รู้จักแบรนด์ Mullika สินค้าโอทอปธรรมดาๆ ที่เอา IoT มาทำให้ว้าว!

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • นี่คือสินค้าโอทอปแฮนด์เมด ตุ๊กตาผ้าน่ารักน่าชัง มีชื่อเรียก มีเรื่องเล่า มีความใส่ใจรายละเอียดในทุกขั้นตอนของการทำ แต่ที่ว้าว! ไปกว่านั้นคือ มีการฝัง IoT เปลี่ยนตุ๊กตุ่นธรรมดาๆ ให้กลายเป็นตุ๊กตาพูดได้
 
  • นวัตกรรมที่ว่านี้ไม่ได้ทำมาเพื่อให้เด็กเล่น แต่เป็นตุ๊กตาช่วยคลายเหงาของผู้สูงวัย โดยมีการบันทึกเสียงบุคคลในบ้านเพื่อแจ้งเวลา แจ้งเตือน และโต้ตอบพื้นฐาน ตลอดจนเป็นอุปกรณ์สื่อสารระยะไกลภายในครอบครัวผ่านเทคโนโลยี IoT ในอนาคตอีกด้วย




     พ่อพอเพียง แม่พอใจ มีลูกชื่อน้องนำโชค และน้องโชคดี กับเพื่อนๆ น้องถุงเงิน น้องถุงทอง และน้องทองพูน คือตัวอย่างสมาชิกร่วมแก๊งของ “แบรนด์ Mullika” (มัลลิกา) ตุ๊กตาแฮนด์เมด ผลิตภัณฑ์โอทอป 5 ดาว ของ จ.สุพรรณบุรี ที่ตั้งไข่มาตั้งแต่ปี 2557






      คนที่ทำให้แบรนด์เล็กๆ นี้ถือกำเนิดขึ้น คืออดีตพยาบาลที่ออกจากงานมาเป็นผู้ประกอบการ เธอชื่อ “มัลลิกา สงเคราะห์” เจ้าของร้าน มัลลิกา กิ๊ฟชอป เธอชอบงานประดิษฐ์ งานแฮนด์เมดจึงใช้ฝีมือที่มีดีไซน์ตุ๊กตาออกมาให้น่ารักน่าชัง โดยทำจากผ้าหลากหลายชนิด ทั้งผ้ายีนส์ ผ้าไหม ผ้าฝ้ายทอมือ ฯลฯ ส่วนคนที่ให้ชีวิต สร้างเรื่องราวให้กับพวกมันก็คือ “จิตราพร อุดมก้านตรง” ผู้เขียนนิทานตุ๊กตา “ทุ่งหญ้า ภูผา ป่าใหญ่” บอกเล่าที่มาและคาแรคเตอร์ของแต่ละตัว






      ทั้งสองคนคือผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์โอทอปที่ไม่ธรรมดาแบรนด์นี้
 






      ตุ๊กตาผ้าโอทอป 5 ดาว



       “แบรนด์ Mullika” เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2557 ในปีเดียวกันนั้นเอง พวกเขาก็เข้าสมัครเข้าเป็นสมาชิกโอทอปของ จ.สุพรรณบุรี ด้วยเหตุผลง่ายๆ แค่ อยากจะมีโอกาสไปออกงานโอทอป จะได้มีพื้นที่โปรโมทตัวเองให้เป็นที่รู้จักอย่างเขาบ้าง และทันทีที่ได้เข้าเป็นสมาชิก สิ่งแรกๆ ที่เริ่มทำ ก็คือพยายามนำพาสินค้าไปให้ได้มาตรฐานต่างๆ ไม่ใช่แค่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เหมือนที่โอทอปส่วนใหญ่มีเท่านั้น แต่ยังรวมถึง มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และ ตราสัญลักษณ์ G (Green Production)  ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย


       “ตอนที่อ่านเอกสารใบสมัครก็เข้าใจแล้วว่า การเป็นโอทอปไม่ใช่แค่มีตัวสินค้าเท่านั้น แต่มันต้องมีมาตรฐาน มีโน่นนี่นั่นหลายอย่าง และเราต้องพัฒนาตัวเราเองในระดับหนึ่ง ด้วยความที่เราเป็นตุ๊กตา ต้องมีมาตรฐานบังคับอยู่หลายตัว ต้องใช้มาตรฐานมอก. ไม่ใช่แค่ มผช. เท่านั้น ตอนนั้นก็แอบคิดว่าเราแค่ทำตุ๊กตาต้องขนาดนี้เลยเหรอ แต่ก็คิดว่าสมัยเราทำงานเรายังทำให้องค์กรได้เลย นี่เป็นงานที่เราทำเองกับมือทุกขั้นตอนด้วยซ้ำ เราก็รู้นี่ว่าเป็นยังไง เลยเปลี่ยนความคิดใหม่และทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานของเขา เดินเข้าไปขอให้หน่วยงานมาตรวจสอบ ซึ่งใช้เวลาถึง 3 เดือน แต่สุดท้ายเราก็ผ่าน จากนั้นมาก็เลยเข้าใจว่า สินค้าโอทอปนั้นขึ้นอยู่กับตัวเรา และหน่วยงานที่สนับสนุน สองส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน จะหวังพึ่งแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ตัวเราต้องแอคทีฟเองด้วย”


       การทำตัวเองให้มีมาตรฐานตั้งแต่ต้น และใส่ใจในกระบวนการผลิตอย่างดียิ่ง บวกการออกแบบดีไซน์ที่มีความหลากหลายและสร้างสรรค์อยู่เสมอ ทำให้ในปี 2558 แบรนด์ Mullika ได้รับการคัดสรรเป็นโอทอป 4 ดาว และในครั้งล่าสุดปี 2562 ได้รับการคัดสรรเป็นโอทอป 5 ดาว สะท้อนความไม่ธรรมดาของผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างพวกเขา
 






      ทุกคาแรคเตอร์ล้วนมีเรื่องราวอยู่ในนั้น



       ตุ๊กตาในแบรนด์ Mullika ไม่ได้มีเพียงชื่อเรียก แต่พวกเขาจริงจังขนาดแต่งนิทานขึ้นมาเพื่อสร้างชีวิตให้กับน้องๆ ชื่อนิทานตุ๊กตา “ทุ่งหญ้า ภูผา ป่าใหญ่” ดำเนินเรื่องโดย “น้องหยอง” ซึ่งเป็นมนุษย์เด็ก กับเพื่อนๆ สารพัดสัตว์รอบตัว สะท้อนมิตรภาพน่ารักๆ เพิ่มระดับความหลงรักในคาแรคเตอร์แต่ละตัวได้มากขึ้น


       “ในโอทอปเองเขาก็พูดถึงเรื่องสตอรี่ ทีนี่ตุ๊กตาจะเป็นสตอรี่ยังไงดี ถ้าเล่าความเป็นมาก็คงเหมือนๆ กัน พื้นๆ พี่อ้อย (จิตราพร) แกเลยเขียนเป็นนิทานขึ้นมา ชื่อ ‘ทุ่งหญ้า ภูผา ป่าใหญ่’ ซึ่งเป็นภูมิประเทศของ จ.สุพรรณ ที่มีทั้งทุ่งนา มีทั้งอุทยานแห่งชาติ สัตว์ต่างๆ ที่เราทำเป็นตุ๊กตาก็จะอยู่ในนิทานเรื่องนี้ทั้งหมด และมีชื่อทุกตัว อย่างครอบครัวควาย ก็ชื่อ พ่อพอเพียง แม่พอใจ ลูกชื่อน้องนำโชค น้องโชคดี อะไรอย่างนี้ ส่วนแมวก็ชื่อน้องถุงเงิน น้องถุงทอง บางครั้งเราผลิตตุ๊กตาออกมาแล้วแต่ยังไม่ทันตั้งชื่อ ก็อาศัยให้ลูกค้าช่วยกันตั้งให้ อย่างน้องแมวทองพูน ก็เป็นลูกค้าเด็กที่มากับผู้ปกครอง เห็นเขาชอบแมว เลยบอกว่าตัวนี้ยังไม่มีชื่อเลยช่วยตั้งให้หน่อย น้องถามว่าแล้วเพื่อนแมวสองตัวนี้ล่ะชื่ออะไร เลยบอกว่าชื่อถุงเงินกับถุงทอง เหลือตัวนี้แหล่ะ เขาเลยบอกอย่างนั้นให้ชื่อ ทองพูน เราเลยเอามาใช้ตั้งแต่ตอนนั้น” เธอเล่าที่มาของตุ๊กตามีเรื่องเล่า


      ทำไมตุ๊กตาจะต้องมีสตอรี่ มัลลิกาบอกเราว่า ก็เหมือนเวลาเราดูการ์ตูน โดราเอมอน หรือหมีพูห์ พวกนี้คือนิทานทั้งนั้นแล้วก็ยาวนานต่อเนื่องกันมาตั้งแต่เรายังเป็นเด็กจนถึงทุกวันนี้ เรายังจดจำได้ เพราะฉะนั้นมองว่าเมื่อเป็นนิทานจะมีความน่ารัก และสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นได้ดี ขณะที่เนื้อหาของนิทานก็ตั้งใจสื่อสารถึงการเกื้อกูลกันระหว่างคนกับฝูงสัตว์และสิ่งแวดล้อม เพื่อปลูกฝังสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้กับเด็กๆ ไปด้วย






       ปัจจุบันแบรนด์ Mullika มีคาแรคเตอร์อยู่หลายสิบชีวิต ในจำนวนนี้จดลิขสิทธิ์ไปแล้ว 26 แบบ และยังอยู่ในมืออีกกว่า 10 แบบ พร้อมที่จะต่อยอดเป็นโอกาสอีกมากในอนาคต


      แรงบันดาลใจครั้งใหม่ ทำตุ๊กตาเพื่อผู้สูงวัย


       หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ผลักดันให้คนทำตุ๊กตามองเห็นผลิตภัณฑ์ Mullika เปลี่ยนไป คือวันนี้มีคุณยายท่านหนึ่งเดินเข้ามาในบูธระหว่างออกงานแสดงสินค้า






       “มีเหตุการณ์หนึ่งที่ประทับใจมาก ตอนนั้นไปออกบูธกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ แล้วเจอผู้สูงอายุ ท่านหนึ่งอายุ 70 กว่าปีแล้ว ท่านมากับลูกสาว มาซื้อตุ๊กตาแมวน้องถุงทองตัวใหญ่ไซส์เกือบๆ 30 นิ้ว เป็นตุ๊กตายีนส์อย่างเท่เลย ด้วยความที่ตุ๊กตาตัวใหญ่ ทางเราเลยบอกว่าเดี๋ยวจะหิ้วไปส่งให้เอง หรือไม่ก็ฝากไว้ที่ร้านก่อนจะได้ไม่หนักเวลาต้องเดินซื้อของอย่างอื่น ปรากฏคุณยายหันไปดุลูกสาวเลยว่า จะฝากไว้ทำไม แล้วก็เอาไปกอด ไปหอม ไม่ให้ลูกสาวถือ จะถือเอง แถมยังจ่ายเงินซื้อเองทั้งที่ราคาก็เกือบๆ 3 พันบาท ซึ่งก็ไม่ได้ถูกด้วย แต่แกยอมควักเงินซื้อ มันเหมือนกับเป็นสิ่งที่พลัดพรากจากกันมานาน เหมือนเขาได้เจอกันแล้ว


        จากนั้นมาก็เลยเริ่มรู้สึกว่า ตุ๊กตาของเรามันคือเพื่อนสำหรับผู้สูงอายุ อย่างครั้งหนึ่งมีโอกาสไปเยี่ยมญาติที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง แล้วเคยให้ตุ๊กตาเขาไปนานมากแล้ว ปรากฎไปเห็นว่าเขาเอาตั้งไว้ที่หัวเตียง เวลาลูกหลานไม่อยู่ก็เอาตุ๊กตามานอนดู เขาบอกตามันแป๋วแหววเลย ได้คุยกับตุ๊กตาเขาไม่เหงา เห็นแล้วกระทบใจมาก เลยคิดว่าถ้ามีโอกาสอยากทำยังไงก็ได้ให้ตุ๊กตามีเสียงเพื่อสื่อสารกับผู้สูงอายุได้” มัลลิกาเล่าที่มาของแรงบันดาลใจ และพันธกิจใหม่ของตุ๊กตาแบรนด์ Mullika
 






      นวัตกรรม
IoT พลิกตุ๊กตาเป็นสินค้าสุดว้าว


       แล้วความฝันและความตั้งใจก็ไม่ไกลเกินเอื้อม เมื่อวันหนึ่งพวกเธอได้เห็นโฆษณา “โครงการชนชราแห่งอนาคต” (New Aged Citizens) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ที่ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจาก บริษัท FABLAB ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้กับการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์โอทอป


       “พอเห็นชื่อโครงการแล้วสนใจมากๆ เพราะตรงกับสิ่งที่อยากทำพอดี จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยให้โจทย์เขาไปว่า อยากทำตุ๊กตามีเสียง ไม่ต้องซับซ้อนอะไรมาก อยากได้แค่พอสื่อสารได้ เหมือนกับถึงเวลาทานยาก็ส่งเสียงเตือนได้ หรือได้ยินเสียงลูกหลานที่เขารักที่ไม่ได้อยู่ใกล้กัน ถึงเทศกาลก็ส่งเสียงมาบอกว่าคิดถึง อวยพรวันเกิด หรืออะไรแบบนี้ได้ เราเล่าความต้องการให้เขาฟัง เพราะความเชี่ยวชาญของเราคือทำตุ๊กตา แต่ไม่ได้มีความรู้ทางด้านไอที แต่เรารู้ว่าเทคโนโลยีมันทำให้สิ่งพวกนี้เกิดขึ้นได้ ด้วยความที่เป็นโครงการของสวทช. ด้วย จึงมั่นใจว่าเขาน่าจะตอบโจทย์เราได้”






       นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีระบบ Internet of Things หรือ IoT มาปรับใช้กับตุ๊กตาอัดเสียง ทำให้ได้โปรแกรมต้นแบบระบบอัดเสียงภายในตุ๊กตา สำหรับช่วยคลายเหงาและเป็นเพื่อนแก่ผู้สูงอายุ รับตลาด Aging Society โดยระบบอัดเสียงภายในตัวตุ๊กตาสามารถบันทึกเสียงบุคคลในบ้านเพื่อแจ้งเวลา แจ้งเตือน และโต้ตอบพื้นฐาน และในอนาคตสามารถที่จะใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารระยะไกลภายในครอบครัวผ่านเทคโนโลยีระบบ IoT ได้อีกด้วย เพื่อพัฒนาตุ๊กตาให้สามารถเชื่อมความสัมพันธ์คนในครอบครัว ช่วยคลายเหงา ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยได้อีกด้วย


       “วันนี้เราพัฒนาตัวต้นแบบซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่งแล้ว เพียงแต่ว่ามันต้องให้ระบบเสถียรกว่านี้อีกหน่อยถึงจะเริ่มทำตลาดได้ และเรื่องของราคาก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง คิดว่าถ้าอนาคตจำนวนผลิตเยอะขึ้น ราคาขายก็อาจจะทำให้ถูกลงกว่านี้ได้ แต่ถ้า ณ ตอนนี้บวกราคาตุ๊กตาเข้าไปด้วย มันก็น่าจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 3 พันบาท แน่นอนว่าลูกค้ากลุ่มหนึ่งอาจซื้อได้ แต่สำหรับกลุ่มที่เขาไม่มีจริงๆ เขาจะเข้าไม่ถึง ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น จริงๆ เราทำธุรกิจไม่ได้เป็นเรื่องการค้าเสียทั้งหมด เพราะว่าก็ผ่านการทำงานมาระดับหนึ่งแล้ว ตอนนี้แค่อยากตอบความสุขของตัวเอง และได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่นบ้าง จึงต้องการที่จะพัฒนาสินค้าของเราและทำให้ราคาถูกลงเพื่อเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นในอนาคต” เธอบอกความปรารถนา


       ในปัจจุบันตุ๊กตา IoT เพื่อผู้สูงวัยยังอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่ถ้าอยากได้สมาชิก Mullika มาสร้างความสุขให้กับตัวเองแล้วล่ะก็ พวกเขามีสินค้าตุ๊กตาที่ขายในราคาตั้งแต่ไม่ถึง 100 บาท (ตุ๊กตาพวงกุญแจ 95 บาท) ไปจนตุ๊กตาผ้ายีนส์เริ่มต้นที่ 250 บาท ส่วนสูงสุดทำได้ตามใจสั่ง โดยเคยทำตุ๊กตาไซส์ยักษ์ขนาดใกล้เคียงคนจริงมาแล้ว ขายที่ราคา 7 พันบาท ขณะที่การดีไซน์ก็มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ เช่น พ่อพอเพียงเวอร์ชันแยกชิ้นส่วนได้ ที่แขนใช้เป็นหมอนรองคอ ตัวซุกมือให้อุ่น ส่วนหมวก และผ้าพันคอ ก็ถอดใช้งานได้จริง คุ้มค่ากว่าแค่ความสุขทางใจที่จะได้จากตุ๊กตาเท่านั้น ใครสนใจก็สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://www.mullikahandmade.com/
 
  

      เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต คนทำตุ๊กตาบอกเราแค่ว่า อยากเติบโตไปแบบมีคุณค่าให้คนได้จดจำ  โดยหากลูกค้าเจอตุ๊กตา Mullika ที่ไหนก็ต้องมั่นใจได้ว่า จะได้ตุ๊กตาที่มีคุณภาพ คุ้มราคา มีคุณค่าทั้งรูปลักษณ์และจิตใจกลับไปอย่างแน่นอน


       “อย่างที่หลายคนบอกว่า ตุ๊กตาสื่อสารกับตัวเขาได้ มองเขาด้วยสายตาอ้อนวอน แพ้แววตา เพราะฉะนั้นแววตาตุ๊กตามันมีผลต่อจิตใจจริงๆ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีใครรู้สึกแบบนี้หรอกจริงไหม” มัลลิกาย้อนถามกลับมาแบบนั้น ซึ่งคนรักตุ๊กตาก็คงไม่มีใครปฏิเสธความจริงในข้อนี้


        โดยเฉพาะกับผู้สูงวัย แววตาของตุ๊กตายังมีความหมาย ช่วยคลายเหงา และในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยี IoT ก็จะทำให้พวกเขามีชีวิต และช่วยเหลือผู้คนได้มากกว่านี้ ซึ่งนั่นคือพันธกิจของคนทำตุ๊กตาอย่างพวกเขา
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน