ว่ากันด้วยวงการสิ่งพิมพ์ หากพูดถึงหนังสือหรือนิตยสารก็พอจะบอกได้ว่าเป็นยุค Sunset หรือขาลงของธุรกิจ เพราะเมื่อเทรนด์ของตลาดปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ผู้คนเริ่มหันมาเสพข่าวหรือสื่อต่างๆ ผ่านออนไลน์แทบทั้งหมด ทำให้ภาพรวมธุรกิจเกิดการชะลอตัว แต่เอาเข้าจริงธุรกิจสิ่งพิมพ์ไม่ได้มีแค่นั้น ยุคนี้การพิมพ์ดิจิทัลและพิมพ์บรรจุภัณฑ์กำลังเติบโตจนเรียกได้ว่าเป็น Sunrise หรือ ขาขึ้นต่างหาก
ไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป ที่เป็นผู้นำด้านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์มากว่า 63 ปี เห็นทิศทางของอุตสาหกรรมนี้ตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว วิวัฒน์ อุตสาหจิต ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป มองว่าการพิมพ์ดิจิทัลในจำนวนน้อยจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต จึงเริ่มขยับขยายหาโอกาสให้กับธุรกิจโดยการบินไปดูงานถึงประเทศญี่ปุ่น และเปิดใจให้กับเครื่องพิมพ์ดิจิทัลแม้บริษัทจะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน
“เราเห็นว่าน่าจะเป้นการลงทุนเพื่ออนาคต เราเริ่มด้วยเครื่องพิมพ์ขนาดเล็กคือ HP Indigo 5600 พิมพ์กระดาษขนาด A3 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้า เลยคิดว่าต้องไปให้สุดทาง”
การลงทุนเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ HP Indigo เป็นเครื่องแรกในเมืองไทย ทำให้พิมพ์โปสเตอร์ขนาดใหญ่ กระทั่งพิมพ์หนังสือที่จำเป็นต้องทำเลย์เอาท์หลายๆ หน้าได้ หลังจากนั้นจึงได้รู้จักกับเครื่องพิมพ์ HP Indigo 6900 เครื่องพิมพ์ฉลากระบบดิจิทัลมาพร้อมโซลูชันการพิมพ์ขั้นสูง เทคนิคการพิมพ์ชนิดพิเศษ ElectroInk Silver และ Digital Front End ที่นอกจากจะพิมพ์กระดาษได้หลายขนาดแล้วยังมี Flexibility (ความยืดหยุ่น) พิมพ์ได้หลายวัสดุ ทั้งกระดาษ สติกเกอร์ ฉลาก และฟิล์ม รวมถึงนวัตกรรม HP Indigo Pack Ready Lamination สำหรับงานบรรจุภัณฑ์แบบซอง เพื่อการผลิตที่รวดเร็วสูงสุดในตลาด สามารถติดฉลากสินค้าลงบนบรรจุภัณฑ์ได้ทันทีพร้อมขั้นตอนการบรรจุ ทำให้ไซเบอร์พริ้นท์เข้าสู่วงการบรรจุภัณฑ์อย่างเต็มตัว
5 ธุรกิจย่อยเสิร์ฟความต้องการผู้ประกอบการ
เดิมทีธุรกิจหลักของ ไซเบอร์พริ้นกรุ๊ป คือการพิมพ์ระบบออฟเซตที่ต้องพิมพ์จำนวนมากเท่านั้น แต่ปัจจุบันกำลังขยายครอบคลุมไปถึง 5 ธุรกิจย่อย คือ 1. การพิมพ์ระบบออฟเซตแบบเดิม 2. การพิมพ์ด้วยระบบดิจิทัล ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการพิมพ์จำนวนน้อย 3. การพิมพ์ระบบอิงค์เจ็ต หรือ Large Format ไม่ว่าจะเป็นงานป้ายโฆษณาต่างๆ งานส่งเสริมการขาย อาทิ Standy, Hanging, Roll up 4.ระบบกราเวียร์ (Gravure) ระบบงานพิมพ์สำหรับงานบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งแบบงานม้วนและงานซอง และ 5. งานกล่องลูกฟูก
ซึ่ง 4 ธุรกิจหลัง เกิดจากการขยับขยายเข้าสู่วงการพิมพ์ดิจิทัล
“ตอนนี้เราพิมพ์ได้บนหลายวัสดุและแทนที่จะพิมพ์เป็นหมื่นๆ ล้านๆ ชิ้นเราสามารถพิมพ์จำนวนน้อยได้ด้วยจากเทคนิคของการทำดิจิทัล และพิมพ์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมี after press ด้วย ทำให้ขยับไปในตลาดใหม่ๆ ทั้งกลุ่มเป้าหมายใหม่ และโปรดักต์ใหม่”
การลงทุนทำระบบกราเวียร์ซึ่งโดยปกติแล้วต้องทำจำนวนมากๆ คือ 30,000-50,000 ใบขึ้นไปเท่านั้น โดยใช้เครื่องพิมพ์ HP Indigo 6900 มาใช้พิมพ์ฟิล์มแล้วส่งไปทำลามิเนตขึ้นซอง ทำให้บริษัทสามารถรับพิมพ์บรรจุภัณฑ์ในจำนวนน้อยได้ ตั้งแต่ 1,000 ซองเป็นต้นไป ยกตัวอย่างลูกค้า SME ที่ต้องการนำเอาผลิตภัณฑ์คอลลาเจนเข้าไปวางขายใน 7-11 จึงสั่งทำซองแบบดิจิทัลก่อนประมาณ 3,000-5,000 ซอง จนกระทั่งปัจจุบันสั่งพิมพ์จำนวนนับล้านซองแล้ว
ไซเบอร์พริ้นท์เข้าไปจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็น SME มากขึ้น ผู้ประกอบการรายเล็กมีงบประมาณน้อย ต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ได้ การสื่อสารระหว่างแบรนด์กับทางลูกค้าก็จะเจาะจง (personalized) มากขึ้น
“SME เขาไม่มีเงินมากๆ มาให้โรงพิมพ์พิมพ์ 30,000 ซอง หรือ 100,000 ซอง อย่างโรงสีข้าวเยอะแยะเลยที่ต้องการทำแบรนด์ เพราะข้าวแข่งขันกันสูงมากเพราะพันธุ์เหมือนกันหมด ตอนนี้เขาต้องการทำข้าวแบบพรีเมียม อยากได้ซองประมาณ 10,000 ซอง เราก็จะเปรียบเทียบให้เขาดูว่า 10,000 ซองที่พิมพ์ด้วยดิจิทัลราคาเท่าไร และพิมพ์ด้วยแบบดั้งเดิมราคาเท่าไร ซึ่งหากพิมพ์ดิจิทัลสามารถพิมพ์แยกสี แยกพันธุ์ แยกบรรจุภัณฑ์สำหรับเข้าไปวางในแต่ละห้างสรรพสินค้าแต่ละแห่ง ซึ่ง 10,000 ซองนั้นไม่จำเป็นต้องพิมพ์เหมือนกันทั้งหมด ถ้าราคาเหมาะสมกับกลยุทธ์ธุรกิจ ลูกค้าก็จะเลือกได้ว่าควรต้องใช้แบบไหน”
ต้องเข้าถึงและเข้าใจ SME ทั่วประเทศ
ปัญหาหนึ่งของ SME ในปัจจุบัน คือไม่รู้ว่าจะทำบรรจุภัณฑ์ที่มีความเฉพาะตัวได้อย่างไร เพราะโรงพิมพ์โดยทั่วไปมักเป็นโรงพิมพ์ระบบเก่าซึ่งต้องลงเงินหลักแสนหรือหลักล้านเพื่อให้ได้แพ็กเกจจิ้งสักแบบ ซึ่งหากเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก โอกาสที่จะลงทุนเป็นไปได้ยาก เมื่อเจอแบบนี้ สิ่งที่ SME ทำคือไปซื้อบรรจุภัณฑ์สำเร็จแล้วจ้างโรงพิมพ์พิมพ์แค่สติกเกอร์แปะหน้ากล่องหรือหน้าซองเท่านั้น ซึ่งบรรจุภัณฑ์ไม่ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเลย ฉะนั้น โจทย์ใหญ่สำหรับไซเบอร์พริ้นท์จึงเป็นการทำให้ SME รู้จักและเข้าถึงบริการของพวกเขา
ไซเบอร์พริ้นท์ไปเทคโอเวอร์บริษัท ดักกี้ แพ็ค ปริ้น ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านงานพิมพ์ที่มี 24 สาขาทั่วประเทศ เช่น เช่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ พัทลุง เชียงราย หาดใหญ่ ฯลฯ ซึ่งเดิมดักกี้ แพ็ค ให้บริการพิมพ์สติกเกอร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีผู้ประกอบการรายย่อยมาสั่งพิมพ์ฉลากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเมื่อ SME ขายดีและต้องการก้าวไปข้างหน้า เขาก็จะสนใจที่จะพัฒนาแพ็กเกจจิ้งให้ดีขึ้น และสามารถขยับมาใช้บริการของไซเบอร์พริ้นท์ได้
“เราสนับสนุนดักกี้ แพ็คในแง่ของงานพิมพ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์ โบชัวร์ หนังสือ สื่อโฆษณา แล้วให้เขาดูแลเรื่องการตลาด เขามีคอนเนคชันอยู่ในจังหวัดต่างๆ ฉะนั้นเป็นเรื่องง่ายที่ SME จะเข้ามาขอดูตัวอย่างงาน มาขอคำแนะนำ หลังจากใช้บริการเขาก็จะแนะนำจากเจ้าที่ 2 ไปเจ้าที่ 3 ได้”
การเติบโตบนเส้นทางบรรจุภัณฑ์
ผลจากการมองการณ์ไกลและก้าวออกจากตลาดที่คุ้นเคย ทำให้ในวันที่ตลาดการพิมพ์ออฟเซตตกลงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ไซเบอร์พริ้นท์กลับได้ยอดจากการพิมพ์ดิจิทัลเข้ามาเติมเต็ม
“ในอุตสาหกรรมการพิมพ์มีหลายรายที่ยังไม่ปรับตัวหรือปรับตัวช้าก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ แล้วก็ต่อยอดไม่ได้ ธนาคารก็ไม่ให้ธุรกิจการพิมพ์กู้ถ้าไม่ได้บอกว่าเป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เพราะบรรจุภัณฑ์ไม่ตายและเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโต”
ไซเบอร์พริ้นท์ลงทุนไปกับการผลิตบรรจุภัณฑ์ขนานใหญ่ ไม่ใช่แค่เครื่องพิมพ์ แต่มีห้องแล็บเพื่อตรวจสอบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า สามารถจำลองการพิมพ์ฟิล์ม ใส่อลูมิเนียมฟอยล์ และทดสอบวัสดุ PE สำหรับสัมผัสกับอาหาร แล้วส่งเป็นตัวอย่างให้กับลูกค้าไปทดสอบดูว่าบรรจุภัณฑ์นั้นเก็บรักษาคุณภาพสินค้าหรืออาหารได้ดีพอหรือไม่
นอกจากนี้มองไปไกลถึงการขอมาตรฐานการทำบรรจุภัณฑ์อาหาร ตั้งแต่มาตรฐาน GMP, HACCP ไปจนถึงมาตรฐานด้านการส่งออก The British Retail Consortium (BRC) สำหรับผู้ประกอบการที่จะส่งออกไปยังประเทศอังกฤษหรือกลุ่มประเทศยุโรป
วิวัฒน์บอกว่า “เราจะต้องปรับตัวเองเพื่อให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการ เราต้องเก่งพอ ถ้าไม่เก่งพอเราคงอยู่ในธุรกิจไม่ไหว”
ที่ผ่านมาไซเบอร์พรินท์กรุ๊ปได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทั้งเรื่องของไอเดีย เทคโนโลยี นวัตกรรม จนสามารถเป็น All-In-One Service ให้กับลูกค้าได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี