PHOTO : เจษฎา ยอดสุรางค์
Main Idea
- Mini Rice Cracker เป็นแบรนด์ SME ที่ส่งออกไปยัง 7 ประเทศได้ภายในระยะเวลาเพียงครึ่งปี วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำเคียงข้างแบรนด์ระดับโลก และสร้างรายได้สูงถึงเดือนละหลักล้านบาท
- ความสำเร็จนั้นไม่ได้มาโดยง่าย แต่เกิดจากการเตรียมพร้อมอย่างรอบด้าน ทั้งผลิตภัณฑ์ การตลาด กฎหมาย และการหาพันธมิตรที่พร้อมก้าวไปด้วยกัน
หนึ่งในความฝันของผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยคือ “การส่งออก” เพราะนั่นหมายถึงโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับ “กอล์ฟ-ณัฐกิตติ์ จิตต์ปราณีชัย” กรรมการผู้จัดกา บริษัท ไทยยังเกอร์ฟาร์ม จำกัด ที่เขาตั้งเป้าหมายส่งออกสินค้าอาหารไทยๆ ไป “จีน” เป็นประเทศแรกหลังจากได้ไปใช้ชีวิตนักศึกษาที่นั่น จนถึงตอนนี้เขาไปไกลกว่าเป้านั้นแล้ว เมื่อ “Mini Rice Cracker” แบรนด์ที่ปลุกปั้นมา สามารถปักหลักวางขายได้ใน 7 ประเทศ คือ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า เวียดนาม สิงคโปร์ และกัมพูชา
ทว่ากว่าที่จะไปถึงจุดนั้นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาผ่านการคิด ลงมือทำ และเตรียมพร้อมในหลายๆ ด้าน และนี่คือ 7 ขั้นตอนการเตรียมตัวเพื่อการส่งออกของเขาคนนี้
- หาสินค้าที่ตรงกับแพสชัน
ตอนที่เป็นนักเรียนไทยที่ไปเรียนภาษาที่ประเทศจีน “ณัฐกิตติ์” สังเกตเห็นสินค้าไทยไม่ว่าจะเป็น ข้าวสาร มาม่า หรือสาหร่ายแบรนด์ดังก็ต่างขายในราคาไม่ต่างจากที่เมืองไทย จึงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะเพิ่มมูลค่าสินค้าไทยให้สามารถขายได้ราคามากกว่านั้น ในปี 2560 สร้างโรงงานเล็กๆ แปรรูป “ข้าวไทย” เป็นข้าวแต๋นเพื่อการส่งออก พัฒนาให้แตกต่างจากข้าวแต๋นแบบดั้งเดิมโดยจับปรุงรสเสียใหม่ด้วยรสชาติยอดนิยมของชาวอาเซียนอย่าง หม่าล่า ไข่เค็ม และวาซาบิสาหร่าย
2. สำรวจคู่แข่งในประเทศเป้าหมาย
หลังจากตัดสินใจเรื่องสินค้าแล้ว ขั้นต่อมาต้องสำรวจตลาดในต่างประเทศว่ามีสินค้าประเภทเดียวกันวางขายอยู่หรือไม่ มีลักษณะอย่างไร ราคาเท่าไร หาซื้อได้ที่ไหน แล้วแบรนด์ใหม่มีโอกาสที่จะเข้าไปเติมเต็มในตลาดนั้นหรือไม่
“ที่ไต้หวัน สินค้าส่วนใหญ่ที่วางเป็นสินค้าจากญี่ปุ่น แต่เราเป็นแบรนด์ rice cracker แบรนด์เดียวจากไทยที่เข้าไปสู้กับเขาได้ เพราะสินค้าเราต่าง ข้าวไทยไม่เหมือนข้าวญี่ปุ่น รสชาติและรสสัมผัสต่างกัน กลายเป็นช่องว่างที่ทำให้เราไปเติมเต็มบนชั้นวางได้ เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น”
3. วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดแต่ละประเทศ
สำรวจว่าคนในแต่ละประเทศชอบอะไร รสชาติอย่างไร แล้วมาปรับปรุงสินค้าให้เหมาะสมกับตลาดนั้นๆ Mini Rice Cracker จึงพัฒนารสชาติที่ถูกปากคนในประเทศต่างๆ ให้อร่อยในราคาที่จับต้องได้ รวมถึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตรงกับรสนิยมของผู้บริโภค
4. ศึกษาเรื่องภาษีและกฎหมายการนำเข้าในแต่ละประเทศ
การส่งออกไปแต่ละประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำการบ้านเรื่องภาษีและกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งจะส่งผลถึงต้นทุนของสินค้า ไปจนถึงการตัดสินใจของผู้นำเข้า
“ถ้าเราผลิตสินค้าที่ปลอดภาษีเราก็มีโอกาสส่งออกได้ง่ายมากขึ้น อย่างเช่น ผู้นำเข้าเขาจะตัดสินใจจากสินค้านั้นๆ ไปทำตลาดในประเทศเขาได้หรือไม่ สินค้าของเราเป็นสินค้าประเภทข้าวแปรรูปออกมาเป็นขนม ส่งไปที่ประเทศจีนเราก็ไม่เสียภาษี บางสินค้าที่ไม่ได้อยู่ใน FTA อาจต้องโดนภาษีถึง 20 เปอร์เซ็นต์ คนนำเข้าก็ตัดสินใจยากขึ้นเพราะต้องคิดว่าจะสามารถทำราคาแข่งขันกับสินค้าในประเทศเขาได้ไหม”
5. ลุยออกบู๊ธเพื่อฟังเสียงจากลูกค้าตัวจริง
เมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงโจทย์แล้ว ต้องทดสอบตลาดจริงเพราะผู้ผลิตไม่มีทางรู้ว่าสินค้าจะดีหรือไม่ตราบใดที่ไม่เจอลูกค้าตัวจริง ณัฐกิตติ์เน้นย้ำว่าควรไปออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศบ่อยๆ แม้บางครั้งไม่ได้ยอดขาย แต่อาจจะได้ภาพลักษณ์เพื่อนำไปเสนอกับตัวแทนจำหน่าย เพราะงานแสดงสินค้ามีหลายประเภท เช่น งานเพื่อขาย งานเพื่อโปรโมท และงานเพื่อจับคู่พันธมิตรธุรกิจ
6. เลือกพันธมิตรผู้นำเข้าสินค้า
ปัจจัยสำคัญที่พาสินค้าเข้าสู่ตลาดในแต่ละประเทศได้คือตัวแทนจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ดูแลตั้งแต่การนำเข้า จัดจำหน่าย สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก สื่อสารการตลาด ไปจนถึงการประสานงานกับฝ่ายจัดซื้อของแต่ละช่องทางการจัดจำหน่าย
ตัวแทนจัดจำหน่ายที่ดีต้องมีความกระตือรือร้นเพราะว่าการเอาสินค้าไปขายต้องเจอปัญหาต่างๆ นาน ต้องมีการสื่อสาร พูดคุยและช่วยกันแก้ปัญหา ในขณะที่แบรนด์จะต้องมีการทำสื่อโฆษณาที่ผู้นำเข้าต้องการเพื่อให้เขานำไปใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด
7. ควบคุมคุณภาพของสินค้าและแพ็กเกจจิ้ง
สินค้าจะส่งออกไปยังต่างประเทศได้ต้องเป็นสินค้าที่ดีและมีอายุที่ยาวนานมากพอ จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องใส่ใจคุณภาพสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าจากประเทศไทยเสียชื่อเสียง
และนี่คือ 7 วิธี ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำไปใช้ได้ เพื่อก้าวสู่ตลาดโลก ได้อย่างแข็งแกร่งเหมือน Mini Rice Cracker
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี