มีงานวิจัยการตลาดออกมารองรับมากมายว่าตั้งแต่ที่เริ่มมีสมาร์ทโฟนใช้กันติดตามตัวเหมือนอวัยวะที่ 33 นั้น ผู้บริโภคยุคปัจจุบันต่างชื่นชอบการดูวิดีโอมากยิ่งขึ้น จึงทำให้นักการตลาดและเจ้าของธุรกิจต่างหันมาให้ความสำคัญกับการทำวิดีโอ เพื่อเรียกความสนใจและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วองค์ประกอบสำคัญของวิดีโอ ก็คือ เสียงและภาพที่คมชัด แต่รู้ไหมว่าในปัจจุบันนี้จริงๆ แล้วผู้บริโภคเขาไม่จำเป็นต้องฟังเสียงวิดีโอก็ได้! ใช้แค่การอ่านซับแทน หรือวิดีโอบางตัวมีแค่ภาพ เสียงประกอบ ไม่ต้องมีคำพูด ก็สามารถดูรู้เรื่องได้เช่นกัน เหมือนเช่น 2 เทรนด์วิดีโอมาแรงที่เรากำลังจะนำเสนอต่อไปนี้
อ่านแต่ซับ ไม่เปิดเสียง
- 75 % ชอบดูแบบปิดเสียงมากขึ้น
มีงานวิจัยกล่าวเอาไว้ว่าผู้บริโภคยุคปัจจุบันนี้แม้จะชื่นชอบการดูวิดีโอก็จริงอยู่ แต่รู้ไหมกว่าร้อยละ 75 เปอร์เซ็นต์ของการเปิดดูวิดีโอนั้นกลับดูกันแบบปิดเสียง และหันมาอ่าน Subtitle หรือคำบรรยายภาพ บรรยายเสียงพูดแทน เหตุผลส่วนใหญ่นั้นเป็นเพราะรูปแบบไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจจะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สะดวกในการใช้เสียง เช่น บนรถโดยสาร อยู่ในที่ทำงาน เป็นต้น โดยในทั้งนี้อาจรวมไปถึงพฤติกรรมปิดเสียงโทรศัพท์ร่วมด้วย
โดยผลวิจัยดังกล่าวนี้นำมาจาก Sharethrough บริษัทวิจัยด้านโฆษณาแห่งหนึ่ง โดยได้ทำการแยกผลสำรวจออกมาในกลุ่มผู้บริโภคต่างๆ พบว่ากลุ่มผู้บริโภคที่เปิดดูคลิปวิดีโอแบบไม่เปิดเสียงมากที่สุด ก็คือ กลุ่มมิลเลนเนียน ซึ่งมีสูงถึงกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ตามมา คือ เจน X ซึ่งมีอยู่ราว 64 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าไม่ว่าช่วงวัยได้ก็มีความนิยมในการชมวิดีโอแบบไม่เปิดเสียงกันมากขึ้น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่การอ่านคำบรรยายดังกล่าวนี้ก็ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจเนื้อหาได้มากกว่าร้อยละ 56 เรียกว่าไม่ได้ลดคุณภาพการสื่อสารจากการรับฟังเสียงลงไปสักเท่าไหร่เลย
- เพราะฟีเจอร์เฟซบุ๊กเป็นเหตุ
ถามว่าความนิยมดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นมาเมื่อใด เท่าที่ได้ลองหาข้อมูลพบว่าตั้งแต่ที่เฟซบุ๊กเริ่มเปิดฟีเจอร์ Auto-Play Video เมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อให้วิดีโอสามารถเล่นได้โดยอัตโนมัติในขณะที่เรากำลังใช้นิ้วเลื่อนดูฟีดต่างๆ โดยวิดีโอดังกล่าวจะยังไม่มีเสียง เป็นเพียงภาพเคลื่อนไหวและซับไตเติ้ลให้ผู้ชมได้ดูเป็นตัวอย่าง หากสนใจจริงๆ ถึงจะทำการกดคลิกเข้าไป หลังจากจึงจะแสดงทั้งภาพและเสียงให้ได้รับชมไปพร้อมกัน นับจากนั้นมาอาจทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มชินกับการดูวิดีโอแบบไม่เปิดเสียงก็ได้ แค่ดูรูปและอ่านคำบรรยายแทนในสถานที่และเวลาที่ไม่สะดวก
จากข้อมูลงานวิจัยที่นำมาเล่าให้ฟังนี้ ไม่ได้หมายความว่าต่อไปผู้ผลิตวิดีโอ นักการตลาด หรือผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะต้องหันมาผลิตวิดีโอแบบไม่มีเสียงกันมากขึ้น เพียงแต่อาจต้องมีการพัฒนาคอนเทนต์ วิธีการเล่าเรื่อง และคำบรรยายให้ดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้นราวกับว่าแม้จะไม่ได้เปิดรับฟังเสียง แต่ก็สามารถสร้างความบันเทิง สนุก สาระที่น่าสนใจให้กับผู้ชมได้ไม่ต่างกันแม้ไม่ได้ฟังเสียงก็ตาม
ดูแบบเงียบๆ บรรยายไม่ต้อง
- เริ่มมาจากเกาหลี
อีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงสำหรับการดูวิดีโอแบบใหม่ของผู้บริโภค ก็คือ การดูวิดีโอแบบเงียบที่ไร้ซึ่งคำพูดมีแค่ภาพและเสียงประกอบเท่านั้น โดยเทรนด์ดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นมาจากประเทศเกาหลี ซึ่งปัจจุบันมีเหล่ายูทูบเบอร์จำนวนมากได้หันมาทำคลิปแบบไร้เสียงพูดหรือที่เรียกว่า “Silent YouTuber” กันมากขึ้น
ที่มาของเทรนด์ดังกล่าวนั้นอาจเริ่มมาจากทัศนคติที่แตกต่างออกไปของตัวเหล่ายูทูบเบอร์เองที่อยากสร้างความแตกต่าง และค้นหาวิธีการนำเสนอใหม่ๆ ว่าหากไม่ต้องโชว์หน้า ไม่ต้องมีคำพูดใดๆ จะทำยังไงให้เนื้อหาวิดีโอน่าดูและดึงดูดผู้ชมได้
- เล่าแบบธรรมดา แสนจะเรียบง่าย
ซึ่งสิ่งที่พวกเขาใช้ก็คือ การเล่าเรื่องผ่านการกระทำต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ชงชา อ่านหนังสือ เก็บกวาดบ้าน โดยอาจมีเสียงดนตรีคลอเบาๆ เพื่อประกอบไปด้วย ตรงกันข้ามกับการทำคลิปวิดีโอแต่ก่อนที่มักสร้างตัวเอง หรือทำยังไงก็ได้เพื่อให้เป็นที่รู้จักและโดดเด่นขึ้นมา
นับเป็นวิดีโอที่ดูแล้วทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย สร้างสมาธิ แตกต่างจากวิดีโอในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่มักเน้นสร้างความว้าว! ความน่าตื่นเต้น และแข่งขันกันตลอดเวลา จากความรู้สึกนิ่งเงียบสงบนี้ก็ได้ที่ทำให้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมสนใจเข้ามากดไลค์กดแชร์เป็นจำนวนมาก
และนี่คือ 2 เทรนด์ในการดูวิดีโอของผู้บริโภคทุกวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเก่า และเป็นอีกมุมมองทำให้เราเห็นว่าแม้แต่เสียงหรือคำพูดที่เรียกว่าแทบจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำวิดีโอ วันหนึ่งก็สามารถเปลี่ยนรูปแบบการรับชมได้เช่นกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ SME อาจลองนำไปปรับใช้ในการสื่อสารกับลูกค้าของตัวเองดูก็ได้ เพื่อนำเสนอวิธีการทำวีดูโอรูปแบบใหม่เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค แถมยังทำให้แบรนด์ดูน่าสนใจและเป็นที่จดจำได้มากขึ้นด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี