จับตาภาวะการแข่งขันของธุรกิจ Grocery store

 


    ภาพรวมค้าปลีกไทยในปัจจุบันยังคงให้ความนิยมกับโมเดลขนาดเล็กแบบร้านสะดวกซื้อ ในขณะที่โมเดลขนาดใหญ่ เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ตได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ และซุปเปอร์มาร์เก็ตมียอดขายต่อตารางเมตรลดลง การแข่งขันระหว่างโมเดลจึงทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้านธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการขยายข้าม segment การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าภายในร้านให้ตอบโจทย์มากขึ้น หรือการหารายได้อื่นๆ มาชดเชยการเติบโตยอดขายที่ช้าลง

    แม้ว่าตลาดค้าปลีกไทยยังเติบโตได้ดี แต่การก้าวเข้ามาแข่งขันในตลาดค้าปลีกนี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากผู้ประกอบการในตลาดนี้ต่างมีความแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญในตลาด อีกทั้งยังมีเงินทุนสูง  โดยทางเลือกหนึ่งในการลงทุนเพื่อเข้าตลาด คือ การเข้าซื้อกิจการ (M&A) การเข้ามาร่วมทุน (Joint Venture) ซึ่งอีไอซีมองว่าภาพการแข่งขันของตลาดนี้ต่อไปน่าจะเห็นดีลในอุตสาหกรรม Grocery Store มากขึ้น


 
    โมเดลขนาดเล็กอย่างร้านสะดวกซื้อยังเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด 

    ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2009-2013) ยอดขายของร้านสะดวกซื้อไทยนั้นเติบโตกว่า 14% ต่อปี ในขณะที่โมเดลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ตมียอดขายและสาขาเติบโตพอๆ กันที่เพียง 6% ต่อปีซึ่งช้ากว่าโมเดลขนาดเล็กอยู่มาก โดยปัจจัยสนับสนุนของโมเดลขนาดเล็กนั้นมาจากความนิยมของผู้บริโภคที่ชอบความสะดวกสบายมากขึ้น ผู้ประกอบการในตลาดค่อนข้างกระตือรือร้นในการทำโฆษณา เพิ่มความหลากหลายของสินค้า และลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างโมเดลซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อให้ลดลงโดยการเพิ่มอาหารพร้อมทานหรือแม้แต่อาหารปรุงสด ยิ่งทำให้ร้านสะดวกซื้อสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น 

    อย่างไรก็ตามการเปิดสาขาของโมเดลร้านสะดวกซื้อยังคงเติบโตที่เพียง 7% ต่อปี แสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ผู้ประกอบการหลายรายยังคงสามารถเพิ่มเติมการลงทุนในโมเดลขนาดเล็กแบบนี้ได้อีกมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นผู้ประกอบการจาก segment อื่นๆ เร่งขยายสาขาโมเดลร้านสะดวกซื้อกันอย่างคับคั่ง

 


    จับตามองซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ยอดขายต่อตารางเมตรไม่เติบโตเท่าที่ควร 

    ข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ที่เกิดกับไฮเปอร์มาร์เก็ตในด้านกฎหมายผังเมืองและการหาพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นไปได้ยากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายที่มีลักษณะเป็น multi-format ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจจากการเน้นขยายแต่ไฮเปอร์มาร์เก็ตมาเป็นการเน้นเพิ่มพื้นที่ขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตแทนเพื่อจะได้เพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่นำเสนอได้มากขึ้น

   จึงทำให้เห็นว่าพื้นที่ขายโดยรวมของซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้นเติบโตสูงที่ 8% ต่อปี ซึ่งเติบโตเร็วกว่าตัวจำนวนสาขาและยอดขาย ส่งผลให้ยอดขายต่อตารางเมตรของซุปเปอร์มาร์เก็ตเติบโตติดลบที่ 7% ต่อปี ถึงแม้ยอดขายต่อตารางเมตรของซุปเปอร์มาร์เก็ตยังสูงกว่าไฮเปอร์มาร์เก็ตอยู่ถึง 20% (ระหว่าง 117,000 บาทต่อตารางเมตรของไฮเปอร์มาร์เก็ต และ 141,000 บาทต่อตารางเมตรของซุปเปอร์มาร์เก็ต) ซึ่งเป็นผลจากการขายสินค้าพรีเมี่ยมและราคาสูงกว่า

   แต่ก็เป็นที่น่าจับตามองอย่างมากว่าถ้าผู้ประกอบการในกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ตยังเน้นขยายสาขาและขนาดของซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคที่หันไปชื่นชอบความสะดวกสบายและความเข้าถึงได้ง่าย โดยการปรับเปลี่ยนสินค้าที่นำเสนอให้ตอบโจทย์ในลักษณะของความสะดวกสบายและมีอาหารพร้อมทานมากขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้าและเพิ่มยอดขาย segment ซุปเปอร์มาร์เก็ตก็อาจจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในด้านยอดขายและผลกำไรมากที่สุด  
 


    โมเดล Cash & Carry ยังน่าสนใจลงทุนเพราะเติบโตตามกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมโรงแรม ร้านอาหาร และจัดเลี้ยง (Hotel Restaurant และ Catering หรือ HoReCa)  แต่ยังมีผู้เล่นในตลาดน้อยราย 

    โมเดล Cash & Carry นั้น นอกจากจะเติบโตได้ตามตลาด traditional trade ที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยแล้ว ยังคงมีอีกกลุ่มลูกค้าหลักคือกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจ HoReCa (Hotel Restaurant และ Catering) ที่เติบโตตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดประชุมต่างๆ ในไทย ภายใน 5 ปีที่ผ่านมานั้น ขนาดของอุตสาหกรรมการจัดประชุมต่างๆ (MICE) นั้นเติบโตกว่า 8% ซึ่งเติบโตเร็วกว่าตลาด grocery store ที่เติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปีเท่านั้น และเพราะมีตลาดขนาดใหญ่และยังเติบโตได้ทำให้ผู้ประกอบการให้ความสนใจลงทุนมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเซ็นทรัลที่หันมาเปิดร้านซูเปอร์คุ้ม และซูเปอร์คุ้มขายส่ง หรือบิ๊กซีเองที่เริ่มเปิดตัวบิ๊กซีจัมโบ้ เน้นขายส่งและลูกค้าธุรกิจ HoReCa


    สมรภูมิค้าปลีกยุคต่อไปจะเป็นการแข่งขันข้าม Segment มากขึ้น การแข่งขันด้าน Product Mix และการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อหารายได้อื่นๆ 

    เช่น รายได้ค่าเช่า จากนี้ต่อไป ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่จะไม่ได้แข่งขันกันที่ราคาเท่านั้น แต่จะเป็นการเพิ่มรูปแบบร้านค้าแบบอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เทสโก้โลตัส เข้าสู่ตลาดร้านสะดวกซื้อเต็มตัวด้วยแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ “365” ที่จะเปิด 24 ชั่วโมงเหมือนกับเซเว่นอีเลฟเว่น และกำลังอยู่ในช่วงทดลองตลาด

   การปรับเปลี่ยน Product Mix ที่เน้นขายอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานมากขึ้นในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ใกล้แหล่งที่พักประเภทคอนโดมิเนียม การเพิ่มอาหารปรุงสดหรืออาหารตามสั่งในร้านสะดวกซื้อก็กำลังเป็นที่นิยมเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่มีชีวิตเร่งรีบแต่ต้องการอาหารสะอาดราคาถูก หรือการสร้างรายได้เพิ่มผ่านการเปิดพื้นที่ให้เช่าของไฮเปอร์มาร์เก็ตที่กำลังใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ไม่น่าแปลกใจที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หันมาสนใจรายได้ส่วนนี้ เพราะภายใน 3 ปีที่ผ่านมานั้นผู้ประกอบการในไฮเปอร์มาร์เก็ตสามารถสร้างรายได้ค่าเช่าเติบโตกว่า 12% ต่อปี ในขณะที่รายได้จากยอดขายสินค้าเติบโตเพียง 7% ต่อปีเท่านั้น
 


    การแข่งขันในโมเดลร้านสะดวกซื้อจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นและผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มงบประมาณด้านการตลาดและโฆษณาเพื่อดึงดูดผู้บริโภค 

    ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อหลายรายต่างก็เร่งกันโหมโฆษณาและโปรโมชั่น ทำให้ภายในปี 2013 งบประมาณด้านโฆษณาเติบโตกว่า 37% ต่อปี ผนวกกับเศรษฐกิจไทยที่ยังคงไม่เติบโตสูงเหมือนในอดีตทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคหดตัวลง ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องแข่งขันกันผ่านโปรโมชั่นซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงขึ้น ถ้าไม่ลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นผ่านการประหยัดจากขนาด หรือการควบคุมการบริหารจัดการ ผู้ประกอบการอาจจะต้องเผชิญกับการลดลงของอัตรากำไรของบริษัทได้



 
    ความสะดวกสบายกลายเป็นปัจจัยหลักของการเลือกช่องทางซื้อสินค้าประเภทอาหาร 

    ปัจจัยหลักที่ทำให้ร้านสะดวกซื้อเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้นมาจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเมื่อมีรายได้มากขึ้น ความถี่ในการเดินทางไปร้านค้าขนาดใหญ่แบบไฮเปอร์มาร์เก็ตลดลง มีการช้อปปิ้งออนไลน์ในหมวดอาหารเติบโตกว่า 50% ต่อปี และความต้องการอาหารสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ง่ายมีมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการเติบโตของยอดขายอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานแช่แข็งที่เติบโตกว่า 15% เติบโตแซงหน้าอาหารและเครื่องดื่มในหมวดอื่นๆ ที่เติบโตเพียง 4-8% 



 
    ถ้าอยากลงทุนใน grocery store ไทย ทางเลือกที่ดีคือการเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือการเข้าร่วมทุน (Joint Venture) 

    อีไอซีมองว่าด้วยความเนื้อหอมของตลาด Grocery Store ที่อนาคตมีแนวโน้มจะเติบโต 7-8% ต่อปีจะยิ่งดึงดูดให้มีคนสนใจเข้ามาลงทุนในตลาด อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งตลาด Grocery Store ไทยนั้นค่อนข้างกระจุกอยู่ที่ผู้ประกอบการไทยรายใหญ่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มียักษ์ใหญ่ 2 ราย อย่างบิ๊กซีและเทสโก้โลตัส หรือเซเว่นอีเลฟเว่นใน กลุ่มร้านสะดวกซื้อ การจะเข้ามาเจาะตลาดด้วยแบรนด์ใหม่และการจะเข้าใจผู้บริโภคอย่างถ่องแท้นั้นเป็นไปได้ยากถ้าไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในสนามค้าปลีกอยู่แล้ว ดังนั้นทางเลือกที่น่าสนใจยังคงเป็นการเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือการเข้ามาร่วมทุน (Joint Venture) 

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน