นักช้อปไทยหลังไวรัส! ห่วงเรื่องการเงิน ราคามีผลต่อการซื้อ ช้อปออนไลน์มากขึ้น




Main Idea

 
  • วิกฤตไวรัสกำลังปรับเปลี่ยนอุปนิสัยและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวไทยไปจากเดิม โดยคนมีความกังวลเรื่องสุขภาพทางการเงินมากกว่าสุขภาพร่างกาย ปรับตัวและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเรื่องการเงินของตนเองมากขึ้น ราคามีผลต่อการตัดสินใจซื้อ
 
  • คนไทยจำนวนมากจับจ่ายใช้สอยผ่านทางอีคอมเมิร์ซเป็นครั้งแรก  และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นในอนาคต  โดย 67 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริโภคชาวไทย คิดว่าพวกเขาจะมีการซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้น 
 
  • คนไทย 61 เปอร์เซ็นต์ กำลังพัฒนานิสัยในการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด  โดยเลือกจ่ายด้วยบัตรชำระเงินหรือผ่านแอปบนสมาร์ทโฟนมากกว่าเงินสด  ขณะที่คนไทย 69 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มที่จะผูกติดกับการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลแทนการกลับไปใช้เงินสดแบบเดิมหลังสถานการณ์ปัจจุบันสิ้นสุดลง
 
 


     คิดจะดึงเงินออกจากกระเป๋าลูกค้ายุคนี้ไม่ง่าย!
               

     เมื่อผู้บริโภคชาวไทยเริ่มปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย หลังต้องเผชิญกับวิกฤตไวรัสตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยคนมีความกังวลเรื่องสุขภาพทางการเงินมากกว่าสุขภาพร่างกายด้วยซ้ำ ขณะที่ต่างตระหนักถึงการปรับตัวและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเรื่องการเงินของตนเองมากขึ้น
               




     ไปหาคำตอบเรื่องนี้ จาก “สุริพงษ์ ตันติยานนท์” ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ที่มาพร้อมผลการสำรวจเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนอุปนิสัยและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวไทย ในยุคที่สังคมทั่วโลกกำลังปรับตัวเข้าสู่ New Normal  หรือ วิถีชีวิตใหม่ ซึ่งวีซ่าทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างใน 40 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
 
  • คนไทยกังวลเรื่องสุขภาพการเงิน มากกว่ากลัวไวรัส

     วีซ่า รายงานว่า แม้ประชากรทั่วโลกมีความกังวลในเรื่องสุขภาพร่างกายหลังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่พบว่าผู้บริโภคชาวไทยและทั่วโลกกลับมีความกังวลด้านสุขภาพทางการเงินมากกว่า โดย 4 ใน 5  หรือ 79 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเห็นพ้องว่า สถานการณ์ปัจจุบันทำให้พวกเขาจำเป็นต้องมีการปฏิบัติตัวในเชิงรุกมากขึ้นกับการวางแผนด้านการเงิน  โดยมีคนประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 53 เปอร์เซ็นต์ ที่บ่งชี้ถึงความกังวลในเรื่องการเจ็บป่วย
 




 
  • ช้อปปิ้งออนไลน์มาแรง คนไทยช้อปเก่งติดอันดับโลก

     จากผลสำรวจพบว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมากเริ่มจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซเป็นครั้งแรก  และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้นในอนาคต  โดยจากผลการสำรวจพบว่า 67 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริโภคชาวไทย คิดว่าพวกเขาจะมีการซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้น  โดยเป็นจำนวนเกือบเท่าตัวของนักช้อปทั่วโลก (35 เปอร์เซ็นต์) และค่อนข้างจะมากกว่าค่าเฉลี่ย (47 เปอร์เซ็นต์) สำหรับนักช้อปในแถบเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย


     เมื่อพูดถึงประสบการณ์การช้อปปิ้ง มากกว่าครึ่ง หรือประมาณ 54 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มตัวอย่างชาวไทย กล่าวว่า การช้อปปิ้งออนไลน์ให้ประสบการณ์ที่ดีมากกว่าการช้อปปิ้ง ณ ร้านค้าแบบเดิม  เปรียบเทียบกับข้อมูล 46 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิก และ 37 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างทั่วโลก

 


 
  • ราคามีผลต่อการตัดสินใจซื้อ

     ผลสำรวจยังพบอีกว่า ผู้บริโภคมีการคำนึงในเรื่องของราคามากขึ้น  โดยเกือบ 4 ใน 5 หรือประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์ ของคนไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องราคามากยิ่งขึ้น  ซึ่งสูงกว่าผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก (59 เปอร์เซ็นต์) และทั่วโลก (53 เปอร์เซ็นต์)  นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยยังให้ความสนใจกับสินค้าลดราคา โดย 65 เปอร์เซ็นต์ จะพุ่งความสนใจไปที่สินค้าปรับลดราคาลง 
 
  • สังคมไร้เงินสดกำลังมา คนนิยมจ่ายแบบไม่ใช้เงินสดมากขึ้น

     จากการศึกษาครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า การเสริมสร้างนิสัยการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดกำลังก่อตัวขึ้นทั่วโลก  โดย 61 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างชาวไทย กล่าวว่า ชอบที่จะชำระด้วยวิธีที่ไม่ใช้เงินสดมากกว่า  ในทำนองเดียวกัน 58 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิก และ 64 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มตัวอย่างทั่วโลก กล่าวว่า พวกเขาชอบวิธีการชำระแบบไร้เงินสดมากกว่าเช่นเดียวกัน





     โดยแนวโน้มด้านการชำระเงินของผู้คนทั่วโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก โดยผู้บริโภคชาวไทย (69 เปอร์เซ็นต์) เอเชียแปซิฟิก (75 เปอร์เซ็นต์) และทั่วโลก (66 เปอร์เซ็นต์)  เลือกที่จะใช้วิธีการชำระแบบไร้เงินสดหลังจากสถานการณ์ในปัจจุบันสิ้นสุดลง


     ในทางตรงข้าม  มีเพียง 1 ใน 4 หรือประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริโภคชาวไทย ที่บอกว่า พวกเขาจะกลับไปชำระด้วยเงินสดอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น  เปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิก (17 เปอร์เซ็นต์) และทั่วโลก (20 เปอร์เซ็นต์)  โดยผู้บริโภคที่เหลือยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะยังคงเลือกชำระเงินด้วยวิธีแบบใหม่นี้หรือกลับไปใช้วิธีการแบบเดิม
 
          



     นี่คือสัญญานของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังการมาถึงของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่า SME ต้องปรับตัวรับมือ และพลิกกลยุทธ์เพื่อให้สามารถดึงเงินออกจากกระเป๋าลูกค้าได้ ในวันที่ลูกค้าใช้เงินยากขึ้น แม้จะยังมีหน้าร้านที่แข็งแกร่ง แต่ต้องมีตัวตนในโลกออนไลน์ด้วย รวมถึงปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เพื่อรับมือให้ทันในวันที่พฤติกรรมลูกค้าแปรเปลี่ยนนั่นเอง
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน