เรื่องนี้ต้องรู้! 3 เทรนด์ผู้บริโภคคนไทย ที่อาจเปลี่ยนตลอดไปหลังหมดไวรัส

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 

     พฤติกรรมผู้บริโภคหลังคลายล็อกดาวน์
 
 
  • คนไทยกลับมาสนใจกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มขึ้น
 
  • กิจกรรมในบ้านช่วงกักตัวยังคงได้รับความนิยมสูงกว่าอดีต
 
  • โควิด-19 เร่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับความนิยมสูงกว่าแนวโน้มปกติ
 
  • หลายกิจกรรมช่วงล็อกดาวน์อาจกลายเป็น New normal และอาจไม่กลับไปเหมือนเดิม
 


 

     พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย หลังผจญกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และเริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบ New
Normal ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมากมาย หลายกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในช่วงล็อกดาวน์อาจกลายเป็นวิถีปกติใหม่ ขณะที่บางพฤติกรรมของทั้งผู้บริโภคและธุรกิจอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
               

     และนี่คือ 3 พฤติกรรมต้องจับตาของผู้บริโภคคนไทย ในวันที่โควิด-19 มาเยือนโลก และเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคให้ต่างไปจากเดิม



 
               
1. คนไทยสนใจกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มขึ้น
               

     หลังถูกกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลานาน เมื่อรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์  ปรากฏการณ์ที่ตามมาคือผู้คนออกมาท่องเที่ยวและทำกิจกรรมนอกบ้านกันมากขึ้น โดยข้อมูลจาก Google Trends พบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563  มีการค้นหาคำว่า “โรงแรม” และ “อาหารบุฟเฟต์” สูงกว่าในช่วงล็อกดาวน์ (เดือนเมษายน-พฤษภาคม) ถึง 470 เปอร์เซ็นต์ และ 232 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยระดับความสนใจต่อทั้ง 2 กิจกรรม ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอีกด้วย ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความต้องการที่สะสมมาจากช่วงล็อกดาวน์ (Pent-up demand) การมีช่วงวันหยุดยาวพิเศษ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ ที่ผ่านมานั่นเอง


     อย่างไรก็ตาม หากมองถึงพฤติกรรมการใช้จ่าย พบว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและปริมาณการท่องเที่ยวในประเทศยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้กิจกรรมนอกบ้าน อาทิ การไปโรงภาพยนตร์ ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าช่วงปกติ สะท้อนจากจำนวนการค้นหาชื่อเครือโรงภาพยนตร์ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันระหว่างปี 2560-2562 ถึง 44 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบครึ่งเลยทีเดียว



 

2. กิจกรรมในบ้านช่วงกักตัวยังคงได้รับความนิยมสูง
 

     แม้หลังคลายล็อกดาวน์ หลายกิจกรรมที่เคยได้รับความนิยมในช่วงกักตัวจะถูกให้ความสนใจน้อยลง แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อเทียบกับก่อนเกิดเหตุการณ์โควิด หลายพฤติกรรมยังคงได้รับความนิยมสูงกว่าก่อนหน้านี้ เช่น


     1.เทรนด์การทำอาหารที่บ้าน สะท้อนจากคำค้นหาเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องครัว อาทิ หม้อทอดไร้น้ำมัน และ เตาอบ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเดือนพฤษภาคม โดยคำค้นหาอุปกรณ์เครื่องครัวสูงสุดถึง 474 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน


     2.เทรนด์การปลูกผักและต้นไม้ จากยอดค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักและต้นไม้สูงสุดในเดือนมิถุนายนสูงถึง 49 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน


     3.เทรนด์การออกกำลังกายในบ้าน จากคำค้นหาวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายใน Youtube เพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือนพฤษภาคมถึง 122 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน


     และ 4.การทำงานที่บ้าน สะท้อนจากความสนใจอุปกรณ์สำหรับการทำงานที่บ้าน เช่น โต๊ะทำงาน เก้าอี้ คีย์บอร์ดและเมาส์ เป็นต้น ซึ่งสูงสุดในเดือนมิถุนายนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน


     ทั้งนี้กิจกรรมภายในบ้านเหล่านี้ได้รับความสนใจลดลง หลังจากผู้คนสามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้ แต่อย่างไรก็ตาม การค้นหาคำเกี่ยวกับเทรนด์ต่างๆ ข้างต้น ก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ซึ่งบ่งชี้ถึงพฤติกรรม New Normal ที่อาจมาจากการที่หลายคนได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานที่บ้านในสัดส่วนที่มากขึ้น ความนิยมสำหรับกิจกรรมในบ้านจึงมีมากกว่าในอดีตช่วงก่อนโควิดนั่นเอง





3. แพลตฟอร์มออนไลน์ยังได้รับความนิยมสูงกว่าปกติ


     เพราะการผ่านชีวิตถูกกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ทำให้ผู้บริโภคคนไทยเกิดพฤติกรรมที่คุ้นชินกับการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการสั่งอาหารออนไลน์ ซื้อของออนไลน์ ตลอดจนการทำงานและสื่อสารต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ สะท้อนให้เห็นว่า โควิด -19 ได้เร่งให้เกิดกระแสการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น สะท้อนจากปริมาณการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับบริการออนไลน์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มปกติอย่างเห็นได้ชัดเจน จากข้อจำกัดในการใช้บริการช่วงกักตัว เช่น การซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce แทนการไปห้างฯ ใช้บริการ Food delivery แทนรับประทานอาหารที่ร้าน การประชุมทางไกลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการดูภาพยนตร์ผ่านแอปต่างๆ แทนการออกไปโรงภาพยนตร์


     อย่างไรก็ตาม ปริมาณการค้นหาสำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ลดลงจากช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งเหตุผลจะมาจากการค้นหาส่วนใหญ่เป็นแบบ One-time search คือ หลังจากการค้นหาในครั้งแรกๆ ผู้ใช้อาจใช้งานจากแพลตฟอร์มโดยตรงในครั้งถัดไป แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงบนแพลตฟอร์มยังมีการเติบโตที่ค่อนข้างสูง เช่น ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 จำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม Lazada ประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า



 

ถึงเวลา SME ปรับตัวรับพฤติกรรมผู้คนที่เปลี่ยนไป


     หลังสถานการณ์โควิด-19 มีอะไรหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยหลายกิจกรรมที่เคยได้รับความนิยมในช่วงการล็อกดาวน์อาจกลายเป็น New Normal ขณะที่บางพฤติกรรมของผู้บริโภคและธุรกิจอาจไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป เช่น หลายบริษัทในเมืองได้มีการปรับตัวด้านรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานทางไกล (Remote Work) มากขึ้น ทำให้มีการทำงานที่บ้านมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการใช้ชีวิตในหลายด้านของคนจำนวนไม่น้อย ทั้งการใช้เวลา การใช้พื้นที่ และรูปแบบการใช้จ่าย


     ขณะที่พฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สูงขึ้นจากความจำเป็นในช่วงโควิด จะเป็นตัวเร่งการปรับตัวระยะยาวที่สำคัญของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค โดยเฉพาะหากบริการออนไลน์นั้นสามารถเข้ามาทดแทนรูปแบบการใช้จ่ายเดิมๆ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า ให้บริการที่ดีกว่าและเร็วกว่าได้ การขยายตัวของออนไลน์จะมีแนวโน้มส่งผลกระทบถึงธุรกิจเดิมในอุตสาหกรรมเดียวกันได้


     เช่น การขยายตัวของ E-commerce ที่กระทบต่อยอดขายของค้าปลีกในช่องทางออฟไลน์เดิม แพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ที่อาจแย่งกลุ่มลูกค้ากับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (Commercial real-estate) ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำนักงาน Co-working space หรือพื้นที่ให้เช่าสำหรับการจัดประชุม-สัมมนา แพลตฟอร์มดูหนังออนไลน์ที่ดึงกำลังซื้อบางส่วนจากโรงภาพยนตร์หรือบริการ Food Delivery ที่เข้ามาทดแทนการทานอาหารที่ร้าน เป็นต้น


     ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ทั้งในวันนี้และอนาคต  ถ้าไม่อยากถูกกลืนหายเพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยน ก็ต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์นี้ให้ทัน!
 

     ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจาก EIC Data Analytics
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน