ถือเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่นับว่ามีความจำเป็นอันดับต้นๆ ในการคิดจะทำธุรกิจขึ้นมาสักหนึ่งอย่าง สำหรับการ “ตั้งชื่อแบรนด์” ให้กับสินค้าและบริการขึ้นมา เพราะถือเป็นด่านแรกๆ ที่ช่วยทำให้ลูกค้าได้รู้จักกับผลิตภัณฑ์ของเราและตัวตนธุรกิจมากขึ้น ซึ่งการจะหาชื่อที่เหมาะสมและทำให้ผู้คนจดจำได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจเป็นปัญหาให้กับผู้ที่คิดอยากสร้างแบรนด์และทำธุรกิจหลายคน
ดังนั้นวันนี้เราจึงนำเคล็ดลับการตั้งชื่อแบบง่ายๆ ชนิดที่หากได้ฟังแล้วช่วยหยุดลูกค้าได้ทันทีเลยล่ะ
สั้น เข้าใจง่าย
ข้อนี้ถือเป็นกฎข้อพื้นฐาน สุดคลาสสิกของการตั้งชื่อแบรนด์เลยก็ว่าได้ กับการตั้งชื่อแบรนด์ให้สั้น กระชับ ได้ใจความ และจดจำได้ง่าย ซึ่งเราอาจสามารถลองหาชื่อที่เหมาะสมได้จากปัจจัยต่อไปนี้ เช่น ลักษณะโดดเด่นของสินค้า ที่มาของแบรนด์ ชื่อเจ้าของ ชื่อที่ชื่นชอบและมีความเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่ทำอยู่ ไปจนถึงวิสัยทัศน์ และเป้าหมาย ฯลฯ โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ควรเกิน 3 พยางค์ ก็จะทำให้เป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น
บอกให้รู้ว่าขายอะไร
เป็นอีกหนึ่งวิธีที่หลายแบรนด์มักนำมาใช้ เพราะนอกจากจะทำให้จดจำได้ง่ายแล้ว ยังช่วยบอกตัวตนของธุรกิจออกไปให้รับรู้เลยว่าต้องการจะขายสินค้าหรือบริการเกี่ยวกับอะไร โดยที่บางทีก็ยังไม่ทันได้รู้จักแบรนด์ด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น FoodPanda แพลตฟอร์มเดลิเวอรีสั่งอาหาร ซึ่งนำเอาคำว่า Food มาใส่เข้าไปในชื่อแบรนด์ ทำให้รู้เลยทันทีว่าต้องเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารแน่นอน หรืออย่างเว็บจองห้องพัก Traveloka ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่บ่งบอกได้ชัดเจนอีกเช่นกันว่า ต้องเป็นธุรกิจที่ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน ขณะที่ BurgerKing เอง ที่นอกจากจะบอกให้รู้ว่าขายเบอร์เกอร์แล้ว ก็ยังสื่อสารออกไปให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ซ่อนอยู่ถึงความเป็นที่สุดของเจ้าแห่งเบอร์เกอร์ที่อร่อยและดีที่สุดอีกด้วย
ตั้งขึ้นมาจากชื่อที่คุ้นเคย
วิธีการนี้สโคปค่อนข้างจะกว้าง คือเราสามารถนำมาใช้ได้หมดจากหลายๆ สิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สำคัญ ตัวละครในนวนิยาย ลักษณะภูมิประเทศ สถานที่ตั้ง สิ่งของเครื่องใช้ หรืออะไรต่างๆ ที่มีความเป็นสากล หากพูดไปใครก็รู้จัก ตัวอย่างเช่น Amazon แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ที่กว้างใหญ่จำหน่ายสินค้าไปทั่วโลก มีสินค้ามากมายหลากหลายให้เลือก ก็นำมาจากชื่อของผืนป่าดิบชื้นที่กว้างใหญ่ในพื้นที่อเมริกาใต้ ซึ่งมีความสำคัญระดับโลกเช่นกัน
ใช้คำคล้องจอง
หากไม่ต้องคำนึงถึงความหมาย ชื่อที่สละสวยงาม หรือไพเราะ วิธีนี้นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์ของคุณได้แบบติดปาก ติดหูด้วย ตัวอย่างเช่น ลูกอม Laffy Taffy, เครื่องดื่มน้ำอัดลม Mello Yello หรือในบ้านเราก็เช่น มาม่า, ไวไว แต่ชื่อหลังนี้ได้ทั้งคำคล้องจอง และความหมายที่สื่อถึงความรวดเร็วด้วย
การสะกดที่ผิดปกติ
เป็นอีกวิธีที่หลายแบรนด์มักนำมาใช้เพื่อสร้างความโดดเด่น โดยเสียงที่เปล่งออกไปนั้นอาจฟังดูปกติ และเข้าใจได้ว่าหมายถึงอะไร แต่พอลองนำมาเขียนแล้ว กลับเขียนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีหลายแบรนด์มากระดับโลกที่มักใช้วิธีนี้ ตัวอย่างเช่น Krispy Kreme (คริสปี้ครีม) แบรนด์โดนัทชื่อดังจากอเมริกา ก็ใช้การสะกดแบบนี้ แทนคำว่า Cream ซึ่งหมายถึงเนื้อสัมผัสของวัตถุดิบที่นุ่มนวล และโดยมากมักมีสีนวล หรือสีขาวนั่นเอง ซึ่งมีการกล่าวไว้ว่าการใช้การสะกดที่ผิดไปจากหลักปกติจะช่วยให้แบรนด์ดูน่าสนใจ แปลกใหม่ ทันสมัย และจดจำได้ง่ายด้วย
ใช้สโลแกนเข้ามาช่วย
วิธีนี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตั้งชื่อแบรนด์โดยตรง แต่เป็นอีกวิธีที่สามารถคิดขึ้นมาได้พร้อมๆ กัน และช่วยทำให้ชื่อแบรนด์ดูโดดเด่นขึ้น นั่นก็คือ การคิดคำหรือสโลแกนแบบคล้องจองขึ้นมาเสริม อาจไม่ต้องนำไปเขียนอยู่บนโลโก้ แต่สามารถใช้เรียกต่อท้ายแบรนด์ หรือนำไปใช้ในสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์แบรนด์อื่นๆ ได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้เรียกชื่อแบรนด์ได้ติดปากแล้ว บางอันยังช่วยบอกถึงคุณสมบัติแบรนด์เพิ่มเติมด้วย เช่น กระเบื้องห้าห่วง - ทนหายห่วง, ซอลส์ เค็ม แต่ดี, MamyPoko ยิ้มง่าย ไม่ซึมเปื้อน
คิดเผื่อต่อยอดไปถึงโลโก้
ข้อสุดท้ายอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสรรหาชื่อหรือคำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์อีกเช่นกัน แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยทำให้ชื่อแบรนด์ของคุณเมื่อตั้งขึ้นมาแล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงธุรกิจในรูปแบบที่เหมาะสมและโดดเด่น ซึ่งต้องยอมรับว่าบางชื่ออาจเป็นชื่อที่ดี ไพเราะ ความหมายก็ดี แต่พอนำมาสร้างเป็นโลโก้แล้วกลับไม่ลงตัว ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจใช้ชื่ออะไร ควรนำขั้นตอนนี้ไปใส่ไว้ในขั้นตอนสุดท้าย เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วยก็จะช่วยให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบมากขึ้น ครบทั้งภาพและเสียงเลยทีเดียว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี