Main Idea
- ในยุคนี้พ่อแม่ยุคใหม่มีบทบาทในครอบครัวแทบไม่ต่างกัน ทั้งคู่ต่างต้องทำงาน ดูแลครอบครัวและลูกน้อยไปด้วยกัน ไม่มีช้างเท้าหน้า ช้างเท้าหลังหรือควาญช้างอีกต่อไป ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป อำนาจการตัดสินใจซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าบ้าน อาจไม่ได้อยู่ที่ผู้หญิงเหมือนที่เคยเป็นมาอีกแล้ว
- สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงนั้นเร็วขึ้น เมื่อทุกคนถูกบังคับให้อยู่บ้าน เหล่าคุณพ่อใช้เวลาดูแลลูกและจ่ายตลาดเองมากขึ้น แบรนด์ที่จับทางเทรนด์นี้และมัดใจเหล่าคุณพ่อ ก็อาจสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยเลยล่ะ
ในปีก่อนๆ เราพูดคุยกันถึงอำนาจในการตัดสินใจซื้อของเข้าบ้านมักเป็นของผู้หญิงถึง 85 เปอร์เซ็นต์ แบรนด์สินค้าจึงทำการตลาดโดยมุ่งสื่อสารไปที่เหล่าคุณแม่เสียเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การโฆษณา ไปจนถึงการออกแบบตกแต่งหน้าร้าน แต่ในยุคแห่งความเท่าเทียมกัน ที่ไม่ได้มีแค่ผู้ชายที่ทำงานนอกบ้านและผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเป็นแม่บ้านกำลังค่อยๆ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป
สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้คนทุกเพศทุกวัยต้องอยู่ในบ้าน ผู้ชายใช้เวลาอยู่ในบทบาท “พ่อบ้าน” มากขึ้น พวกเขามีส่วนดูแลบ้านและออกไปซื้อของกินของใช้ไม่ต่างจากคุณแม่บ้าน กลายเป็นอีก New Normal ที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม และมองหาโอกาสจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ว่านี้
- กลุ่มคนที่แบรนด์ส่วนใหญ่ไม่สนใจ
ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาแบรนด์ไม่สนใจผู้บริโภคชาย มีผลวิจัยทางการตลาดคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองของผู้ชายจะสามารถสร้างรายได้ถึง 166 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 แต่พวกเขาไม่ได้แยกแยะพฤติกรรมการซื้อของเหล่า “คุณพ่อ” ออกจากผู้ชายทั่วไป
ผลการค้นหาในเว็บไซต์เมื่อพิมพ์คำว่า “สินค้าสำหรับคุณแม่” จะแสดงผลิตภัณฑ์ประมาณ 1,300 รายการ ในทางกลับกัน เมื่อค้นหา “สินค้าสำหรับคุณพ่อ” กลับแสดงผลประมาณ 400 รายการเท่านั้น
ความต้องการสินค้าที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์คุณพ่อมีมากขึ้นจากเพจ Dads4Life และ Life of Dad ในเฟซบุ๊กที่มีลูกเพจถึง 3.5 ล้านคน Max Greenfield จึงร่วมมือกับเพจ Life of Dad สร้างกลุ่มโฟกัสเพื่อเรียนรู้วิธีการซื้อสินค้าของเหล่าคุณพ่อ แล้วสร้างแบรนด์สินค้าที่ชื่อว่า DADZ มาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้
- อินไซด์พฤติกรรมคุณพ่อนักช้อป
ข้อมูลเชิงลึกจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของแบรนด์ DADZ สรุปเป็นสาระสำคัญ 4 ประการคือ
- คุณพ่อจำนวนมากกำลังซื้อสินค้าสำหรับดูแลลูกน้อย จากการศึกษาของ Pew Research ในปี 2562 พบว่า คุณพ่ออายุน้อยมีแนวโน้มเป็นผู้ตัดสินใจซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าบ้านมากกว่าคุณพ่อวัยเก๋าถึง 62 เปอร์เซ็นต์ และ 92 เปอร์เซ็นต์ของพวกเขาซื้อผ้าอ้อมสำหรับเด็กและของกินของใช้ในบ้าน
2. เหล่าคุณพ่ออยากให้แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคเข้าใจเขามากกว่านี้ พวกเขารู้สึกว่าแบรนด์มองผู้ชายด้วยมุมมองแบบเก่าๆ ว่าผู้ชายแทบจะไม่ยุ่งกับการซื้อสินค้าเหล่านี้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วซื้อของเข้าบ้านไม่น้อยเลย แล้วก็ภูมิใจที่ได้ทำด้วย
3.คุณพ่อรู้ดีว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร หนึ่งในกลุ่มตัวอย่างคุณพ่อบอกว่าเขาเอากระเป๋าสำหรับใส่ปืนใส่ไว้ในกระเป๋าผ้าอ้อมสำรองของลูกน้อยแล้วเก็บไว้ในรถ หลายคนอาจจะมองว่าเขาไม่คงไม่เคยเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกล่ะสิ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นเทคนิคที่จะทำให้เขาเปลี่ยนผ้าอ้อมได้ไวขึ้นต่างหาก
4.การดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัยทำให้คุณพ่อหมดพลัง พวกเขาจึงอยากมีเวลาสำหรับตัวเองและหันกลับมาดูแลตัวเองบ้าง
สิ่งที่แบรนด์ต้องทำหากหวังให้คุณพ่อเลือก
เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าของแบรนด์จะได้ดึงดูดใจเหล่าคุณพ่อได้ ผู้ประกอบการอาจต้องทำงานมากขึ้นอีกหน่อยไปกับสิ่งเหล่านี้
- หารูปแบบการช้อปของคุณพ่อ ทำวิจัยเพื่อแยกความแตกต่างของพฤติกรรมการซื้อของเหล่าคุณพ่อที่แตกต่างจากผู้บริโภคทั่วไป จะช่วยให้ออกแบบวิธีการออกแบบการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ได้ รวมไปถึงวิธีการจัดรูปแบบร้านค้าให้เอื้อต่อการเลือกซื้อสินค้าของคุณพ่อบ้านโดยไม่กระทบกับผู้บริโภคอื่นๆ ซึ่งรวมถึงเหล่าแม่บ้านด้วย
- หาว่าสินค้าสำหรับผู้ชายชนิดไหนที่ควรมาอยู่ใกล้กับสินค้าสำหรับเด็ก จากการศึกษาการจัดวางสินค้าในร้านค้า แผนกเบียร์ควรอยู่ใกล้กับแผนกผ้าอ้อมเด็ก มีแนวโน้มว่าหลังจากซื้อผ้าอ้อมพวกเขาจะซื้อเบียร์ถึง 6 แพ็ก เพราะคุณพ่อที่เครียดกับการเลี้ยวลูกอาจกำลังต้องการผ่อนคลายสักหน่อย
- ตระหนักถึงความเป็น “พ่อ” มีแนวโน้มว่าเหล่าคุณพ่อจะจำได้ว่าแบรนด์ไหนให้ความสำคัญกับพวกเขา แบรนด์อาจใช้ทำแคมเปญ วันช้อปคุณพ่อ พร้อมเสนอโปรโมชันสำหรับคุณพ่อที่พาลูกมาด้วย วิธีนี้อาจสร้างยอดขายเพิ่มก็ได้
- อย่าลืมกลุ่มคุณแม่ เมื่อจะมัดใจคุณพ่อก็อย่ามองข้ามคุณแม่ แม้จะมีผู้ชายเข้ามาซื้อสินค้าในร้านมากขึ้น แต่ผู้หญิงก็ยังมีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์อยู่ดี
SME เห็นเทรนด์นี้ก็ลองไปปรับใช้กับการวางกลยุทธ์ธุรกิจของคุณดู ไม่แน่ว่าอาจได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ มาเติมรายได้เข้ากระเป๋าได้มากกว่าเดิมก็ได้นะ
ที่มา : Forbes
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี