ไม่ได้แย่เสมอไปหรอกน่า! โควิด-19 มา…รู้ไหมสินค้าอะไรยอดขายพุ่ง?




Main Idea
 
  • การมาถึงของไวรัสโควิด-19 อาจไม่ได้แย่เสมอไป เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมากักตัวอยู่แต่ในบ้าน เปลี่ยนการทำงานสู่ Work From Home หน้าร้านปิด ร้านค้าพลิกกลยุทธ์มาขายผ่านออนไลน์กันมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมาเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก
 
  • โดยสินค้าที่ทำยอดขายสูงสุดในช่วงโควิด ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 139 เปอร์เซ็นต์ หนังสือ 105 เปอร์เซ็นต์ ส่วนลดและแพ็กเกจท่องเที่ยว 102 เปอร์เซ็นต์ สินค้าแม่และเด็ก 96 เปอร์เซ็นต์ และอุปกรณ์สำนักงานและเครื่องเขียน 95 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ
 
  • ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายคนคิดว่าแย่ แต่โควิด-19 ก็กำลังส่งมอบโอกาสอะไรหลายอย่าง ธุรกิจ SME  จึงควรใช้โอกาสนี้ในการปรับกลยุทธ์เพื่อหาโอกาสในวิกฤต ขณะที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังภัยจากไวรัสสิ้นสุดลงด้วย




     ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้หลายธุรกิจรายได้หยุดชะงัก แต่รู้ไหมว่ายังมีสินค้าและบริการอีกหลายกลุ่มที่กำลังเติบโตอย่างพุ่งพรวดสวนกระแสวิกฤตโควิด
               

     สินค้าที่ว่าได้อานิสงส์มาจากการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน เปลี่ยนการทำงานมา  Work From Home ขณะที่ถูกข้อจำกัดจากการที่หน้าร้านต้องปิดตัวลง จึงต้องพลิกกลยุทธ์ปรับตัวเองมาขายสินค้าผ่านออนไลน์กันมากขึ้น   และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักคว้าโอกาสในวิกฤตที่พิษโควิดทำอะไรพวกเขาไม่ได้
               



           

     พฤติกรรมคนเปลี่ยน ปลุกออนไลน์โตพุ่ง 79 เปอร์เซ็นต์      

               

     Priceza นำเสนอรายงานผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า เติบโตขึ้นถึงประมาณ 79 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยสำคัญมากจากการที่เมื่อต้องถูกกักตัวอยู่ในบ้าน ต้อง Work From Home  ห้างร้านต่างๆ ปิดทำการลง คนเกรงการออกไปเผชิญกับไวรัส จึงใช้การซื้อสินค้าออนไลน์ตอบโจทย์ชีวิตในช่วงวิกฤตโควิด-19 กันมากขึ้น
               
           




     10 อันดับ สินค้าสุดฮอตช่วงโควิดป่วนโลก
               

     ทั้งนี้หมวดหมู่ของสินค้าที่มีอัตราการซื้อ (Conversion Rate: CVR) เติบโตขึ้นอย่างมาก ในเดือนมีนาคม 2563 เมื่อเทียบกับอัตราการซื้อเฉลี่ย 4 เดือนย้อนหลัง สูงสุด 10 อันดับแรก ตามข้อมูลจาก Priceza Insight พบว่า
 
  • สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เพิ่มขึ้นถึง 139 เปอร์เซ็นต์
 
  • หนังสือ 105 เปอร์เซ็นต์
 
  • ส่วนลดและแพ็กเกจท่องเที่ยว 102 เปอร์เซ็นต์
 
  • สินค้าแม่และเด็ก 96 เปอร์เซ็นต์
 
  • อุปกรณ์สำนักงานและเครื่องเขียน 95 เปอร์เซ็นต์
 
  • เสื้อผ้าและแฟชั่น 87 เปอร์เซ็นต์
 
  • สินค้ากีฬา สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง กิจกรรม Outdoor และของสะสม 71 เปอร์เซ็นต์
 
  • กล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพ 65 เปอร์เซ็นต์
 
  • เครื่องใช้ไฟฟ้า 63  เปอร์เซ็นต์
 
  • เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ภายในบ้าน 55 เปอร์เซ็นต์
 




     หากสังเกตประเภทสินค้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตามข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ แม้ว่าช่วงเวลานี้คนจะไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน แต่สินค้าหมวดหมู่ “ดีลส่วนลดและแพ็กเกจท่องเที่ยว” กลับมีอัตราการซื้อที่สูงขึ้น


      จากการสำรวจพบว่าในเดือนมีนาคม สินค้าประเภทแพ็กเกจท่องเที่ยว มีการจัดโปรโมชั่นมอบส่วนลดที่สูง และสามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน รวมไปถึงสินค้าประเภทดีลส่วนลด ส่วนมากจะเป็น E-Coupon หรือ E-Voucher ที่สามารถใช้ได้เลยทันทีไม่ต้องรอการจัดส่ง เช่น คูปองส่วนลดบริการจัดส่งอาหาร Food Delivery เป็นต้น ทำให้สินค้ากลุ่มดังกล่าวมียอดขายทีเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้นั่นเอง
 
           





     โควิดเปลี่ยนพฤติกรรมคน เพิ่มทางเลือกในการช้อป



    ในอดีตหากทำการค้าโดยไม่มีโลกออนไลน์ ผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกและตัวเปรียบเทียบในการซื้อสินค้าที่จำกัด แต่ในวันนี้ที่ทุกอย่างขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ผู้คนมีตัวเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
โดยเมื่อพิจารณาจำนวนรายการสินค้า (SKU) รวมบน Marketplace รายใหญ่ของไทย 3 แห่ง Shopee Lazada และ JD Central บน Priceza.com ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ก่อนเกิดเหตุการณ์ไวรัสระบาด เปรียบเทียบกับช่วง เดือนมีนาคม 2563 หลังโควิดมาเยือน พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านรายการ ซึ่ง Priceza  สันนิษฐานว่ามาจากจำนวนผู้ขาย หรือ SME ที่ขยับกิจการมาสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้นนั่นเอง
               

     โดยในมุมผู้บริโภคการที่ผู้ขายมีจำนวนเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มีตัวเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น โดยไม่จำกัดว่าจะต้องซื้อจากร้านค้าเพียงไม่กี่รายอีกต่อไป  นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างร้านค้า ที่ต้องออกโปรโมชั่นมาลดราคามาเพื่อแย่งลูกค้า ซึ่งผลประโยชน์ก็จะตกที่ผู้บริโภค ในเรื่องการได้ซื้อราคาสินค้าที่ถูกลงมาอีกด้วย
               
               

     ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายคนคิดว่าแย่ แต่โควิด-19 ก็กำลังส่งมอบโอกาสอะไรหลายอย่างให้กับใครหลายคน
เพราะเหตุการณ์หรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานี้นั้น ล้วนเกิดมาจาก “ความจำเป็น” ไม่ว่าจะจำเป็นที่ต้องอยู่บ้าน จำเป็นต้องซื้อของออนไลน์เพราะกลัวการติดเชื้อ เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้เองธุรกิจ SME  จึงควรใช้โอกาสนี้ในการปรับกลยุทธ์เพื่อหาโอกาสในวิกฤต ขณะที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังภัยจากไวรัสสิ้นสุดลงอีกด้วย
               
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน