Main Idea
- เมื่อไรไวรัสจะสงบ เมื่อไรจะได้ไปออกงานแสดงสินค้า บายเออร์ต่างประเทศจะได้แวะเวียนมาดูคอลเล็กชั่นใหม่ของเราได้ ถ้าโควิด-19 ยังไม่ซา หรืออนาคตจะมีวิกฤตใดเข้ามาอีก SME จะใช้เวทีไหนเป็นช่องทางเข้าหาลูกค้าตัวจริง และจำนวนมากๆ เหมือนการออกอีเวนต์ใหญ่ๆ แบบที่ผ่านมาได้
- ได้เวลาปลดล็อกทุกอุปสรรค สกัดวิกฤตในอนาคต ด้วยงานแสดงสินค้า การจัดนิทรรศการ งานประชุมสัมมนา และสารพัดอีเวนต์ในรูปแบบเสมือนจริงหรือที่เรียก “Virtual” เทรนด์แห่งอนาคตที่มาถึงเร็วขึ้นเพราะโควิด ซึ่งสามารถประหยัดต้นทุนการจัดงานลงได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาจัดงานเร็วขึ้น ที่สำคัญยังช่วยให้ SME เข้าถึงลูกค้าตัวจริงได้มากขึ้นอีกด้วย
ไวรัสโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างไปจากเดิม เปลี่ยนสิ่งปกติในอดีตให้เป็นวิถีปกติใหม่หรือที่
เรียกว่า New Normal ในหลายๆ อุตสาหกรรม แม้แต่ในโลกของอุตสาหกรรมไมซ์ หรืออีเวนต์ ไม่ว่าจะการจัดงานแสดงสินค้า งานนิทรรศการ ตลอดจนงานประชุมสัมมนา อย่างที่ผู้ประกอบการ SME คุ้นเคยดี
เมื่อการจัดงานขนาดใหญ่เริ่มมีข้อจำกัด ไม่สามารถให้คนมารวมตัวกันในปริมาณมากๆ ได้ มีมาตรการเว้น
ระยะห่าง (Social Distancing) ขณะที่สถานการณ์การระบาดในบางประเทศยังไม่คลี่คลาย ส่งผลต่อการเลื่อนหรือยกเลิกการจัดงานแสดงสินค้า ขาดโอกาสพบปะบายเออร์ต่างประเทศ แม้วันนี้งานต่างๆ จะเริ่มกลับมาจัดได้บ้างแล้ว แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัด และข้อจำกัดนี้เองที่กระทบกับจำนวนยอดผู้เข้าชมโดยตรง ส่งผลต่อผู้ประกอบการที่ไปออกบูธในงานต่างๆ ตามไปด้วย
ผู้ประกอบการหลายคนเลยได้กลับมาถกคิดว่า เมื่อไรโควิดจะซา เมื่อไรงานแสดงสินค้าจะกลับมาคึกคักเหมือนในอดีตอีกครั้ง และก็อดตั้งคำถามต่อไปไม่ได้ว่า ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต แล้วจะใช้เวทีไหนเป็นช่องทางเข้าหาลูกค้าตัวจริงในจำนวนมากๆ เหมือนการออกอีเวนต์ใหญ่ๆ แบบที่ผ่านมาได้
เมื่องานแสดงสินค้าจะย้ายจากงาน On Ground เข้าสู่โลก Virtual
หนึ่งในเทรนด์ที่เข้ามาปลดล็อกการจัดงานในยุค New Normal คือ การจัดงานเสมือนจริงที่สามารถทำควบคู่ไปกับการจัดอีเวนต์รูปแบบปกติได้ ไม่ว่าจะเป็น Virtual Trade Fair , Virtual Trade Show หรือแม้แต่การประชุมสัมมนาต่างๆ ก็สามารถจัดในรูปแบบของ Virtual ได้
“กัมพล นิสิตสุขเจริญ” กรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด ผู้ก่อตั้ง VIRTUAL SOLUTION ที่กำลังทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมไมซ์จากออนกราวด์เข้าสู่โลกออนไลน์ และเชื่อมต่อการจัดงานทั้งสองโลกในรูปแบบ Hybrid เพื่อเป็นโซลูชั่นที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการซึ่งมาร่วมงานแสดงสินค้า สามารถทำยอดขายได้มากขึ้น
“การจัดงานในรูปแบบ Virtual จะเป็นเทรนด์ของการจัดงานแสดงสินค้า งานอีเวนต์ และงานประชุมสัมมนาในอนาคตที่จะมาเป็นอีกทางเลือกให้กับลูกค้า และทลายทุกข้อจำกัดของอุตสาหกรรมอีเวนต์ในอนาคตอันใกล้นี้”
เขาบอกสิ่งที่จะเกิดขึ้น ระหว่างเปิดตัว VIRTUAL SOLUTION แพลตฟอร์มที่ให้บริการการจัดอีเวนต์-งานนิทรรศการเสมือนจริงแบบครบวงจร พร้อมทีมโฆษณาประชาสัมพันธ์และการตลาด รวมถึงการใช้ Data Technology มาต่อยอดพัฒนาแบรนด์และสร้างยอดขายให้ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์นักการตลาด ธุรกิจ และลูกค้า ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์งานออกแบบและนวัตกรรมระดับโลก ในรูปแบบ Creative Event, Theme Park, Exhibition และ Museum แบบครบวงจร กับ บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการด้านการตลาดดิจิทัล พร้อมด้วย วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยประเดิมงานแรกคือ Motor Show ครั้งที่ 41 ซึ่งจะสร้างปรากฎการณ์ใหม่กลางเดือนนี้
“ยกตัวอย่าง โดยปกติหน่วยงานต่างๆ ที่เดินทางไปออกบูธต่างประเทศ ก็สามารถนำสินค้าและบริการของคนไทยไปได้ซัก 20-40 รายเท่านั้น ไปถึงก็ต้องเสียค่าเดินทาง ต้องไปสร้างบูธก็มีค่าใช้จ่าย ลองนึกภาพว่า เมื่อไหร่เป็นการจัดงานในรูปแบบ Virtual เราสามารถที่จะจัดงานออนไลน์ ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องแค่ 20-40 รายแล้ว แต่เรานำเสนอเป็นหลายๆ ร้อยรายได้เลย แล้วกลุ่มลูกค้าเขาก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไหนเลย แต่สามารถเข้ามาดูสินค้าและบริการของเราได้ไม่ยาก นี่จะเป็นมิติใหม่ที่จะเกิดขึ้น”
ใช้ Big Data มาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เพิ่มแต้มต่อธุรกิจในอนาคต
หนึ่งในความน่าสนใจของการจัดงานในรูปแบบ Virtual สำหรับผู้ประกอบการที่ไปออกงาน คือ ความสามารถในการเก็บข้อมูล ค้นหาความสนใจของผู้เข้าชมงาน และรูปแบบของผู้บริโภคที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อบูธต่างๆ แล้วนำมาต่อยอดในการพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ ได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย ผ่านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data & Data Analytics) ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมีแต้มต่อทางการตลาดมากขึ้น
“ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า ให้ข้อมูลว่า กรณีที่มี Visitor หรือผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมงาน จะสามารถเก็บพฤติกรรมได้หมด แตกต่างจากการจัดงานแบบออนกราวด์ทั่วไป
“ถ้าเป็นการจัดการปกติเราจะเก็บพฤติกรรมลูกค้าได้ก็เมื่อเขาเข้ามามีคอนแทคกับเรา มีการลงทะเบียน ซึ่งน้อยมากที่เราจะได้ข้อมูลจากตรงนั้น แต่การจัดงานในลักษณะนี้ เราเรียกว่าเป็นระบบ Smart Data ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่าใครเข้ามาชมบ้าง พอเข้ามาก็จะรู้ได้ทันทีว่า เขาดูอะไรบ้าง เข้าเวลาไหน ใช้เวลากับบูธเรากี่นาที สนใจสินค้าอะไรบ้าง บางทีเรายังจับได้อีกว่า เขาดูของเราแล้วไปดูของคู่แข่งอะไรบ้างด้วย
สิ่งที่ดีไปกว่านั้นคือ ปกติถ้าเป็นงานออนกราวด์ จบงานก็คือจบเลย แต่ของเราเนื่องจากเราเก็บ Data เรารู้จักเขาแล้วดังนั้นเมื่อจบงานยังสามารถที่จะรีคอนเน็กกับเขาได้ ภาษาการตลาดเรียกว่า การทำรีมาร์เก็ตติ้ง โดยเราสามารถทำโฆษณาออนไลน์ เพื่อเอาสินค้าเราที่รู้อยู่แล้วว่าเขาสนใจไปถึงเขาได้เลย เรื่องนี้สำคัญมากเพราะยุคนี้เป็นยุคของ Big Data จริงๆ”
โอกาสของผู้จัดงานขนาดเล็ก
ในอดีตคนที่จะลุกมาจัดงานแสดงสินค้าได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง โดยเฉพาะค่าเช่าสถานที่ ค่าบริหารจัดการ การออกแบบโครงสร้าง แม้แต่เม็ดเงินที่ต้องจ่ายให้กับการตลาดและประชาสัมพันธ์ แต่การจัดงานในรูปแบบเสมือนจะเข้ามาแก้ปัญหานี้ เพราะช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการจัดงานลดลงถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ และสามารถจัดงานได้เร็วขึ้น ประหยัดเวลาในการจัดลงเกินกว่าครึ่ง
“รูปแบบของการจัดงานสามารถจะสร้างสรรค์ได้แบบไม่มีขีดจำกัด ตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรม เป็นการเสริมโอกาสใหม่ขึ้นมาด้วย จากเดิมเราอาจจะคิดว่ามันจะมีอยู่แค่บางธุรกิจที่ต้องค่อนข้างใหญ่ที่จะมีงบประมาณในการจัดงานขนาดนี้ได้ แต่ตอนนี้เพราะมันเป็นโลก Virtual ค่าใช้จ่ายในการจัดจึงลดลง แต่ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผมยังมองเห็นโอกาสสำหรับธุรกิจใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผมอาจจะจัดงานกระต่าย Expo สำหรับคนที่รักกระต่ายโดยเฉพาะ เป็นตลาดเฉพาะกลุ่มจริงๆ ซึ่งเดิมมันจะไม่มีทางจัดได้เลย ต้องไปเช่าฮอลล์ก็ไม่คุ้มแล้ว เพราะฮอลล์ใหญ่เป็น พันตารางเมตร เราต้องการเช่าเล็กๆ เขาก็ไม่อยากให้เช่า และเช่าฮอลล์ครั้งหนึ่งใช้เงินค่อนข้างเยอะมากนะ แต่การเป็น Virtual ค่าใช้จ่ายลดลง และยังสามารถประหยัดเวลาในการจัดลงได้เกินกว่าครึ่งอีกด้วย”
ธนพล บอก ก่อนจะแสดงความเห็นว่า เขาไม่คิดว่าการจัดงานแสดงสินค้าแบบ Virtual จะเข้ามาฆ่าอีเวนต์ออนกราวด์รูปแบบเดิมแต่อย่างใด ทว่าจะเป็นลักษณะของการผสมผสานหรือ Hybrid มากกว่า โดยจะเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกันเพราะเชื่อว่าคนกลุ่มหนึ่งยังต้องการที่จะมาเดินงานแสดงสินค้า ขณะที่บางคนอาจมีข้อจำกัด เช่น อยู่ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศไกลๆ ตลอดจนผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพ ไม่สะดวกเดินทางมาร่วมงาน ก็สามารถเข้าชมในแบบเสมือนจริงได้ จึงมองว่าจะมาช่วยเติมเต็มในธุรกิจที่มีอยู่เดิม และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดงานได้ดีมากขึ้น
“ต้องบอกว่าการจัดงานในรูปแบบนี้ ช่วยผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา และประหยัดแม้กระทั่งในเรื่องของการบริหารจัดการเวลาไปออกบูธ ไม่ต้องหาคนก่อสร้าง หาคนมาจัดกิจกรรมในงาน ตรงนี้ช่วยประหยัดลงไปได้หมดเพราะเป็นออนไลน์ สิ่งที่ได้กลับมาแน่นอนคือผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ Return on Investment (ROI) มันจะเพิ่มขึ้นทันที เพราะคุณต้นทุนต่ำ ผลตอบแทนมันสูงขึ้นโดยพื้นฐานอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเพิ่มคนดูงานมากขึ้นแบบทวีคูณ เปิดโอกาสให้ธุรกิจอย่างไร้ขีดจำกัด เราอยากจะขายคนจีน อาเซียนหรืออเมริกา สามารถจัดได้เลยโดยไม่ต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้น นี่จะเป็นเครื่องมือการตลาดที่ช่วยธุรกิจยุคนี้ได้”
ตัวอย่างของการจัดงานที่ผสมผสานระหว่างออนกราวด์และออนไลน์ที่จะจัดขึ้นเร็วๆ นี้ เช่น Virtual Design Nation Fair 2020, งาน Virtual Architect Forum โดยร่วมกับสภาสถาปนิก, งาน Virtual Architect Expo ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, งาน Virtual AIC Forum ( Agritech and Innovation Center) โดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม ซึ่งเป็นงานประชุมแบบ Virtual Conference ขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ ผ่านทาง VIRTUAL SOLUTION ซึ่ง SME ที่สนใจสามารถไปติดตามการจัดงานรูปแบบใหม่นี้ได้
ผู้ประกอบการหลายราย ฝากความหวังไว้กับงานแสดงสินค้าระดับประเทศ ไม่ก็ลงทุนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อร่วมออกบูธในงานแสดงสินค้าระดับโลก โดยหวังว่านั่นจะเป็นประตูสู่โอกาสที่จะทำให้พวกเขาเข้าถึงลูกค้าตัวจริงได้ ในวันที่โลกทั้งใบเคลื่อนสู่ New Normal การมาถึงของงานแสดงสินค้าและอีเวนต์ต่างๆ ในรูปแบบเสมือนจริง ก็อาจเป็นคำตอบที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยไปสู่เป้าหมายนั้นได้ ง่าย ถูก และเร็วขึ้น แม้ต้องเจอเผชิญกับโจทย์ใหญ่ที่หนักหนากว่าวิกฤตไวรัสในอนาคต
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี