​เขตเศรษฐกิจพิเศษ ความหวังของเศรษฐกิจภูมิภาค





    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ชี้ความสำเร็จของการจัดตั้ง SEZ อยู่ที่ความสามารถดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน แนะรัฐให้ความสำคัญกับการให้สิทธิประโยชน์แก่เอกชนและการบริหารจัดการ SEZ อย่างมีประสิทธิภาพ

    “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” (Special Economic Zone หรือ SEZ) เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้รับการกล่าวถึงจากนักธุรกิจจำนวนมากและถูกคาดหวังว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค หลังจากราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงขาลง เพราะจะเกิดการลงทุนใหม่ๆ กระจายรายได้สู่พื้นที่แต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐเพื่อรองรับธุรกิจใน SEZ

    รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะจัดตั้ง SEZ ระหว่างปี 2558-2559 ในพื้นที่บางส่วนของ 5 จังหวัดชายแดน คือ สงขลา ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.8 ล้านไร่ โดยจัดสรรงบประมาณสำหรับพัฒนาระบบคมนาคม ศุลกากรและด่านชายแดน นิคมอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภค รวมประมาณ 10,443 ล้านบาท โดยจังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดคือ จังหวัดตาก จำนวน 3,695 ล้านบาท งบประมาณดังกล่าวถือเป็นเงินลงทุนที่ไม่สูงนัก กระจายลงทุนใน 5 จังหวัด และลงทุนยาวถึง 2 ปี จึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคได้ไม่มากนัก 

    เม็ดเงินลงทุนที่น่าสนใจมากกว่าเงินลงทุนของรัฐ คือการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเกิดขึ้นหลัง SEZ เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีข้อกำหนดต่างๆ ที่ชัดเจน ภาครัฐดึงดูดเม็ดเงินลงทุนภาคเอกชนผ่านการให้สุทธิประโยชน์โดยบีโอไอ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่เอกชนที่ลงทุนใหม่ใน SEZ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด ไม่เกิน 8 ปี สิทธิประโยชน์อื่นๆ การยกเว้นอากรขาเข้า และการใช้แรงงานต่างด้าว 

    หากเอกชนไม่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ยังขอรับผลประโยชน์อื่นได้ เช่น รัฐลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 จำนวน 10 รอบบัญชี และ เงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรน รายละ 1-20 ล้านบาท ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนใน SEZ ทั้ง 5 แห่ง จึงคาดว่านอกจากกิจการเป้าหมายที่จะลงทุนใน SEZ แล้ว กิจการที่เกี่ยวเนื่องและเป็นกิจการต้นน้ำหรือปลายน้ำจะมีการลงทุนใน SEZ หรือพื้นที่ใกล้เคียงด้วยเช่นกัน เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตให้ครบถ้วน





    TMB Analytics มองว่า ช่วงก่อนมีการประกาศจัดตั้ง SEZ อย่างเป็นทางการ ภาคเอกชนก็เริ่มมีการลงทุนกันบ้างแล้ว โดยเอกชนกลุ่มนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่หรือสิทธิประโยชน์ของ SEZ แต่กลับมองเห็นพื้นที่บริเวณชายแดนเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหม่ทางธุรกิจ โดยมุ่งเน้นกำลังซื้อของคนในพื้นที่และของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน และการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนเป็นหลัก 

    เช่น กลุ่มธุรกิจ ค้าปลีก ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล เป็นต้น ขณะที่ระหว่างปี 2558-2559 ซึ่งมีการลงทุนของภาครัฐเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ SEZ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและธุรกิจสนับสนุนจะเป็นกลุ่มหลักได้รับผลบวก และหากการจัดตั้ง SEZ บรรลุตามแผนที่กำหนดไว้ ธุรกิจที่ได้ประโยชน์คือ ธุรกิจที่รัฐได้กำหนดให้เป็นธุรกิจเป้าหมายในแต่ละ SEZ จะมีการลงทุนและขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม เรามองว่าธุรกิจกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ค้าปลีก-ค้าส่งวัสดุก่อสร้าง บริการขนส่งและโลจิสติกส์ จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเกิดขึ้นของนโยบาย SEZ

    ดังนั้น ความสำเร็จของ SEZ ในการเป็นเครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค มิใชเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ แต่อยู่ที่ภาคเอกชนจะสนใจลงทุนใน SEZ มากน้อยเพียงใดมากกกว่า 

     ดังนั้น รัฐจึงควรมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ การอำนวยความสะดวก และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในพื้นที่ SEZ เพราะเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญ หาก SEZ สามารถดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนได้จริง กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการผลิตและการบริโภคจะเกิดขึ้นในพื้นที่เป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง เป็นเครื่องยนต์หลักอีกส่วนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคให้ขยายตัวได้ในระยะยาว


RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน