เห็นทำธุรกิจดีๆ เงียบๆ แต่ภัยคุกคามรอกดดันอยู่เพียบนะจ๊ะ..
อย่าเพิ่งชะล่าใจเกินไปว่า ธุรกิจที่ทำอยู่ทุกวันนี้ช่างดูดีมีทรง ยิ่งในโลกปัจจุบันที่การแข่งขันแย่งชิงความเป็นหนึ่งนั้นแสนจะดุเดือดและเลือดพล่าน โดยเฉพาะกับ 5 เชื้อไฟแห่งความกดดันที่เป็นเหมือนภัยคุกคาม (ไม่เงียบ) ของคนมีกิจการที่ต้องรู้ให้ได้ ดับให้ทัน!
และสิ่งที่จะช่วยให้คุณเห็นควันมาแต่ไกลคือ การใช้ Five Forces Model หรือเครื่องมือวิเคราะห์การตลาดที่มี 5 แรงกดดันจากภายนอกเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจของคุณได้ งานนี้ไม่ว่าจะบีบหรือคลายก็ต้องตะเกียกตะกายเอาตัวรอดให้จงได้
แรงกดดันที่ 1: การเข้ามาท้าชิงของผู้เล่นหน้าใหม่
แค่ที่มีอยู่ก็เหนื่อยจะแย่ ยิ่งมีหน้าใหม่ๆ เข้ามา Challenge เพิ่มอีก รับรองว่าศึกครั้งนี้คึกคักสุดจะบรรยาย โดยการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่แบบนี้ มีผลต่อการแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาด ยิ่งถ้าน้องใหม่ไฟแรงเฟ่อร์กว่าเราเมื่อไร ส่วนแบ่งหรือความสนใจของตลาดที่เดิมอยู่กับเรา อาจจะเทไปฝั่งเขาก็ได้ เพราะฉะนั้น ควรแก้เกมด้วยการปั้น Branding ให้แข็งแรง เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของสินค้าและบริการของเราให้ดี บริหารต้นทุนให้เป็น ปรับตัวให้ไว พร้อมหาจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้ามให้เจอ เพื่อที่จะเปลี่ยนรอยรั่วเหล่านั้นมาเป็นแต้มต่อในมือเราให้ได้
แรงกดดันที่ 2: อำนาจการต่อรองของลูกค้า
อยากจะควักตังก์ หรือไม่อยากจะควักตังก์คืออำนาจในมือของลูกค้า แบรนด์นู้นดีกว่า แบรนด์นี้คุ้มกว่า แบรนด์นั้นโดนกว่าทั้งคุณภาพและราคา เหล่านี้คือสิ่งที่ลูกค้าใช้ในการต่อรองให้เราลดราคา เพิ่มคุณภาพ แอดฟีเจอร์ เพิ่มความว้าว นั่นก็เพราะทุกวันนี้ลูกค้ามองหาความคุ้มค่าทั้งเรื่องคุณภาพและราคา แถมยังมีตัวเลือกมากมายอยู่ในตลาด ซึ่งเป็นตัวบีบให้ผู้ประกอบการบางครั้งต้องเดินตามเกม ทำการลดราคา ขายแบบโปรโมชั่น แต่ต้องระวังให้ดีว่า แรงกดดันตัวนี้อาจทำให้คุณมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะอยากตามใจลูกค้า จนสุดท้ายแล้วอาจเป็นคุณที่ขาดทุนซะเอง ดังนั้น ควรหาจุดตรงกลางระหว่างกันให้เจอ
แรงกดดันที่ 3: อำนาจการต่อรองจากคู่ค้า
ซัพพลายเออร์หรือคู่ค้า ซึ่งเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้กับเรา เป็นอีกหนึ่งแรงกดดันที่มีผลต่อการแข่งขันของธุรกิจ ยิ่งซัพพลายเออร์ที่ผลิตวัตถุดิบชนิดนั้นๆ มีจำนวนน้อยราย อำนาจต่อรองของเขาก็จะสูง อำนาจในการต่อรองของเราก็จะต่ำ ซึ่งทำให้เราต้องแบกรับความเสี่ยงของต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย แต่เดี๋ยวก่อน! ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มอำนาจให้ตัวเองได้ โดยการสั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อลดราคาต่อชิ้นของวัตถุดิบลง หรืออาจจะลองมองหาคนที่ใช้วัตถุดิบแบบเดียวกันมาร่วมหารค่าวัตถุดิบในปริมาณเยอะๆ ดูก็ได้
แรงกดดันที่ 4: ไม่เห็นต้องง้อ เพราะมีสินค้าและบริการทดแทน
แม้ไม่ใช่สินค้าประเภทเดียวกัน แต่หากมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานหรือสามารถตอบสนองต่อความต้องการบางอย่างได้คล้ายคลึงกันก็สร้างแรงกดดันในการทำธุรกิจได้แล้ว นั่นก็เพราะลูกค้ามีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการทดแทนหากคิดแล้วว่ามันคุ้มค่ากว่าสินค้าหรือบริการของเรา เช่น ช่วงนี้หมูแพงก็หันไปกินไก่หรือกินปลาแทนก็ได้อิ่มเหมือนกัน หรือร้านอาหารนี้สั่งยาก ต้องไปกินที่ร้านอย่างเดียวก็หันไปเลือกร้านที่สั่งเดลิเวอรี่ได้ ดังนั้น ควรมองให้รอบด้านว่า สินค้าของเรายังมีอะไรที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นได้ ยังมีบริการอะไรอีกไหมที่สามารถนำมาใช้เพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สินค้าทุกอย่างจะทดแทนกันได้ ดังนั้น สิ่งที่แบรนด์ต้องทำคือการยึดมั่นในคุณค่า เอกลักษณ์ และพร้อมพัฒนาคุณภาพของแบรนด์ให้ดี
แรงกดดันที่ 5: การแข่งขันกันเองภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ไม่ต้องมองไปไหนไกล แค่แข่งกันเองในวงการเดียวกันก็กดดันพอแล้ว ซึ่งถ้าหากใช้ 4 ข้อที่กล่าวไปเป็นสารตั้งต้นในการวิเคราะห์ จะทำให้มองเห็นภาพรวม ทิศทาง และแนวโน้มได้ว่า ธุรกิจของเราควรจะต้องเพิ่ม ยกระดับ แก้ไข หรือพัฒนาตรงจุดไหน รู้ว่าจุดแข็ง-จุดอ่อนของเราคืออะไร คู่แข่งของเราคือใคร และลูกค้าที่เป็นเป้าหมายคือกลุ่มไหน เพื่อให้การแข่งขันในครั้งนี้ ไม่ใช่เราที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป
การให้คะแนนว่าแรงกดดันแต่ละประเภทมีผลต่อธุรกิจเรามากน้อยแค่ไหน จะช่วยทำให้เห็นถึงช่องทางในการขยับขยายความสามารถและเพิ่มความแข็งแกร่งของธุรกิจได้ ดังนั้น อย่าลืมลองนำไปใช้ เพื่อทบทวนและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับการเดินหน้าของธุรกิจที่มีอยู่กัน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี