ภาษีโรงเรียนกวดวิชา ไม่ใช่อุปสรรคขวางทางธุรกิจโต




เรื่อง  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

    แม้ว่าภาครัฐจะเริ่มหันมาเก็บภาษีกับโรงเรียนกวดวิชา แต่ว่ากันในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับโรงเรียนกวดวิชาในไทยแล้ว ยังถือว่าไม่เข้มงวดเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งเอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจ 

    สำหรับประเทศไทย ถือว่ารัฐบาลยังเห็นความสำคัญของโรงเรียนกวดวิชาต่อระบบการศึกษาทำให้กฎหมายยังเปิดกว้างต่อการทำธุรกิจ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศชั้นนำในเอเชียที่มีการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาแล้ว ยังถือว่าการประกอบธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาของไทยนั้นยังมีข้อจำกัดน้อย 

    โดยปัจจุบันประเทศไทยมีข้อปฏิบัติกำหนดให้โรงเรียนกวดวิชามีกำไรจากการประกอบธุรกิจได้ประมาณ 20% ซึ่งเมื่อประกอบกับกฎหมายที่ไม่เข้มงวดมากนักแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่โรงเรียนกวดวิชาในไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว  

    อย่างก็ตาม การเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาอาจทำให้มีแนวโน้มการปรับขึ้นค่าเรียน ทั้งที่ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน ค่าเรียนพิเศษก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% อยู่แล้ว ซึ่งแฟรนไชส์โรงเรียนกวดวิชา ที่ค่าเฉลี่ยการขึ้นค่าเรียนไม่สูงมากนัก เพราะใช้กลยุทธ์ขยายสาขา เน้นสร้างรายได้จากจำนวนนักเรียน เมื่อเจอกับภาระด้านภาษีก็จำเป็นต้องขยับราคาขึ้นตาม

    สำหรับสัดส่วนนักเรียนกวดวิชาต่อนักเรียนในระบบที่ยังไม่มากทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชายังมีโอกาสขยายตัวอีกมากในอนาคต โดยรายได้ของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาทั้งระบบมีประมาณ 10,000 ล้านบาท จากจำนวนนักเรียนราว 535,000 คน ซึ่งถ้าคิดเป็นสัดส่วนเทียบกับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ จะพบว่าสัดส่วนนักเรียนกวดวิชามีเพียง 14% อีกทั้ง แต่ละครอบครัวใช้จ่ายค่าเรียนพิเศษเพียง 2% - 3% ต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมด 

    จุดนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีการขยายตัวของจำนวนโรงเรียนและนักเรียนกวดวิชาแบบก้าวกระโดด ซึ่งช่วงปี 2007 - 2013 โรงเรียนกวดวิชาในต่างจังหวัดเติบโต 139% เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ที่เติบโต 69% และจำนวนนักเรียนที่เรียนพิเศษในต่างจังหวัดขยายตัว 58% เทียบกับในกรุงเทพฯ ที่ขยายตัว 42% แสดงให้เห็นว่าศักยภาพการขยายตัวในต่างจังหวัดนั้นมีมากกว่า และเมื่อคำนึงถึงสัดส่วนต่อจำนวนประชากรแล้วโอกาสการเติบโตในต่างจังหวัดยังมีอยู่มาก

    นอกจากนี้ ระบบการศึกษาที่ยังเน้นการวัดผลจากการสอบ โดยเฉพาะการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนั้นจะเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเติบโตยิ่งขึ้น อีกทั้งการสมัครเข้าทำงานก็มักจะถูกคัดกรองจากผลการศึกษาและอันดับของสถาบันที่ผู้สมัครได้รับการศึกษามาในอดีต 
                
    แต่หากผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาต้องการที่จะเติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพ จำเป็นที่จะต้องลงทุนทำระบบบัญชีและวางแผนภาษีเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าระบบภาษี อีกทั้ง วางแผนการบริหารเป็นธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพนัก โรงเรียนกวดวิชาควรศึกษาข้อมูลเพื่อจัดการวางรากฐานให้แข็งแกร่งสำหรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต 

    ขณะนี้โรงเรียนหลายแห่งยังคงไม่มีประสบการณ์ด้านภาษี ซึ่งปัจจุบันการจัดตั้งโรงเรียนส่วนมากยังเป็นแบบบุคคลธรรมดาและถ้าไม่ขอเปลี่ยนการจดทะเบียนมาเป็นแบบนิติบุคคล จะทำให้มีฐานภาษีสูงขึ้นเมื่อมีรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ระบบการจัดเก็บเอกสารที่เป็นระเบียบจะช่วยให้การบริหารงานสะดวกขึ้น เนื่องจากเอกสารจำพวกใบเสร็จต่างๆนั้นสามารถนำไปหักภาษีได้และจะช่วยลดต้นทุนได้อีกทาง
     
    โรงเรียนกวดวิชาควรมีการวางแผนธุรกิจให้แตกต่าง เพื่อสร้างความได้เปรียบในภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันในธุรกิจที่ค่อนข้างสูง การแข่งขันที่สูงอยู่แล้วจากการมีผู้เล่นรายหลักที่มีชื่อเสียงอยู่ในระบบ ประกอบกับต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการเข้าระบบภาษีทำให้โรงเรียนกวดวิชา โดยเฉพาะรายเล็กๆ จะต้องหากลยุทธ์ที่แตกต่างออกไปในการแข่งขันมากขึ้นนอกเหนือจากจุดขายด้านเทคนิคการสอนหรือการทำข้อสอบ




RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน