เศรษฐกิจดิจิตอล...ดันยอดลงทุนบรอดแบนด์ สะพัด 1.7 แสนล้าน





 

    ในโลกยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิตอลได้เข้ามามีบทบาทแทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต จะถูกต่อยอดอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิตอล หรือที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจฐานดิจิตอล” (Digital Economy) 

    ในระบบเศรษฐกิจฐานดิจิตอล การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต นับได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถเชื่อมโยงถึงกัน 
     
    ในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา ธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในปี 2557 มีจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมทั้งแบบมีสายและไร้สายในไทยกว่า 29.0 ล้านคน ขยายตัวกว่าร้อยละ 30.6 จากปี 2556 โดยมีอัตราการเข้าถึงกว่าร้อยละ 45.3 จากจำนวนประชากรทั้งหมด

    นอกจากนี้ โดยภาพรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปี 2558 ไปจนถึงปี 2559 จะมีการลงทุนโครงสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานหรือโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตต่างๆ ทั้งแบบมีสายและไร้สายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกว่า 173,200 ล้านบาท โดยคาดว่าในปี 2558 เงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากการลงทุนขยายโครงข่ายบรอดแบนด์แบบมีสายและโครงข่าย 3G ขณะที่ปี 2559 เงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากการลงทุนขยายโครงข่าย 4G

 

    
    ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีเสถียรภาพ ย่อมเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานดิจิตอลให้มีการขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว 

    นอกจากนี้ การพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้มีประสิทธิภาพและสามารถครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศได้ จะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตและการให้บริการของกลุ่มผู้ประกอบการ และเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะผู้ประกอบการในต่างจังหวัด เพราะจะสามารถใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับการพัฒนาการระบบห่วงโซ่อุปทานและพัฒนาระบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมาก

    อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ทางผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐในไทยส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาทางด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลออนไลน์จากการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต เนื่องจากต้นทุนในการพัฒนาสูง และยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบ รวมไปถึงการใช้ระบบ

     ในขณะที่ทางฝั่งผู้บริโภคไทยโดยภาพรวมยังมีสัดส่วนการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีแรงกดดันจากโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายที่ยังไม่สามารถครอบคลุมทั่วประเทศ และยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับอัตราค่าบริการที่อยู่ในระดับสูงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น 
 



    ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายร่วมกัน (Infrastructure Sharing) น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีต้นทุนสำหรับการลงทุนในการพัฒนาและขยายโครงข่ายต่ำลง สามารถมุ่งพัฒนาคุณภาพการให้บริการอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น นับว่าเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันอีกทางหนึ่งที่น่าจะทำให้อัตราค่าให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตถูกลง ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายตามครัวเรือนมากขึ้น 

    อีกทั้ง การให้ความรู้และความเข้าใจในความสำคัญของการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภควัยกลางคนที่มีอายุ 40 – 60 ปี จนถึงวัยสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป  ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานดิจิตอลประสบความสำเร็จ 




RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน