Main Idea
ที่มาของ Plant-based Meat เวอร์ชันใหม่
- ไก่ คือหนึ่งในเนื้อสัตว์ที่ผู้บริโภคยุคปัจจุบันนิยมหันมารับประทานมากขึ้น และเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ต่างจากเนื้อหมูหรือเนื้อวัว
- ในปี 2561 พบว่าชาวอเมริกันมีการบริโภคเนื้อไก่มากเป็นประวัติการณ์ เฉลี่ย 93 ปอนด์ต่อคน ซึ่งมีปริมาณเท่าๆ กับเนื้อวัว เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีสุขภาพดีมากกว่าการรับประทานเนื้อวัวหรือเนื้อหมู และมีราคาที่ถูกกว่ามาก
- การทำให้ผู้บริโภคหันมารับประทานเนื้อไก่จากพืชได้ จึงอาจช่วยลดมลภาวะโลกร้อน รวมถึงสุขภาพที่ดีขึ้น ของผู้คนจากการลดบริโภคเนื้อสัตว์ลง เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมอยู่ในร่างกายมากจนเกินไปนั่นเอง
ถึงวันนี้คงไม่ต้องอธิบายกันมากแล้วว่า Plant-based Meat หรือเนื้อจากพืชนั้นคืออะไร เพราะหลายคนคงได้เริ่มทำความรู้จักกับเนื้อชนิดนี้มาแล้วในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมานี้ จากการเป็นเทรนด์อาหารแนวใหม่ของโลกที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
โดยข้อมูลจาก Euromonitor รายงานว่า ปี 2556 – 2561 ในสหรัฐอเมริกายอดขายอาหารสำเร็จรูปของเนื้อจากพืชเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 15.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในขณะที่เนื้อแปรรูปแบบเดิมกลับโตเพียงปีละ 1.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เช่นเดียวกับข้อมูลผู้ประกอบการร้านเบอร์เกอร์และแซนด์วิชเนื้อที่ทำจากพืชในอเมริกา ซึ่งในช่วงเมษายน 2561 – มีนาคม 2562 ก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 7.8 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
แต่ยอมรับว่าส่วนใหญ่แล้วเนื้อทางเลือกหรือเนื้อจากพืชที่เราเห็นกันนั้น มักถูกชูออกมาในรูปของเมนูอาหารต่างๆ เช่น สเต็ก เบอร์เกอร์ มากกว่าที่จะนิยามหรือระบุลงไปว่าเป็นการเลียนแบบมาจากเนื้อชนิดใด หมู หรือวัว หรืออาจเป็นเพราะถูกมองว่า นี่คือ เนื้อชนิดใหม่อีกหนึ่งอย่างที่ได้เถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้แล้วก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรในตอนนี้ก็ไม่สำคัญไปเท่ากับกระแสที่กำลังเกิดขึ้นใหม่อยู่ในขณะนี้ในวงการ Plant-based Meat ที่ได้เริ่มหันมาทดลองและผลิตเนื้อรสชาติใหม่ออกมาให้มีลักษณะละม้ายคล้ายกับเนื้อไก่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว เนื้อไก่อาจเป็นเนื้อสัตว์ที่มนุษย์เราทุกวันนี้บริโภคมากเป็นอันดับต้นๆ มากกว่าเนื้อหมูหรือเนื้อวัวก็เป็นไปได้ โดยเคยมีข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริการะบุไว้ในปี 2561 ว่าชาวอเมริกันมีการบริโภคเนื้อไก่มากเป็นประวัติการณ์เฉลี่ย 93 ปอนด์ต่อคน ซึ่งมีปริมาณเท่าๆ กับเนื้อวัว โดยได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าปี 2562 จะต้องเพิ่มมากขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภคเนื้อวัวแน่นอน
โดยสาเหตุที่มีการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มมากขึ้น ก็น่าจะมาจากเหตุผลสำคัญ 2 ข้อ คือ 1. ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเชื่อว่าการรับประทานเนื้อไก่จะทำให้มีสุขภาพดีมากกว่าการบริโภคเนื้อวัวหรือเนื้อหมู 2. เนื้อไก่มีราคาที่ถูกกว่ามาก โดยนักเศรษฐศาสตร์ด้านอาหารและการเกษตร Jayson Lusk จากสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้ว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เนื้อวัวหนึ่งปอนด์จะมีราคาแพงกว่าไก่ประมาณ 2.5 เท่า และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทุกวันนี้เนื้อวัวมีราคาแพงกว่าเนื้อไก่มากถึง 4 เท่าด้วยกัน
จากเหตุผลที่กล่าวมานี้จึงทำให้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์หลายคนในวงการผลิตเนื้อเทียมจากพืช รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหารได้พยายามผลิต Plant-based Meat เวอร์ชันใหม่ที่มีลักษณะและรสชาติคล้ายกับเนื้อไก่ออกมา ซึ่งหากมองในด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็สามารถช่วยลดการเกิดมลภาวะจากอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ทั่วโลกลงได้ และหากมองในแง่ของสุขภาพผู้บริโภคเอง การที่เราสามารถผลิตหรือหาสิ่งทดแทนเนื้อสัตว์ที่มีการนิยมบริโภคมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้ ก็อาจช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดีมากขึ้นได้ด้วย ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายที่อาจเกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์สะสมในปริมาณมากเกินไป
ซึ่งในข้อนี้เชนผู้ประกอบการธุรกิจอาหารระดับโลกหลายแบรนด์ต่างเริ่มหันมาให้ความสำคัญกันมากขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใช้ไก่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหาร เช่น ในปีที่ผ่านมาร้าน KFC ในสหราชอาณาจักรหลายแห่งได้มีการทดลองผลิตเบอร์เกอร์ไก่มังสวิรัติในร้านค้าทั่วอังกฤษ เคลือบด้วยสมุนไพรและเครื่องเทศสูตรดั้งเดิมของผู้พันแซนเดอส์ ก็สามารถขายหมดได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน
ในขณะที่ Perdue Foods และ Better Meat Co. บริษัทผลิตอาหารก็ได้จับมือร่วมกันผลิตเนื้อไก่ที่มีส่วนผสมของกะหล่ำดอกและถั่วลูกไก่ (Chickpea) ออกมาเพื่อทำเป็นนักเก็ตไก่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ Tyson Foods ที่กำลังจะเริ่มทดลองผลิตนักเก็ตจากโปรตีนถั่ว หรือ อย่างการคิดธุรกิจไก่ทอดแนวใหม่ของร้าน Rebellyous Foods ที่ตั้งใจทำเป็นร้านไก่ทอดจากพืชออกมาในรูปแบบจริงจัง ไม่แพ้แฟรนไชส์ร้านไก่ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่างที่เราทุกคนรู้จักกันดีในทุกวันนี้
อนาคตของเนื้อไก่จากพืช และผลิตภัณฑ์ Plant-based Meat ต่างๆ จะได้รับความนิยมหรือประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนนั้น ความจริงแล้วอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นหลักก็ได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วสิ่งแรกๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อ กิน หรือไม่กิน มักขึ้นอยู่กับเรื่องของรสชาติ ราคา และความสะดวกสบายเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานสำคัญที่ไม่ว่าใครก็ตามย่อมต้องการเสมอ
ดังนั้นหากสามารถตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้ ก็คงไม่ยากอะไรที่จะแจ้งเกิด หรือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกซื้อได้ และนี่เป็นอีกโอกาสใหม่ที่ SME ไทยต้องจับตา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี