นับเป็นข่าวดีท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตสำหรับตลาดส่งออกของไทยที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ที่ขยายตัวสูงถึง 13.1 เปอร์เซ็นต์ YOY ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 36 เดือน ขณะที่ EIC ก็คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกปี 2564 จะขยายตัว 13-15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะโตที่ 8.6 เปอร์เซ็นต์
สัญญานบวกนี้เกิดจากอะไร และธุรกิจไหนได้อานิสงส์ มาดูกัน
ส่งออกเดือนเมษาขยายตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือน
เป็นอีกสัญญานดีๆ ของปี 2564 หลังมูลค่าการส่งออกเดือนเมษายน กลับมาขยายตัวที่ 13.1 เปอร์เซ็นต์ YOY ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 36 เดือน และหากหักทองคำ การส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 28.9 เปอร์เซ็นต์ YOY โดยส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยฐานต่ำปีก่อนที่เริ่มมีการปิดเมืองทั่วโลกจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน (Supply Disruption)
ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2546 พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวที่ 4.8 เปอร์เซ็นต์ YOY แต่หากหักทองคำ การขยายตัวจะเพิ่มขึ้นเป็น 12.8 เปอร์เซ็นต์ YOY อย่างไรก็ดีหากพิจารณาการเติบโตแบบเทียบเดือนต่อเดือนที่หักผลทางฤดูกาล ก็พบว่า การส่งออกในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนขยายตัวได้ดีถึง 7.9 และ 6.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของการส่งออกที่ผ่านมา
กลุ่มสินค้าส่งออกที่ได้อานิสงส์
เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าพบว่า การส่งออกสินค้าสำคัญทุกประเภทมีการขยายตัว โดยที่ขยายตัวสูง ได้แก่ กลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์ มาดูรายละเอียดของกลุ่มสินค้าที่น่าสนใจกัน
รถยนต์และส่วนประกอบ
การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบเดือนเมษายนขยายตัวถึง 135.9 เปอร์เซ็นต์ YOY ซึ่งเกิดจากการฟื้นตัว
ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า บวกกับมีปัจจัยฐานต่ำในช่วงปีก่อน ที่เริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองทั่วโลก โดยตลาดหลักที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ออสเตรเลีย (174.9 เปอร์เซ็นต์ YOY), เวียดนาม (356.1 เปอร์เซ็นต์ YOY) และฟิลิปินส์ (708.9 เปอร์เซ็นต์YOY)
ผลิตภัณฑ์ยาง
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ 55.5 เปอร์เซ็นต์ YOY ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ยางพารา ได้แก่ กลุ่มถุงมือยางและยางสำหรับยานพาหนะ
น้ำมันสำเร็จรูป
สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปขยายตัวที่ 98.9 เปอร์เซ็นต์ YOY จากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยตลาดหลักที่ขยายตัวได้ดี คือกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา (179.9 เปอร์เซ็นต์ YOY), มาเลเซีย (72.6 เปอร์เซ็นต์ YOY), ลาว (126.5 เปอร์เซ็นต์ YOY), เวียดนาม (137.1 เปอร์เซ็นต์ YOY) และเมียนมา (162.5 เปอร์เซ็นต์ YOY)
เคมีภัณฑ์
กลุ่มเคมีภัณฑ์ขยายตัวที่ 65.7 เปอร์เซ็นต์ YOY จากทั้งปริมาณและราคาส่งออกที่ปรับสูงขึ้น โดยมีตลาดหลักคือ จีน (38.6 เปอร์เซ็นต์ YOY), อินเดีย (384.4 เปอร์เซ็นต์ YOY), เวียดนาม (93.4 เปอร์เซ็นต์ YOY) และมาเลเซีย (375.8 เปอร์เซ็นต์ YOY)
เม็ดพลาสติก
ด้านเม็ดพลาสติกขยายตัวดีที่ 52.9 เปอร์เซ็นต์ YOY โดยมีตลาดหลักคือ จีน (70.1 เปอร์เซ็นต์ YOY), อินเดีย (66.2 เปอร์เซ็นต์ YOY) และอินโดนีเซีย (39.7 เปอร์เซ็นต์ YOY)
สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
ในส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวที่ 11.4 และ 1.5 เปอร์เซ็นต์ YOY ตามลำดับ โดยสินค้าหลักที่ขยายตัวได้ดีคือ ยางพารา (85.2 เปอร์เซ็นต์ YOY), ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (40.0 เปอร์เซ็นต์ YOY), ผักผลไม้ (22.3 เปอร์เซ็นต์ YOY), เครื่องดื่ม (30.6 เปอร์เซ็นต์ YOY) และอาหารสัตว์เลี้ยง (11.3 เปอร์เซ็นต์ YOY) แต่การส่งออกข้าวและน้ำตาลทรายหดตัวที่ -53.6 และ -33.7 เปอร์เซ็นต์ YOY ตามลำดับ
ตลาดส่งออกหลักยังขยายตัวได้ดี
ด้านการส่งออกรายตลาดพบว่า การส่งออกไปตลาดหลักยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจีน, สหรัฐฯ, CLMV และสหภาพยุโรป แต่การส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน 5 และฮ่องกงหดตัวจากการส่งออกทองคำที่ลดลง
จีน
การส่งออกไปจีนขยายตัวดีที่ 21.9 เปอร์เซ็นต์ YOY โดยสินค้าหลักที่ส่งออกได้แก่ ผลไม้ (37.5 เปอร์เซ็นต์ YOY), คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (55.8 เปอร์เซ็นต์ YOY) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (68.5 เปอร์เซ็นต์ YOY)
สหรัฐอเมริกา
การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 9.0 เปอร์เซ็นต์ YOY ซึ่งมีสินค้าหลักที่ขยายตัวคือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (4.8 เปอร์เซ็นต์ YOY), ผลิตภัณฑ์ยาง (97.7 เปอร์เซ็นต์ YOY) และรถยนต์และส่วนประกอบ (314.8 เปอร์เซ็นต์ YOY)
CLMV
การส่งออกไป CLMV ขยายตัวสูงที่ 44.3 เปอร์เซ็นต์ YOY โดยสินค้าหลักที่ขยายตัวได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป (160.2 เปอร์เซ็นต์ YOY), รถยนต์และส่วนประกอบ (302.0 เปอร์เซ็นต์ YOY), เครื่องดื่ม (32.3 เปอร์เซ็นต์ YOY) และเคมีภัณฑ์ (55.1 เปอร์เซ็นต์ YOY)
ยุโรป
ในส่วนการส่งออกไปยุโรปขยายตัวเร่งขึ้นที่ 52.5 เปอร์เซ็นต์ YOY โดยมีสินค้าหลักคือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (28.7 เปอร์เซ็นต์ YOY), รถยนต์และส่วนประกอบ (319.6 เปอร์เซ็นต์ YOY) และผลิตภัณฑ์ยาง (131.5 เปอร์เซ็นต์ YOY)
อาเซียน 5 และฮ่องกง
ด้านการส่งออกไปอาเซียน 5 และฮ่องกงยังหดตัวที่ -4.4 และ -19.8 เปอร์เซ็นต์ YOY ตามลำดับ โดยสินค้าหลัก
ที่หดตัวคือทองคำที่ส่งออกไปฮ่องกง (-97.7 เปอร์เซ็นต์ YOY) และสิงคโปร์ (-83.1 เปอร์เซ็นต์ YOY) โดยหากหักทองคำ
การส่งออกไปฮ่องกงและสิงคโปร์พลิกกลับมาเป็นขยายตัวที่ 17.7 และ 43.3 เปอร์เซ็นต์ YOY ตามลำดับ
นี่คือสถานการณ์ส่งออกของต้นปี 2564 ที่เริ่มส่งสัญญานดี ให้ SME ได้จับตาและปรับกลยุทธ์ เพื่อรับโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจาก EIC
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี