Main Idea
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน จนทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายหน้าร้านเป็นหลัก
- หนึ่งในการปรับตัวเพื่อสร้างรายได้และประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติในช่วงนี้ คือ การเพิ่มช่องทางการขายทางออนไลน์มากขึ้น พร้อมกับการบริการส่งสินค้า การอำนวยความสะดวกและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในด้านความปลอดภัย
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) และบริการสั่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ในช่วงระหว่างวันที่ 22 มี.ค. – 30 เม.ย. 2563 จะเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติราว 8,000 ล้านบาท
โควิด-19 มาพาธุรกิจสะดุด!
นี่คือชะตากรรมของผู้ประกอบการไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้าเล่นงานตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงนาทีนี้ก็ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จนทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการเป็นการชั่วคราว และล่าสุดได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรุนแรง ซึ่งมาตรการฯ ที่ออกมาส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร ที่ส่วนใหญ่รายได้หลักมาจากการขายและให้บริการที่หน้าร้านเป็นหลัก
มาดูกันว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้งสองกลุ่มธุรกิจ เอาตัวรอด ประคับประคองธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างไร ในเวลาที่สั้นและมีสายป่านที่ร่อยหรอเป็นเดิมพัน
รับมือวิกฤตยอดขายหาย รายได้หด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย เปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่ที่เข้ามากระทบ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจร้านอาหารต้องรับมือกับยอดขายที่หดตัวลง และจากรายงานล่าสุดของทางการที่สะท้อนให้เห็นว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในประเทศ และยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่าจะคลี่คลายลงเมื่อใด ส่งผลทำให้ภาครัฐมีความจำเป็นต้องออกมาตรการต่างๆ ที่มีความเข้มข้นขึ้น เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน โดยการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. – 30 เม.ย. 2563 และมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการเป็นการชั่วคราว (Lockdown) (วันที่ 22 มี.ค. - 30 เม.ย. 2563) ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ซึ่งมาตรการฯ ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อบรรดาภาคธุรกิจ ร้านค้าต่างๆ รวมถึงธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร เนื่องจากช่องทางรายได้หลักของธุรกิจจะมาจากการขายหน้าร้าน รวมถึงผลกระทบต่อกำลังแรงงานในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ดี ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจร้านอาหารนับว่ายังมีช่องทางการตลาดอื่น ที่จะเข้ามาช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ เนื่องจากมาตรการฯ ดังกล่าวยังอนุญาตให้สามารถประกอบกิจการได้ แต่ต้องปรับรูปแบบการให้บริการ จึงเห็นได้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจร้านอาหารบางรายได้มีการเร่งปรับตัวไปบ้างแล้ว อาทิ การเพิ่มช่องทางการขายทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อที่จะช่วยชดเชยรายได้ที่หายไป และประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด รวมถึงช่วยให้การจ้างงานยังสามารถดำเนินต่อไปได้
ผลกระทบค้าปลีก และแนวทางปรับตัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองสถานการณ์ของธุรกิจค้าปลีก ภายหลังการออก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการ โดย ธุรกิจค้าปลีก กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ผลกระทบอาจจำกัดกว่ากลุ่มอื่นๆ และทุกกลุ่มเร่งปรับตัวหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น
สำหรับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบจากมาตรการฯ ดังกล่าว จะกระทบต่อยอดขายค้าปลีกในบาง Segment เพิ่มขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิม เนื่องจากไม่สามารถเปิดกิจการได้เลย ได้แก่ ร้านค้าที่เปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า (ยกเว้นโซนซูเปอร์มาร์เก็ตที่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ) รวมทั้งร้านค้าเฉพาะอย่าง (Specialty Store) เช่น ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ร้านเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ร้านสุขภาพและความงาม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มค้าปลีกที่ไม่ใช่อาหาร (Non-Food) เป็นหลัก ขณะที่ค้าปลีกในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าออนไลน์ (E-Commerce) ยังได้รับอนุญาตให้เปิดให้บริการและน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าค้าปลีก Segment อื่นๆ
โดยแนวทางปรับตัวที่ผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถทำได้ ณ ช่วงเวลานี้ คือ การเพิ่มช่องทางการตลาดผ่านระบบออนไลน์และการบริการจัดส่งสินค้า เพื่อรักษาสภาพคล่อง หรือก่อให้เกิดเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจ เห็นได้ว่าผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ตั้งแต่รายใหญ่จนถึงกลุ่มร้านค้าปลีกรายย่อยต่างๆ หลายรายมีการปรับโมเดลการทำธุรกิจของตน โดยหันมารุกตลาดทางช่องทางออนไลน์เป็นสัดส่วนมากขึ้น ผ่าน E-Market Place และเครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่าง Facebook หรือ Line เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้สะดวกและบริการการส่งสินค้าให้ลูกค้า สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกที่ยังพึ่งพารายได้หลักจากหน้าร้าน ควรจะลองศึกษาช่องทางออนไลน์ นำมาปรับให้เข้ากับธุรกิจของตน เพื่อเป็นช่องทางการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง เพราะหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็อาจจะมีผลกระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจได้
ค้าปลีกแก้เกมโควิด-19 ด้วยการรุก E-Commerce
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 22 มี.ค. – 30 เม.ย. 2563 ที่มีการปิดสถานประกอบการ มูลค่าตลาด E-Commerce น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20-30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ หรือเพิ่มขึ้นจาก 26,200 ล้านบาทในช่วงเวลาปกติ เป็น 33,000 ล้านบาท หรือมีการใช้จ่ายผ่าน E-Commerce เพิ่มขึ้นราว 6,800 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไม่สามารถใช้จ่ายผ่านช่องทางหน้าร้านเนื่องจากต้องปิดชั่วคราว ทำให้ต้องเปลี่ยนมาเป็นใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์แทน
อาทิ สินค้าสุขภาพและความงาม (วิตามิน อาหารเสริม เครื่องสำอาง) สินค้าเกี่ยวกับเด็ก สินค้าเสื้อผ้าและรองเท้า สินค้าสัตว์เลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน หรือ FMCG ที่มีการซื้อผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นแต่ไม่มาก เนื่องจากได้มีการสำรองซื้อไปก่อนหน้านั้นแล้ว และร้านค้าส่วนใหญ่ยังเปิดให้บริการ
นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่ผู้บริโภคระวังการใช้จ่ายและบางกลุ่มอาจขาดรายได้ ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องจัดโปรโมชั่นมากกว่าปกติ ทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านช่องทางหน้าร้านค้าปลีกที่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ในทุกๆ แพลตฟอร์ม
ขณะเดียวกัน การควบคุมหรือลดต้นทุนภาระจ่ายต่างๆ ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการประคองธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารสต็อกสินค้าให้สอดรับกับความต้องการของผู้ซื้อในยามนี้ การเร่งเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ การใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการที่ภาครัฐทยอยออกมาอย่างเต็มที่ เป็นต้น
รวมถึงต้องเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอีกในอนาคต โดยเฉพาะหากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่ถึงจุดสูงสุด ภาครัฐก็อาจจำเป็นต้องยกระดับการควบคุมสถานการณ์โดยใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งในที่สุดแล้วอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ อาทิ การเตรียมแผนการขนส่งสินค้าที่มีความต้องการสูงให้มีความยืดหยุ่น การกระจายแหล่งจัดหาสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการสื่อสารชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคอย่างชัดเจนและรวดเร็วรองรับความเป็นไปได้ที่อาจเกิดความล่าช้าไปกว่าที่ตกลงกันไว้
ธุรกิจร้านอาหารรุกออนไลน์ สร้างรายได้ในวิกฤต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการภาครัฐ ทั้ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการ ธุรกิจร้านอาหารจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันตามรูปแบบการให้บริการของแต่ละร้านอาหาร ซึ่งแน่นอนว่าบางกลุ่มที่เดิมเน้นการให้บริการแบบนั่งทานในร้านเป็นหลัก ก็ย่อมจะได้รับผลกระทบมาก แต่ก็ยังสามารถที่จะปรับตัวมาให้บริการแบบการซื้อกลับ (Takeaway) และการให้บริการส่งอาหาร (Food Delivery) ได้ โดยแบ่งรูปแบบร้านอาหารเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.ร้านอาหารที่มีการให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurant)
เช่น ในห้างสรรพสินค้า แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หรือสวนอาหาร ที่มีรายได้หลักมาจากลูกค้าที่นั่งรับประทานในร้านอาหาร จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการจะมีข้อจำกัดในการปรับช่องทางการขายที่ลำบาก ส่งผลกระทบให้รายได้จะลดลงอย่างมาก
2. ร้านอาหารที่มีการให้บริการอย่างจำกัด (Limited Service Restaurant)
เป็นกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบจำกัดจากมาตรการฯ เนื่องจากร้านอาหารในกลุ่มนี้มีการให้บริการในหลายรูปแบบ อาทิ การบริการนั่งรับประทานในร้าน การซื้อกลับไป และบางร้านมีการให้บริการส่งอาหาร ซึ่งจะมีทั้งแอปพลิเคชันของตนเอง และร่วมเป็นพันธมิตรกับแอปพลิเคชันส่งอาหาร ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ ร้านอาหารในกลุ่มนี้น่าจะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการร้านอาหารในกลุ่มแรก
3. ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) แบบมีหน้าร้าน
ร้านอาหารในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก มีทั้งร้านที่เปิดให้บริการนั่งทานในร้าน ซื้อกลับบ้าน และในระยะหลัง ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะมีการให้บริการส่งอาหารโดยได้เข้าร่วมกับ Food Delivery Application ทำให้จะสามารถปรับตัวได้ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการขนาดเล็กบางรายมีเงินทุนหมุนเวียนที่จำกัด ขณะที่ต้องเช่าสถานที่เพื่อประกอบกิจการ รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงระบบเทคโนโลยี หรือแอปพลิเคชันในการส่งอาหาร ดังนั้นการประกาศปิดสถานที่อาจส่งผลต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจร้านอาหารยังเป็นธุรกิจที่มีความยืดหยุ่น และยังมีช่องทางในการสร้างรายได้ผ่านการให้บริการขายหน้าร้าน และสั่งให้ไปส่งตามที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย โดยเห็นได้ว่า ภายหลังจากที่มีการประกาศขอความร่วมมือปิดสถานที่ประกอบการ ประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีการสั่งอาหารเพื่อส่งไปยังสถานที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัยผ่านแอปพลิเคชันสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต่างเร่งทำแคมเปญผ่านแอปพลิเคชันสั่งอาหาร
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 22 มี.ค. – 30 เม.ย. 2563 ที่มีการปิดสถานประกอบการ การใช้บริการสั่งอาหารไปยังที่พักอาศัยและที่ทำงาน (Food Delivery) น่าจะมีมูลค่าขยายตัวประมาณร้อยละ 35-40 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ หรือเพิ่มขึ้นจาก 3,300 ล้านบาทในช่วงเวลาปกติ เป็น 4,500 ล้านบาท หรือมีการใช้จ่ายผ่าน Food Delivery เพิ่มขึ้นราว 1,200 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีการให้บริการดังกล่าวควรปรับตัวเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางของตนเองหรือเข้าร่วมกับผู้ประกอบการที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นส่งอาหาร หรือผู้ประกอบการร้านอาหารที่อยู่ในทำเลธุรกิจสำนักงาน อาจจะทำโปรโมชั่นพิเศษให้แก่ลูกค้ารวมถึงปรับหน้าที่ของพนักงานในร้านให้เป็นผู้จัดส่งอาหารในละแวกใกล้เคียง
นอกจากนี้ การบริหารจัดการควบคุมต้นทุนในยามนี้ยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นของสดที่ไม่สามารถเก็บรักษาได้นาน ผู้ประกอบการอาจจะมีการปรับเมนูอาหาร/ลดความหลากหลายแต่มีการสับเปลี่ยนเมนูเพื่อเป็นทางเลือกของลูกค้า เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้สามารถควบคุมต้นทุนวัตถุดิบและตั้งราคาได้ง่าย สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าสั่งอาหาร โดยการรักษาความสะอาดและบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด ขณะเดียวกันการให้บริการการขายหน้าร้านควรมีการจัดที่นั่งรอในร้านเพื่อให้เกิดระยะห่าง หรือ Social Distancing อีกด้วย
ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการอาจต้องมองหาแผนรองรับเพื่อป้องกันผลกระทบในด้านต่างๆ อาทิ การวางแผนวัตถุดิบในการประกอบอาหาร และการบริการจัดส่งอาหารให้กับลูกค้า ในกรณีที่ผู้ให้บริการรับส่งอาหารมีปัญหา เป็นต้น
นี่คือแนวทางการปรับตัวของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร ที่กำลังถูกพิษการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้ยอดขายต้องชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยอดขายที่มาจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ บวกกับมาตรการปิดสถานประกอบการชั่วคราว รวมถึงการออก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เพื่อควบคุมโควิด-19 อย่างไรก็ตามขอเพียงไม่ถอดใจสู้ ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยจะสามารถผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ เราจะสู้ไปด้วยกัน!
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี