มากขึ้น  หนึ่งในวิธีที่จะออกจากฝั่งโดยที่ไม่เสี่ยงเกินไป นั่นก็คือ โมเดลที่ SME เริ่มต้นจากการเข้าไปเชื่อมเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของผู้ประกอบการส่งออกรายใหญ่



 

ขึ้นเรือเจ้าสัวไปโตต่างแดน
               

           จากสถิติแล้ว ผู้ส่งออกระดับเจ้าสัว 1 รายสามารถพาผู้ประกอบการรายย่อยไปด้วยประมาณเกือบๆ 600 ราย และถ้าเป็นโครงการระดับเมกะโปรเจค เช่น ผู้ลงทุนในธุรกิจพลังงานในประเทศเพื่อนบ้านสามารถพาผู้ประกอบการรายเล็กพ่วงไปในซัพพลายเชนได้กว่า 1,000 ราย
               

          “นี่เป็นระบบการพึ่งพาและพึ่งพิงระหว่างซัพพลายเชนของคนตัวใหญ่ที่จะสามารถดูแลธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้ โดยที่ธุรกิจเล็กเริ่มต้นจากเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบ ผู้ผลิต หรือเป็น Service Provider ให้กับเชนของธุรกิจใหญ่ที่ส่งออกไปนอกประเทศทำให้สามารถเติบโตไปด้วยกัน วิธีนี้จะทำให้จากตัวเลขผู้ส่งออกเดิมที่มี 1 เปอร์เซ็นต์ หากรวม Indirect Exporter เข้าไปด้วยก็จะมี 100,000 ราย”



               

ข้อดีและโอกาสของการเป็นตัวต่อในซัพพลายเชน
               

          การดิ้นรนในต่างแดนโดยไม่มี Big Brother อยู่ข้างหลังอาจจะเอาตัวรอดได้ยากกว่า เมื่อมองในซัพพลายเชนของธุรกิจใหญ่ มักมีการวางระบบที่เชื่อมต่อกันทุกมิติระหว่างธุรกิจตั้งแต่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดเล็ก เป็นการสร้าง Transaction เห็นชัดเจนตั้งแต่การสั่งซื้อสินค้า ราคา การบริหารจัดการ ไปจนถึงโลจิสติกส์ เมื่อมาอยู่ด้วยกันจะทำให้แต่ละรายที่มีความถนัดของตนเอง สามารถผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่สอดคล้องกัน ทำให้แข่งขันได้
ซึ่งโมเดลนี้เองจะสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับ SME ที่จะเป็นผู้ส่งออกหน้าใหม่ได้หลายมิติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
 
  1. มีโอกาสเพิ่มยอดขาย ด้วยออเดอร์ของรายใหญ่ที่มีมาต่อเนื่องทุกเดือน รายย่อยสามารถคาดการณ์และพยากรณ์แนวโน้มยอดขายได้ค่อนข้างชัดเจน
 
  1. สามารถวางแผนการผลิตและสต็อคสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดค่าวัตถุดิบและต้นทุนในการผลิตได้มากขึ้น
 
  1. ลดต้นทุนในการเรียนรู้ตลาดใหม่และการกระจายสินค้า เพราะรายใหญ่เป็นผู้ทำการตลาดให้อยู่แล้ว เมื่อรายเล็กผลิตสินค้าส่งให้รายใหญ่ได้มากขึ้น นั่นก็เท่ากับมีโอกาสขายได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
 
  1. คลายกังวลเรื่องเงินทุน เงินลงทุนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ ซึ่งเมื่อมี Transaction ที่ชัดเจน นั่นหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินนั่นเอง จนสามารถลงทุนในเครื่องจักรใหม่ๆ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติมได้



 
 
พี่ใหญ่ที่กลายเป็นหลักประกันเงินทุน
               
               
         ในบรรดาข้อดีของการเป็นคนตัวเล็กในซัพพลายเชน ก็คือ “เงินทุน” ที่ทำให้ผู้ประกอบการกล้าที่จะเติบโต ปกติแล้วเมื่อ SME เดินเข้าสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อมักได้รับอนุมัติยากและเจอกับดอกเบี้ยที่สูงถึง 8-12เปอร์เซ็นต์ แต่ในวันนี้เราได้เห็นสถาบันการเงินของรัฐอย่าง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กำลังเอื้อประโยชน์ให้กับซัพพลายเชนของผู้ส่งออก
               

        ดร.รักษ์ บอกว่า “สถาบันการเงินมักขี้กลัว ขี้ระแวง คิดมาก และจุกจิก เรามักอิงค่าความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อ SME ที่ค่อนข้างสูง เวลาที่ SME ขอวงเงิน 5 ล้านมักได้ 2 ล้าน ดอกเบี้ยที่ธุรกิจใหญ่ได้ 5-7 เปอร์เซ็นต์ SME จะได้ 8 เปอร์เซ็นต์เพราะว่าต้องบวกค่าความเสี่ยงเข้าไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ SME ไทยมักไม่เข้าใจ แต่วันนี้ธนาคารได้ทำ Supply Chain Financing Program ที่สามารถลบล้างความกลัว ความจุกจิกเหล่านั้นไปได้”
               

         ธนาคารได้ใช้โพรไฟล์ของธุรกิจใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการ SME ในซัพพลายเชนได้ดอกเบี้ยเท่ากับที่รายใหญ่ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ได้รับ รวมถึงวางวงเงินไว้ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายต่อปี ซึ่งตัวเลขพวกนี้เห็นได้จากข้อมูล Transaction ระหว่างซัพพลายเชน
               

         ในวันนี้ SME ที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของผู้ส่งออกรายใหญ่ จึงสามารถจับมือพี่ใหญ่มาขอสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษกับธนาคารได้นั่นเอง
 
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน