อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของโลกนับเป็นตลาดใหญ่ตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีขนาดใหญ่ราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศในแถบ GCC ที่นำเข้าสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเป็นจำนวนมากราวร้อยละ 80-90 ของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากประเทศดังกล่าวไม่สามารถผลิตอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศได้อย่างพอเพียงจากสภาพพื้นที่ที่เป็นทะเลทราย โดยมีพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 1 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ในขณะที่รายได้ต่อหัวและจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าภายในปี 2563 มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารในกลุ่ม GCC จะขยายตัวสู่ 53.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2556 หรือขยายตัวโดยเฉลี่ยราวร้อยละ 6 ต่อปี
ในปี 2556 มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทย อยู่ที่ประมาณ 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นผู้ส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลอันดับที่ 11 ของโลก และเป็นรองเพียงแค่อินเดีย จีนและอินโดนีเซียในภูมิภาคเอเชีย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสถานะการส่งออกอาหารฮาลาลและเครื่องดื่มกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนจะพบว่า ถึงแม้มาเลเซียจะมีมูลค่าส่งออกน้อยกว่าอยู่ที่ราว 5,168 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่กลับมีสัดส่วนเทียบกับการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของประเทศที่สูงกว่าอยู่ที่ราวร้อยละ 22.2 สะท้อนถึงศักยภาพและโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่สามารถหันมาทำตลาดอาหารฮาลาลและขยายธุรกิจในกลุ่มนี้ได้ โดยใช้ความได้เปรียบทางด้านอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปี 2557 การส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.4 โดยได้อานิสงส์หลักจากการส่งออกไปยังประเทศกลุ่ม GCC ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 8.4 แตะ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีราวร้อยละ 5.1 ไปอยู่ที่ 6,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรศึกษาวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศด้วย และยังจำเป็นต้องศึกษาประเภทของสัตว์ที่อนุญาตให้รับประทาน (ฮาลาล) และไม่อนุญาตให้รับประทาน (ฮารอม) เพิ่มเติมด้วย เพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์ของตนผิดต่อหลักศาสนา
อีกทั้ง ขั้นตอนการเตรียมการผลิตหรือปรุงอาหารนั้นก็ย่อมต้องทำให้ถูกตามหลักศาสนาด้วยเช่นเดียวกัน อาทิ ผู้เชือดต้องไม่ทารุณสัตว์ก่อนเชือด อุปกรณ์เชือดต้องมีความคม ห้ามรับประทานสัตว์ที่ตายเอง วัตถุดิบหรืออาหารต้องไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เป็นต้น นอกจากนี้ กระบวนการเคลื่อนย้ายหรือขนส่งวัตถุดิบหรืออาหาร รวมทั้งกระบวนการจัดหาแหล่งเงินทุนต้องสอดคล้องกับหลักฮาลาล
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำตลาดอาหารฮาลาลเพื่อเจาะตลาดมุสลิมนั้น ควรคำนึงถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายว่ามีวัฒนธรรมอย่างไร อีกทั้ง ควรพิจารณากระบวนการผลิตอาหารฮาลาลที่ต้องสอดคล้องกับหลักศาสนาในทุกห่วงโซ่อุปทาน รวมถึง ควรแบ่งกลุ่มและเน้นการเจาะลูกค้าให้เหมาะสมกับจุดยืนหรือการวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ของตน
โดยอาจพิจารณาลงทุนขยายกิจการแนวย้อนหลัง (Backward Integration) ให้ทุกห่วงโซ่อุปทานได้มาตรฐานอาหารฮาลาล หรือเลือกพิจารณาจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานฮาลาล ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคชาวมุสลิมและเสริมความแข็งแกร่งของตราสินค้าว่าถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม
นอกจากกระบวนการผลิตที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจแล้ว ช่องทางการค้าปลีกอาหารฮาลาลก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคอาหารฮาลาลใช้เลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลได้โดยตรง โดยร้านค้าปลีกอาจพิจารณาร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารฮาลาลจัดสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าให้มีแผนกอาหารฮาลาลโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภคในแง่ที่สามารถระบุสถานที่ที่ตนจะซื้อผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลได้สะดวก และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอาหารฮาลาลในแง่ของการดำเนินกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion Strategy)
ไม่ว่าจะเป็นช่วงอีดิ้ลฟิตริซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองหลังการถือศีลอด และช่วงอีดิ้ลอัฎฮาซึ่งเป็นช่วงการประกอบพิธีฮัจญ์หรือแสวงบุญ ณ นครมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะมีการทำ “กุรบาน” ซึ่งเป็นการเชือดสัตว์เพื่อพลีเป็นทานแก่ครอบครัว เครือญาติ ผู้ขัดสน หรือสังคม โดยทั้ง 2 ช่วงนี้ ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่จะกำหนดให้เป็นวันหยุดยาว และมีเทศกาลเฉลิมฉลองต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นช่วงเทศกาลสำคัญที่ความต้องการอาหารหรือเครื่องดื่มฮาลาลจะมีสูง
อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดในแถบภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวด้วยการเร่งหาตลาดและแหล่งวัตถุดิบใหม่ โดยผู้ส่งออกที่มีคู่ค้าในประเทศที่มีเริ่มมีปัญหาหรือผู้นำเข้าที่นำเข้าวัตถุดิบจากประเทศดังกล่าวควรเริ่มเจรจาการค้ากับประเทศอื่นเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านปฏิบัติการที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบห่วงโซ่อุปทานของบริษัท รวมทั้ง ควรป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีความเสี่ยงทางด้านการเมือง โดยผู้ประกอบการไทยควรเร่งรับมือกับแนวโน้มปัญหาในตะวันออกกลางผ่านการจัดการความเสี่ยงแบบบูรณาการ อาทิ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านเครดิตและการชำระเงินทั้งจากระบบธนาคารและบริษัทคู่ค้าในประเทศที่เกิดปัญหา เป็นต้น