อยากขายดีต้องทำแบบนี้! ส่อง 6 แพ็กเกจจิ้งไอเดียล้ำ เปลี่ยนโฉมสินค้าชุมชนให้ปังสุดบนเชลฟ์

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
     แนวคิดพลิกสินค้าชุมชนให้ปังด้วยบรรจุภัณฑ์
 
 
  • ออกแบบให้ปกป้องสินค้าได้ดี
 
  • มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่สะดวกกับผู้ใช้
 
  • สื่อสารให้เข้าใจได้ง่ายถึงสินค้าด้านใน
 
  • เป็นมากกว่าบรรจุภัณฑ์ แต่ยังนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้
 
  • คำนึงถึงเรื่องโลกและสิ่งแวดล้อม
 


 
 
     สินค้าชุมชนธรรมดาๆ จะทำให้สะดุดตาผู้คนได้อย่างไร


     ลองดูไอเดียบรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชน ผลงานของ SME นักออกแบบอิสระ และนักศึกษา หนึ่งในดาวเด่นจากการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2563 (ThaiStar Awards 2020) ทั้งแบบที่มีจำหน่ายจริงในท้องตลาด และเป็นต้นแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ มาดูกันว่าพวกเขาทำออกมาได้น่าทึ่งแค่ไหน




 
                ไข่เค็มเป็ดฟาร์มในปิ่นโตเป็ด
 

     ผลงานของ "ณัฐพงษ์ กิ่งปรุ" ที่ต้องการสร้างบรรจุภัณฑ์ไข่เค็มธรรมดาๆ ให้มีรูปแบบที่แปลกใหม่ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภค โดยได้แนวคิดมาจากปิ่นโตที่นำมาออกแบบบรรจุภัณฑ์ไข่เค็มให้มีความสะดวกในการหิ้ว อารมณ์ไม่ต่างจากการหิ้วปิ่นโต ทั้งยังลดการใช้ถุงพลาสติกและสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันได้อีกด้วย




 
ปลาดุกร้าในแพ็กเกจตัวปลา
 

     นี่คือผลงานชื่อ “ทะเลน้อย” จาก “ธรนินทร์ หมื่นหนู” ที่มองเห็นโอกาสจากสินค้าแปรรูปขึ้นชื่อและเป็นจุดเด่นของ ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง อย่าง “ปลาดุกร้า” มาดีไซน์แพ็กเกจจิ้งเป็นรูปตัวปลาพร้อมเชือกหิ้ว สอดรับทั้งตัวผลิตภัณฑ์ที่สามารถเล่าผ่านแพ็กเกจจิ้งที่ห่อหุ้มได้



 
 
บรรจุภัณฑ์เชื้อเห็ดย่อยสลายได้


     นี่คือ Urban Farm บรรจุภัณฑ์เชื้อเห็ดที่สามารถย่อยสลายได้ ผลงานของ “เจนณัช สดไสย์” โดยทำมาจากพลาสติกชีวภาพ PLA ผสมกับเยื่อไม้ไผ่สามารถย่อยสลายได้รวดเร็วตามธรรมชาติ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวบรรจุภัณฑ์สามารถวางเรียงซ้อนเป็นสวนแนวตั้งได้ เหมาะกับคนเมืองที่อาศัยในพื้นที่จำกัด ใช้งานสะดวก นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์สามารถรีฟีลได้ รูปทรงมีการนำเอาต้นไผ่มาใช้ในการออกแบบ ให้ความรู้สึกเหมือนเก็บเห็ดจากกอไผ่มารับประทานเลยทีเดียว




 
กาละแมใบตองจากวัสดุรีไซเคิล


     นี่คือผลงานบรรจุภัณฑ์ขนมกาละแม เมืองสุรินทร์ โดย “แสงชัย เติมงาม” ที่ตั้งใจจะยกระดับขนมไทยพื้นถิ่นอย่างกาละแมให้สยายปีกสู่ตลาดที่กว้างขึ้น โดยการออกแบบให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ทันสมัย รูปทรงเสมือนใบตองของจริงจากธรรมชาติ โดยใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อตอกย้ำความเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Packaging) เพิ่มระดับความน่าสนใจให้กับขนมธรรมดาๆ ได้มากขึ้น



 
 
หมอนทองในกล่องหมอนไทย


     ไอเดียแพ็กเกจจิ้งนี้มีชื่อว่า “หมอนไทย” เป็นผลงานของ “พลภัทร สร้อยทอง” โดยได้แนวคิดจากการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างทุเรียนกวนหมอนทอง สินค้าขึ้นชื่อของเมืองไทย มาบรรจุลงกล่องขายให้สะดุดตา จึงออกแบบตัวบรรจุภัณฑ์เป็นรูปทรงของหมอนอิงสามเหลี่ยมไทย จึงตั้งชื่อแบรนด์ให้เก๋ๆ ตามมาว่าหมอนไทย ที่มีผลิตภัณฑ์ข้างในเป็นหมอนทอง



 
 
ลูกประคบตั้งโชว์ได้ทั้งแพ็กเกจจิ้ง


     ผลงานสุดท้ายมีชื่อว่า “ชะ-รมย์” เป็นของ “กัญญาภรณ์ อุกฤษฎิ์ชินภัค” ที่เลือกทำบรรจุภัณฑ์สำหรับลูกประคบสมุนไพร หนึ่งในสินค้าชุมชนยอดนิยม โดยมองเห็นถึงการออกแบบที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าในการขาย และยังสามารถ Display ตั้งโชว์ได้เวลาวางขาย ที่สำคัญตัวบรรจุภัณฑ์ยังสามารถรียูสเป็นที่กันความร้อนขณะใช้งานลูกประคบได้อีกด้วย เป็นอันครบจบทั้งโชว์และใช้ในแพ็กเกจจิ้งเดียว
 

     นี่คือตัวอย่างความน่าทึ่งของบรรจุภัณฑ์ฝีมือคนไทย ที่นำมาใช้กับเหล่าผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งหลายแนวคิดไม่ได้ตอบโจทย์เพียงเรื่องของการส่งเสริมด้านการขายเท่านั้น แต่ยังมองถึงฟังก์ชั่นการใช้งาน บทบาทของบรรจุภัณฑ์ที่มีมากกว่าหนึ่ง การทำหน้าอื่นที่หลังการใช้งานแล้ว รวมถึงยังมองถึงการลดการใช้ทรัพยากร ลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย สินค้าชุมชนที่ไม่อยากตกยุคและปลุกตัวเองให้ไฉไลยิ่งกว่าเก่า ก็เอาไอเดียแบบนี้ไปลองทำกันได้นะ  
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน