หลังโควิด ธุรกิจหลายอย่างถึงคราวแปรเปลี่ยน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจและการค้าโลกที่จะไม่กลับไปเป็นแบบเก่า ไม่ว่าจะเป็นด้วยความแพร่หลายของธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม ที่เติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา การใช้ระบบอัตโนมัติต่างๆ มาทดแทนแรงงานคน รูปแบบของโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนไป การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศต้นทาง ตลอดจนการใช้นโยบายการเงินแบบรูปแบบใหม่ของธนาคารกลางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบจากเทรนด์ใหม่ๆ ของโลก และต้องปรับตัวให้ทันใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.การปฏิรูปพัฒนากฎระเบียบ ส่งเสริมการแข่งขัน และพัฒนาแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมแบบใหม่ๆ 2. การกำหนดแนวทางปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พึ่งพาการเติบโตจากภายใน และ 3. การทบทวนบทบาทนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างของประเทศ
ว่าแต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป จะเปลี่ยนโฉมธุรกิจเดิมไปอย่างไร มาหาคำตอบกัน
“Knowledge Economy” อุตสาหกรรมเก่าของไทยกำลังจะถูกแทนที่
ในทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกอุตสาหกรรม เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรม จะนำไปสู่ธุรกิจประเภทใหม่ๆ ในขณะเดียวกันธุรกิจแบบเก่าที่จะถูกแทนที่คงต้องล้มหายตายจากไป ในรอบนี้ก็เช่นกัน โดยโลกประเมินว่าหน้าตาของธุรกิจในยุคหลัง โควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่ง KKP Research เชื่อว่าธุรกิจแบบใหม่ๆ จะเข้ามาทดแทนธุรกิจแบบเก่าของไทยเช่นกัน จากข้อมูล 2 ชุด คือ GDP ซึ่งสะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งประเทศ และSET Market Cap ซึ่งเป็นข้อมูลของบริษัทขนาดใหญ่ในไทย พบว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยยังอยู่ในรูปแบบเก่า ขาดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ ทำให้ในระยะยาวอุตสาหกรรมหลายประเภทต้องเจอกับความเสี่ยงที่โตต่อไปแบบเดิมได้ยาก หากนโยบายเศรษฐกิจของไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงและภาคธุรกิจยังไม่มีการปรับตัวอย่างทันท่วงที
โดยธุรกิจ 4 ด้านหลัก ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอดและมีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ เสี่ยงจะถูกกระทบจากเทรนด์ที่เปลี่ยนไปนี้ ซึ่งจะทำให้ทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในภาพรวมไม่สามารถกลับมาโตที่ระดับเดิม ได้แก่
1. ธุรกิจยานยนต์แบบเก่า อาจถูกแทนที่ด้วยรถยนต์แบบใช้ไฟฟ้า (Electric Vehicles)
ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นพัฒนาการของรถยนต์ไฟฟ้าแบบก้าวกระโดด ท่ามกลางการระบาดของ โควิด-19 ที่หุ้นเทคโนโลยีพุ่งสูงขึ้นอย่างมากทั้งในสหรัฐฯ และจีน ทำให้บริษัทรถยนต์ไฟฟ้ามีเงินทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก โดยประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่จะเป็นฐานการผลิตสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งน่ากังวลสำหรับประเทศไทยที่มีการทำข้อตกลงทางภาษีที่ไทยทำไว้กับจีนเมื่อปี 2005 ทำให้การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีอัตราภาษีเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้ามาทดแทนตลาดรถยนต์แบบเก่าได้เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาด และข้อตกลงทางภาษีนี้ก็อาจทำให้ไทยไม่ได้เป็นตัวเลือกในการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะสามารถผลิตจากจีนและส่งมาได้โดยไม่มีภาษีอยู่แล้ว
2. การท่องเที่ยวและการเดินทางอาจไม่กลับมาเติบโตได้เหมือนเก่า
นักท่องเที่ยวจีนที่โดยปกติมีสัดส่วนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในวันนี้เริ่มเห็นความเสี่ยงที่จะไม่กลับมาที่ระดับเดิมอีกต่อไป เมื่อทางการจีนมีการประกาศแผนเศรษฐกิจระยะ 5 ปีฉบับใหม่ที่เน้นให้คนจีนเที่ยวกันเองในประเทศ เพื่อสร้างความเติบโตจากภายใน เป็นไปได้ว่าประเทศไทยอาจไม่ได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 40 ล้านคนต่อปี เหมือนในอดีต ประกอบกับปัญหาเดิมที่ไทยมีการให้บริการในธุรกิจท่องเที่ยว (เช่น โรงแรม) มากเกินกว่าความต้องการอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวยังคงน่าเป็นห่วงแม้จะผ่านพ้นวิกฤต โควิด-19 ไปแล้วก็ตาม
นอกจากนี้การเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการเดินทางเพื่อทำธุรกิจหรือการสัมมนา โดยหันไปใช้การประชุมหรือสัมมนาแบบออนไลน์ (Webinar) เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และคนเริ่มคุ้นชินกับการทำงานจากบ้าน (Work From Home) ธุรกิจให้เช่าสถานที่สำหรับจัดสัมมนาและทำงาน และการเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางที่เกี่ยวกับธุรกิจจะถูกกระทบโดยตรง
3. ธุรกิจค้าปลีกอาจถูกแทนที่ด้วย E-commerce
ธุรกิจ E-commerce มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่าถึง 4 ล้านล้านบาทในปี 2562 เติบโตขึ้นจากปี 2561 ถึง 6.91 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงที่ โควิด-19 มีการระบาด คนไทยเริ่มมีพฤติกรรมที่คุ้นชินไปกับการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น และอาจทำให้การไปเดินซื้อของตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มีความจำเป็นลดลง จนทำให้การเติบโตของ E-commerce ในไทยเป็นไปอย่างก้าวกระโดดในปี 2563 หากในอนาคต E-commerce ในไทยสามารถเติบโตได้ดีจนถึงระดับที่สัดส่วนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมากและทำกำไรได้มาก ก็เป็นไปได้ว่าธุรกิจค้าปลีกแบบเก่าและ Commercial real estate ที่มีความสำคัญทั้งในแง่รายได้และการจ้างงานจะถูกกระทบรุนแรง
4.รายได้ของภาคการเงินโดยเฉพาะธนาคารจะถูกกดดันจากผู้ให้บริการรูปแบบใหม่และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ
การเติบโตของ Platform Economy ที่สำคัญอันหนึ่ง คือ บริษัท Technology ที่เริ่มกระโดดเข้ามาแข่งขันให้บริการทางการเงิน เช่น การให้บริการชำระเงินและกู้เงินผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ค่าธรรมเนียมในการดำเนินธุรกรรมต่างๆ ถูกลง และนโยบายการเงินที่ยังต้องผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อควบคุมภาระดอกเบี้ยจากปริมาณหนี้ที่ขึ้นไปสูงเป็นประวัติการณ์ ก็จะมากระทบกับภาคธนาคารผ่านกำไรจากดอกเบี้ยที่ลดลงซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของธนาคาร
เมื่อคำนวนรวมขนาดของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ที่อาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว ธุรกิจเหล่านี้มีขนาดประมาณ 42 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมด และ 41 เปอร์เซ็นต์ ของการจ้างงานนอกภาคเกษตร ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มาก และหากนับรวมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทานไปด้วยอีก ผลกระทบก็จะมีขนาดใหญ่กว่าที่ประเมิน แน่นอนว่าคงไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะถูกแทนที่ คนที่ปรับตัวก็จะสามารถอยู่รอด การจ้างงานก็คงจะไม่หายไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุดนี่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าควรถึงเวลาที่ทั้งนโยบายภาครัฐ และภาคเอกชนต้องเริ่มปรับตัวอย่างจริงจัง
และนี่คือความท้าทายที่เกิดขึ้น กับกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย และมีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ ในวันที่ธุรกิจรูปแบบใหม่ จะเข้ามาทดแทนธุรกิจรูปแบบเก่า ผู้ประกอบการอย่างเราต้องปรับตัวอย่างไร นี่คือโจทย์ที่ทุกคนต้องเร่งหาคำตอบ
ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจาก KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี