พลิกความเชื่อสู่ธุรกิจ โอกาสการตลาดยุคดิจิทัล ที่เติบโตรุ่งเพราะพลเมืองสายมู

TEXT: กองบรรณาธิการ




               
     คุณทำอย่างไรในตอนที่เกิดความกังวลและรู้สึกถึงความไม่แน่นอนในชีวิต โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานแบบตอนนี้
               

     ก็ต้องหาที่พึ่งน่ะสิ!


      นอกจากจะปรับทุกข์กับคนรอบตัว มองหาตัวช่วยทางการเงิน คนไทยยังมองหาที่พึ่งทางใจ ยึดความเชื่อโชคลางมาสร้างความอุ่นใจไว้ก่อน อย่างน้อยก็เลือกใส่เสื้อสีมงคลก่อนก้าวออกจากบ้านในแต่ละวัน


      วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ได้ทำการสำรวจคนไทยหลากหลายเจเนอเรชัน ตั้งแต่ Baby Boomer, Gen X, Gen Y ไปจนถึง Gen Z เก็บข้อมูลงานวิจัย พบว่าคนไทยกว่า 52 ล้านคนที่มีความเชื่อในเรื่อง “โชคลาง” เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศเลย


      ซึ่ง 5 อันดับความเชื่อโชคลางที่มีผลต่อคนไทยมากที่สุดคือ 1.พยากรณ์ โหราศาสตร์ ลายมือ ไพ่ยิปซี 2.พระเครื่องวัตถุมงคล 3.สีมงคล 4.ตัวเลขมงคล และ 5.เรื่องเหนือธรรมชาติ


      อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ คนไทยเข้าถึงความเชื่อเหล่านี้ผ่านทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์เป็นอันดับ 1 ถึง 73.8 เปอร์เซ็นต์ ผ่านบุคคลรอบข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง คิดเป็น 59.6 เปอร์เซ็นต์ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ  29.7 เปอร์เซ็นต์ หนังสือพิมพ์และนิตยสาร 20.1 เปอร์เซ็นต์ และสื่อโทรทัศน์และวิทยุ อีก 19.6 เปอร์เซ็นต์
               

     สำหรับคนไทยสายมูเตลูแล้วล่ะก็ อะไรที่ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์ขอให้บอก พวกเขาไปอยู่ตรงหน้า จะไปหาแน่ๆ


     แต่เมื่อมองอีกมุม ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดสามารถนำความเชื่อเหล่านี้ไปผูกกับสินค้าและบริการ เพื่อสร้างยอดขายให้มากขึ้นได้ด้วย!



 
 
การตลาดที่เล่นกับความเชื่อ
 
               
     ความเชื่อเป็นเรื่องใกล้ตัว!


      หลายคนมักมีตัวเลขในดวงใจที่เชื่อว่าตัวเลขนี้จะนำพาสิ่งดีๆ มาให้ จึงเลือกซื้อเบอร์โทรศัพท์เป็นเลขมงคล แม้กระทั่งเลือกซื้อบ้าน ซื้อคอนโด โดยเลือกจากเลขที่บ้านหรือเลขชั้นกันเลยทีเดียว หรือจากความเชื่อเรื่องสีมงคล เลือกซื้อสิ่งของตามสีที่ถูกโฉลก กระเป๋าสตางค์สีไหนเรียกทรัพย์ สีไหนเด่นเรื่องความรัก ต้องได้มาครอบครอง
 

     ช่วงที่การตลาดสายมูฯ คึกคักมากที่สุดคงเป็นช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานี่เอง ทั้งแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่หันมาเล่นแนวทางนี้กันทั้งนั้น หนึ่งในนั้นคือ dtac ที่เลือกใช้วิธีสื่อสารกับผู้บริโภคด้วยการเปิดให้ดาวน์โหลดปฏิทินผ่านช่องทางออนไลน์ ที่มาพร้อมกับศาสตร์ตัวเลขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกเบอร์มงคลจากดวงวันเกิด เลขผลรวม เลขคู่มงคล สำหรับเสริมสิริมงคลทั้งด้านการงาน การเงิน ความรัก โชคลาภ และสุขภาพ ให้เหล่าคนไทยสายมูฯ พิจารณาว่าปีใหม่นี้จะเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ดีไหมนะ?


      อีกแบรนด์หนึ่งคือทิชชู Zilk ที่จับมือกับหมอช้าง-ทศพล ออกทิชชู่กล่องใหม่ลายพิเศษแก้ชง-เสริมมงคล เป็นสินค้าราคาไม่แพงและผู้คนก็ใช้กันอยู่ทุกวัน ผู้บริโภคจึงตัดสินใจหยิบลงตะกร้ากันได้ง่ายๆ



 
 
สร้างสรรค์สินค้า-บริการตอบโจทย์พลเมืองสายมูฯ
 
               
     ไม่ใช่แค่การหยิบเรื่องความเชื่อมาเป็นกิมมิคทางการตลาดเท่านั้น แต่บางครั้งกลับจุดประกายเป็นสินค้าใหม่ บริการใหม่ หรือกระทั่งธุรกิจใหม่เลยด้วยซ้ำ
               

      เช่น การกำเนิดขึ้นของแบรนด์ HORA Wallet ที่มาพร้อมกับความเชื่อทางโหราศาสตร์ ดวงชะตาประจำวันเกิด โดยเฉพาะเรื่องการเงิน การงาน และโชคลาภมาผนวกกับการออกแบบให้กลายเป็นกระเป๋าสตางค์คู่สีเรียกทรัพย์ เช่น วันจันทร์ใช้สีม่วงเรียกทรัพย์จับคู่กับสีแดงไวน์ด้านในสำหรับดักเงินไม่ให้รั่วไหล วันอังคารใช้สีส้มคู่กับสีเหลือง เป็นต้น
               

      อีกหนึ่งแบรนด์ที่จับเรื่องความเชื่อมาสร้างธุรกิจใหม่ในยุคโควิด-19 นั่นก็คือ ศรัทธา.online ที่ให้บริการแก้บน ขอพรได้โดยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง
               

     วรพล รัตนพันธ์ ผู้พัฒนา ศรัทธา.online บอกว่า “คนที่ไปแก้บนมักจะมาจาก Pain Point เดียวกันคือ ความไม่แน่นอน อาจจะต้องสัมภาษณ์งาน สอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือมีปัญหาเรื่องความรัก เขาเริ่มหาที่พึ่งทางใจ ก็เลยลองทำว่าธุรกิจนี้เป็นที่นิยมในโลกออนไลน์มากแค่ไหน ก็พบว่าเป็นที่นิยมเพราะคนไปใช้ชีวิตในโลกออนไลน์กันหมด แต่ว่าพฤติกรรมเดิม ความเชื่อเดิมยังอยู่ เราก็นำเทรนด์ที่เราเห็นมาใช้ให้เกิดกับสินค้าและบริการของเรา”
               

     ศรัทธา.online เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างผู้บริโภคกับร้านค้าในชุมชน ให้ไปขอพรหรือแก้บนแทนลูกค้าด้วยแพคเกจต่างๆ ในงบประมาณที่กำหนด การอัปเดตสถานะแบบเรียลไทม์ว่าร้านออกเดินทางไปถึงวัดแล้ว หรือแก้บนเรียบร้อย มีรูปหรือคลิปยืนยัน มีบริการทั้งให้เลือกทั้งในและต่างประเทศเลยทีเดียว
               

     ธุรกิจนี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ถึงเราจะอยู่ในยุคดิจิทัล แต่คนไทยก็ยังคงผูกพันกับเรื่องความเชื่อและโชคลางอยู่นั่นเอง เรื่องนี้จึงอาจเป็นกลยุทธ์ช่วยทำให้ภาคธุรกิจมัดใจผู้บริโภคยุคนี้ได้
 



 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน