ส่งออกเดือนเมษา! ตลาดไหนยังขยายตัวได้ สินค้าอะไรได้ไปต่อ





Main Idea
 
 
  • ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามมาด้วยมาตรการ Lockdown ของหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลถึงภาคการส่งออกของไทยที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง  
 
  • แต่ในสถานการณ์วิกฤต ยังมีบางตลาดและบางหมวดสินค้าที่ยังพอขยายตัวได้ดี และสัญญานบวกเหล่านี้จะเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนธุรกิจหลังจากนี้
 
  • EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกเดือนเมษายน 2563 ขยายตัวที่ 2.1 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ซึ่งสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ทองคำ, ยานพาหนะอื่นๆ (ส่วนใหญ่คือการส่งกลับอาวุธ), อากาศยานและส่วนประกอบ และข้าว ส่วนสินค้าส่งออกอุตสาหกรรมมีการหดตัวในระดับสูงจากมาตรการ Lockdown และปัญหา Supply Chain Disruption
___________________________________________________________________________________________
 

 
  • ส่งออกรวมเดือนเมษาขยายตัวที่ 2.1 เปอร์เซ็นต์
 

     จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่หลายประเทศดำเนินการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลกระทบสู่ภาคการส่งออกอย่างเลี่ยงไม่ได้ แล้วในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สถานการณ์การส่งออกของไทยเป็นอย่างไร มาร่วมจับตาเรื่องนี้ไปด้วยกัน 


 

     EIC (Economic Intelligence Center) โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินมูลค่าการส่งออกเดือนเมษายน 2563 ขยายตัวที่ 2.1 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ทองคำ, ยานพาหนะอื่นๆ (ส่วนใหญ่คือการส่งกลับอาวุธ), อากาศยานและส่วนประกอบ และข้าว ขณะที่สินค้าส่งออกอุตสาหกรรมสำคัญหลายประเภทยังมีการหดตัวในระดับสูง จากผลกระทบของมาตรการ Lockdown และปัญหา Supply Chain Disruption นั่นเอง 
การส่งออกทองขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 1,102.5 เปอร์เซ็นต์ (YOY) จากการที่ราคาทองอยู่ในระดับสูงและนักลงทุนอาจมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ โดยมีตลาดหลักคือ สวิตเซอร์แลนด์ ที่ 4,407.6 เปอร์เซ็นต์ (YOY), สิงคโปร์ อยู่ที่ 2,306.6 เปอร์เซ็นต์ (YOY) และฮ่องกง ที่ 3,870.5 เปอร์เซ็นต์ (YOY)


     ในส่วนสินค้ายานพาหนะอื่นๆ ขยายตัวมากถึง 1,263.2 เปอร์เซ็นต์ (YOY) โดยส่วนใหญ่มาจากการส่งกลับอาวุธไปยังสหรัฐฯ ต่อจากเดือนที่แล้ว โดยมีมูลค่าที่ประมาณ 560.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


     ด้านอากาศยานและส่วนประกอบขยายตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 584.6 เปอร์เซ็นต์ (YOY) หลังจากขยายตัว 1,129.2 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ในเดือนก่อนหน้า โดยมีตลาดหลักคือ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย


     ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ที่ 56.1 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ข้าว  อยู่ที่ 23.1 เปอร์เซ็นต์ (YOY) และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ที่ 14.2 เปอร์เซ็นต์ (YOY)


 
  • ตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอาเซียน 5 กลับมาขยายตัว

     แล้วตลาดไหนที่เริ่มกลับมาขยายตัว และส่งสัญญานที่ดีถึงผู้ประกอบการส่งออกไทย EIC  รายงานว่า การส่งออกไปจีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และอาเซียน 5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) ยังสามารถขยายตัวได้ 


     โดยส่งออกไปจีนพลิกกลับมาขยายตัวที่ 9.0 เปอร์เซ็นต์ (YOY) หลังจากหดตัวติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ, ยางพารา และเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ


     ด้านการส่งออกไปญี่ปุ่น ขยายตัวที่ 9.8 เปอร์เซ็นต์ (YOY) หลังจากหดตัวสูงถึง -2.8 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์, เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล


     การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ (ไม่รวมส่งกลับอาวุธ) ขยายตัว 8.5 เปอร์เซ็นต์ (YOY) แต่หากรวมการส่งกลับอาวุธ จะขยายตัวสูงถึง 34.6 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ทั้งนี้สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ข้าว และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ


     ขณะที่การส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) ขยายตัวสูงที่ 13.0 เปอร์เซ็นต์ (YOY) โดยสินค้าหลักที่ขยายตัวคือ อากาศยานและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และข้าว 



 
  • สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญยังหดตัวในระดับสูง

     อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญล้วนมีการหดตัวในระดับสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ที่ -53.8 เปอร์เซ็นต์ (YOY), เม็ดพลาสติก อยู่ที่ -20.9 เปอร์เซ็นต์ (YOY), เคมีภัณฑ์ ที่ -28.4 เปอร์เซ็นต์ (YOY) เครื่องใช้ไฟฟ้า หดตัวที่ -17.7 เปอร์เซ็นต์ (YOY) และเหล็กและผลิตภัณฑ์ หดตัวลงที่ -13.6 เปอร์เซ็นต์ (YOY) รวมถึงน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ -47.6 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ที่หดตัวตามราคาน้ำมันดิบ ขณะที่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวได้ที่ 4.6 เปอร์เซ็นต์ (YOY)


     สินค้าเกษตรสำคัญบางตัวยังหดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ยางพารา ที่ -20.7 เปอร์เซ็นต์ (YOY) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อยู่ที่ -6.7 เปอร์เซ็นต์ (YOY)


     โดยการส่งออกไปสหภาพยุโรป (15) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -28.7 เปอร์เซ็นต์ (YOY) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
ส่วนการส่งออกไปตลาด CLMV หดตัวสูงถึง -31.0 เปอร์เซ็นต์ (YOY) หลังจากขยายตัว 2.9 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ, น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ


     ด้านส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง หดตัวสูงถึง -25.3 เปอร์เซ็นต์ (YOY) โดยสินค้าหลักที่หดตัวคือ รถยนต์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์


 
  • ส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก 
 
     EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญปี 2563 มีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่เคยคาดไว้ แต่ตัวเลขส่งออกในภาพรวมอาจต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ -12.9 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากส่งออกทองและอาวุธที่มีมากในช่วงที่ผ่านมา โดยหากพิจารณาการส่งออกที่หักลบผลของทองและอาวุธ  ในช่วง 4 เดือนแรกของปี พบว่ามูลค่าการส่งออกหดตัวถึง -4.2 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ซึ่งเป็นอัตราหดตัวที่สอดคล้องกับที่ EIC เคยคาดไว้ อย่างไรก็ดี ในช่วง 4 เดือนแรก การส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 350 เปอร์เซ็นต์ (YOY) เช่นเดียวกับการส่งกลับอาวุธที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้มูลค่าการส่งออกรวมในช่วง 4 เดือนแรกยังขยายตัวได้ที่ 1.2 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ดังนั้น จึงทำให้ EIC คาดว่าการหดตัวของมูลค่าส่งออกโดยรวมทั้งปี 2563 อาจมีการหดตัวน้อยกว่าที่เคยคาดไว้


     ขณะที่การส่งออกในช่วง 1–2 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มหดตัวระดับสูง เนื่องจากตรงกับช่วง Lockdown 
ของหลายประเทศทั่วโลก โดยการหยุดชะงักของกิจกรรมเศรษฐกิจในหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการ
ปิดเมือง (Lockdown) ทำให้เกิดปัญหาด้าน Supply Chain Disruption ในระดับสูง โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือและอากาศ ภาวะการค้าโลกจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก สะท้อนจากการส่งออกของหลายประเทศสำคัญที่มีทิศทางหดตัวในระดับสูง  และจากเครื่องชี้ Leading Indicator ด้านการส่งออกในส่วนของ PMI: Export orders และ WTO trade barometer ยังให้ภาพที่ตรงกันว่า ในระยะข้างหน้า การส่งออกมีแนวโน้มลดลงในระดับสูงอย่างรวดเร็ว 




     การฟื้นตัวของภาคส่งออกมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้าๆ ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยจากคาดการณ์ของ IMF WEO เดือนเมษายน พบว่า ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป  และสุดท้ายจะมีระดับต่ำกว่าเส้นแนวโน้มเดิม (Trend) ด้วยเหตุนี้ ภาคส่งออกของไทยจึงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกในระยะถัดไปอาจได้รับปัจจัยบวกบางส่วนจาก Pending Demand ในช่วง Lockdown ที่เกิดปัญหา Supply Chain Disruption หลังจากที่มาตรการ Lockdown มีแนวโน้มผ่อนคลายในระยะถัดไป แต่ผลบวกที่เกิดจะเป็นแค่ในระยะสั้น และอาจมีขนาดเล็ก เนื่องจากความต้องการสินค้าส่งออกของไทยยังถูกกดดันด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา รวมถึงความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19


     ด้านราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกในภาพรวม เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกหลายประเภทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ  อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันดิบหดตัวในระดับสูงย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกในภาพรวม ซึ่งจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมปริมาณส่งออกสินค้าที่ลดลงอยู่แล้ว ทำให้มูลค่าส่งออกมีแนวโน้มหดตัวเพิ่มขึ้น




     นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากนโยบายของสหรัฐฯ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ได้ยื่นเรื่องให้พิจารณาเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Antidumping) กับยางล้อ (Passenger Vehicle and Light Truck Tires) ที่นำเข้าจาก เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และไทย โดยคาดว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จก่อนเดือนมิถุนายน ทั้งนี้สหรัฐฯ นำเข้ายางล้อจากไทยมากถึง 15.6 เปอร์เซ็นต์ ของการนำเข้าจากทั้งโลก และมีการเก็บภาษีในระดับสูงอยู่แล้วที่ 106.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากโดนภาษี Antidumping เพิ่มเติม จะทำให้อัตราภาษีจะสูงถึง 217.5 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของไทย การส่งออกสินค้ายางล้อไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนถึง 8.3 เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมด (หรือคิดเป็น 1.1 เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกรวมของไทย) โดยจะเห็นได้ว่ายางล้อนับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย หากทางการสหรัฐฯ มีมติปรับเพิ่มภาษีจริง ก็จะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อภาคส่งออกไทยในอนาคต
 

     นี่คือสถานการณ์ส่งออกของไทยในเดือนเมษายนที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเล่นงานเศรษฐกิจไปทั่วโลก การมีสัญญานขยายตัวของบางกลุ่มสินค้าและบางตลาดจึงยังพอเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้ประกอบการส่งออกไทยได้บ้าง ในการขับเคลื่อนธุรกิจหลังจากนี้ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พลังใจจะพาทุกคนข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน 
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน