ฟังกูรูแนะตั้งรับวิกฤติ “ไวรัสโคโรนา” อย่างไร ให้ได้ใจลูกค้าจีนทั้งในวันนี้และอนาคต

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • “ไวรัสโคโรนา”  อุบัติขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน สร้างความหวาดวิตกไปทั่วโลก  ผลพวงที่ตามมาคือ ช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นดั่งนาทีทองของการทำธุรกิจกับนักท่องเที่ยวจีน กลับต้องหยุดชะงักลง กระทบถึงเศรษฐกิจจีนและหลายประเทศทั่วโลก
 
  • ไวรัสโคโรนา ไม่ได้กำลังเล่นงานแค่คนจีนเท่านั้น แต่กำลังปล่อยเชื้อวิกฤติใส่ผู้ประกอบการไทยด้วย แม้แต่กิจการเล็กๆ อย่าง SME ที่ทำสินค้าป้อนตลาดจีน หรือมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นเป้าหมายหลัก
 
  • ทว่าในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส มาดูวิธีตั้งรับวิกฤติไวรัสโคโรนาให้ได้ใจลูกค้าจีน ด้วยกลยุทธ์ที่ SME ก็ทำได้ เพื่อวันที่ทุกอย่างคลี่คลายลง เราจะไม่ต้องสูญเสียตลาดสำคัญนี้ไป แถมยังได้ใจลูกค้าคนจีนมากขึ้นอีกด้วยในอนาคต



     ทันทีที่โลกได้รู้จักกับ “โคโรนา” ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือที่เรียกกันในชื่อ โรคปอดบวมอู่ฮั่น ซึ่งอุบัติขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน สร้างความหวาดวิตกไปทั่วโลก  ผลพวงที่ตามมาคือ ช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นดั่งนาทีทองของการทำธุรกิจกับนักท่องเที่ยวจีน ตลาดที่ทรงศักยภาพในวันนี้ แต่ทุกอย่างกลับต้องหยุดชะงักลง กระทบถึงเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกที่ต้องสั่นคลอนไปพร้อมกันด้วย
               

     ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น กระทบถึงผู้ประกอบการในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า นักท่องเที่ยวจีนคือตลาดหลัก ที่ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล และยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยด้วย เฉพาะเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดจีนก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งเพราะมีการเร่งนำเข้าสินค้าบางรายการก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้การส่งออกกลุ่มผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งไปจีน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 110.01 YoY ซึ่งมาจากการนำเข้าลำไยและทุเรียน (ทั้งสดและแช่แข็ง) ที่เพิ่มขึ้นของจีนเป็นสำคัญ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
               

     ไวรัสโคโรนา จึงไม่ได้เล่นงานแค่คนจีนเท่านั้น แต่กำลังปล่อยเชื้อวิกฤติใส่ผู้ประกอบการไทยด้วย แม้แต่กิจการเล็กๆ อย่าง SME ที่ทำสินค้าป้อนตลาดจีน หรือมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นเป้าหมาย





     “ชฎากร ธนสุวรรณเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท
เอวีจี ไทยแลนด์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในตลาดจีน มีข้อแนะนำที่จะเป็นหนทางตั้งรับไวรัสโคโรนา เพื่อนำพาผู้ประกอบการไทยให้พ้นวิกฤติ และยัง “ได้ใจ” ลูกค้าคนจีนทั้งในวันนี้และอนาคต
               




      รับมือสถานการณ์ มองหาโอกาสในวิกฤติ


     ชฎากรเล่าให้เราฟังว่า สถานการณ์ในประเทศจีน ณ ตอนนี้ ยังค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ “ช่วงตรุษจีน”  ถือเป็นเวลาที่คนจีนจะต้องออกมาจับจ่ายใช้สอย ไปช้อปปิ้ง  ท่องเที่ยว ทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง แต่จากสถานการณ์บวกกับการรณรงค์ของภาครัฐเองที่ให้คนพยายามอยู่แต่ในบ้าน ประชาชนเองก็เกิดความหวาดกลัว ไม่เฉพาะในเมืองอู่ฮั่นเท่านั้น แต่รวมถึงเมืองอื่นๆ ของจีนด้วย ทำให้อารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยลดลง โดยพบว่าแม้แต่ธุรกิจสั่งอาหารเดลิเวอรี่ของคนจีนก็มียอดสั่งซื้อลดลงตามสถานการณ์ไปด้วย 





     “การค้าขายที่ประเทศจีนได้รับผลกระทบแน่นอนอยู่แล้ว จากการที่อารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยของเขาลดลง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ในส่วนของคนจีนที่ออกมาท่องเที่ยวนอกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวจีนถือเป็นตลาดหลักทำรายได้เข้าประเทศสูงมาก พอมีนโยบายออกมาให้คนจีนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ และบางประเทศเองก็ไม่ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเท่าไร ทำให้ส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการ โดยลูกค้าจีนเริ่มยกเลิกโรงแรมที่พัก ซึ่งกระทบถึงแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ตลอดจนธุรกิจที่ทำออกมาเพื่อรับนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะด้วย” เธอบอก
 




     ตั้งรับโอกาสด้วยช่องทางสื่อสารที่คนจีนเข้าถึงได้
 

     แต่ท่ามกลางความหวั่นวิตก ยังมีโอกาสของผู้ประกอบการไทยซ่อนอยู่ในนั้น กูรูตลาดจีนบอกเราว่า เวลานี้สินค้าจำพวก หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ กลายเป็นที่ต้องการในตลาดจีน แม้แต่ฮ่องกงเองก็พบว่าสินค้ากลุ่มนี้ยังขาดตลาด และประเมินกันว่าต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้ไปอีกประมาณ 5 เดือน กว่าที่สถานการณ์จะคลี่คลายลง ฉะนั้นกลุ่มแรก สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ทำสินค้าเกี่ยวกับ หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นและเชื้อโรค และเจลล้างมือ ต่างๆ ถือเป็นโอกาสที่จะได้ขยายตลาด


      ต่อมาคือ สินค้าในกลุ่มที่เสริมสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ดี กลุ่มนี้จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น รองลงมาคือกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็ง (Frozen Food)  ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการและประเทศไทยก็มีศักยภาพอย่างมากในเรื่องนี้


     “ถามว่าผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้ากลุ่มนี้จะตั้งรับอย่างไร แน่นอนว่าด้วยสินค้าเหล่านี้อยู่ในกลุ่มความต้องการสูง ฉะนั้นลูกค้าคนจีนจะเข้ามาหาเราแน่ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ ทำให้ช่องทางติดต่อสื่อสารของเราคนจีนเข้าถึงได้ เช่น เว็บไซต์ของเรามีภาษาจีนด้วย คนจีนใช้งานง่าย มีช่องทางติดต่อที่เป็น WeChat ซึ่งคนจีนนิยมใช้กัน ซึ่งด้วยสถานการณ์จะเห็นเลยว่า เราไม่ต้องไปลงทุนโปรโมทอะไรมากมาย เพียงแต่ใช้การตั้งรับ ด้วยการทำช่องทางติดต่อสื่อสารของเราให้ Chinese Friendly ง่ายต่อการใช้งานของคนจีนมากขึ้นเท่านั้นเอง” เธอบอก
 





     กลุ่มโรงแรมที่พัก ใช้สถานการณ์สร้างความสัมพันธ์ให้คนจีนรัก



     วันนี้การยกเลิกโรงแรมที่พักของนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทย กำลังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย แต่อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่ยาวนาน หรือเป็นเช่นนี้ตลอดไป แต่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด และไม่มีใครอยากให้เกิด กูรูตลาดจีนบอกเราว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรทำที่สุด คือใช้ช่วงเวลานี้แสดงน้ำจิตน้ำใจกับลูกค้าคนจีน เพื่อให้เห็นถึงความปรารถนาดีที่ผู้ประกอบการไทยมีต่อพวกเขา


     “ตอนนี้เป็นช่วงเวลาของการแสดงความมีน้ำใจของผู้ประกอบการไทยเลย  เพราะว่าที่ผ่านมาคนจีนชอบเมืองไทย และสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศเราค่อนข้างมาก ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่แสดงถึงการมีน้ำจิตน้ำใจ และศักยภาพของเรา เช่น กลุ่มโรงแรมที่พัก หรือร้านอาหารที่มีการจองล่วงหน้า การยกเลิกการจองปกติก็จะต้องเสียเงินมัดจำ เช่น 50 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำ อาจไม่ต้องถึงขนาดคืนเงินมัดจำหรอก แต่ใช้วิธียืดระยะเวลาออกไป เช่น คุณยังสามารถมาใช้ได้ภายในปีนี้ ฉะนั้นแทนที่สมมติลูกค้ามัดจำมา 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเรายึดเงินเขาไปเลยก็จะได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ นั้น แต่สมมติเราบอกเขาว่าให้ใช้ภายในปีนี้ นั่นก็คือโอกาสที่เราจะได้เงิน  100 เปอร์เซ็นต์คืนมา แถมยังได้ใจลูกค้าคนจีนอีกด้วย”


     ชฎากร บอกเราว่า ไวรัสโคโรนา ไม่ใช่เหตุการณ์ระยะยาวหรือตลอดไป อย่างไรก็ตามตลาดจีนก็ยังเป็นตลาดใหญ่สำหรับประเทศไทย ฉะนั้นการรักษาใจเขาไว้ได้ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าเขาฟื้นเขาจะกลับมาหาเราอย่างแน่นอน
 





     วิธีรับมือของธุรกิจที่รับลูกค้าจีนเป็นใหญ่


     สำหรับผู้ประกอบการที่รับลูกค้าจีนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ จะปรับกลยุทธ์รับสถานการณ์นี้อย่างไร ในส่วนของโรงแรมที่พัก เธอมองว่ายังสามารถขยับไปรับลูกค้าชาติอื่นๆ มาทดแทนได้บ้าง แต่ที่ได้รับผลกระทบหนักก็สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง ที่คนจีนนิยมไปเที่ยวกันมากๆ และไม่ค่อยรับนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่เน้นทัวร์จีนเป็นหลัก


     “มันมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องจ่ายเงินค่าเข้า ที่เน้นพวกทัวร์จีนเยอะๆ ตรงนั้นก็อาจได้รับผลกระทบหนักหน่อย เพราะกลุ่มนี้มีรายได้จากลูกค้าวอล์กอินน้อยอยู่แล้ว  และส่วนมากจะเป็นการจองล่วงหน้า ซึ่งก็ยังแนะนำนโยบายเดิม คือไม่ริบเงินมัดจำเขา แต่ขยายเวลาให้เขามาใช้ภายในปีนี้ หรืออะไรอย่างนี้ มันดีกว่าการทำตลาดเชิงรุก อัดโปรโมชั่นโน่นนี่ เพราะยังไงคนจีนก็มาน้อยอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ผล เพราะคนกังวลกับเชื้อโรคมากกว่าท่องเที่ยวอยู่แล้ว  และนั่นยังสะท้อนภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของเรา ที่ไม่มีความรับผิดชอบ และไม่มีความพยายามในการช่วยทำให้สถานการณ์ทุกอย่างมันดีขึ้นด้วย”


     ชฎากร  ยกตัวอย่าง สวนสนุก Ocean Park ที่ฮ่องกง ที่ตัดสินใจปิดให้บริการหลังเกิดวิกฤติไวรัสโคโรนา ซึ่งหลายคนอาจมองว่าน่าจะส่งผลกระทบที่ไม่ค่อยดีนักต่อธุรกิจ แต่เธอกลับมองว่า นี่เป็นการแก้ปัญหาที่จะสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้ธุรกิจมากกว่า


     “ตอนแรกหลายคนอาจคิดว่า เกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วธุรกิจยิ่งต้องดิ้นรนทำโน่นทำนี่เพื่อให้มีลูกค้า แต่กรณี Ocean Park การปิดของเขามันมีข้อดี หนึ่งคุณได้แสดงความรับผิดชอบ เพราะไม่อยากให้เป็นแหล่งที่คนมาออกันแล้วทำให้เชื้อโรคยิ่งแพร่  สอง การเปิดให้บริการมันมีต้นทุน ซึ่งต่อให้เปิดไปมันก็ไม่มีลูกค้าอยู่แล้ว ถึงมีก็น้อยมาก ฉะนั้นมันไม่คุ้ม  การปิดไปเลยในช่วงนี้จึงดีกว่า ซึ่งนี่คือสิ่งที่เขาได้จากการแก้สถานการณ์ครั้งนี้” เธอบอก


     ถามว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ จะส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการไทยที่ฝากชีวิตไว้กับลูกค้าจีน 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องกระจายความเสี่ยงมากขึ้นหรือไม่ เธอบอกว่า วันนี้หลายประเทศ หรือหลายๆ ธุรกิจที่ทำมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ นั่นเพราะมันเป็นเมกะเทรนด์ หลังจากที่คนจีนออกมาท่องเที่ยวกันเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และประชากรจีนก็มหาศาลอีกด้วย ที่สำคัญคนจีนชอบประเทศไทย ฉะนั้นนี่เป็นเทรนด์ที่จะอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อยก็  5-10 ปี


     “สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ทำมาเพื่อรองรับตลาดจีนโดยเฉพาะ ถามว่าควรจะเปลี่ยนเป้าหมายไหม หรือบิดไปจับลูกค้ากลุ่มอื่น มองว่านี่เป็นเพียงสถานการณ์ระยะสั้น และตลาดจีนก็ยังคงสำคัญ ฉะนั้นถ้าสมมติจุดขายของคุณคือต้องการสนองตลาดจีนแต่อยากเปลี่ยนเพราะสถานการณ์นี้ มองว่าไม่ควร เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้มันไม่ได้นาน และถ้าคุณเปลี่ยนจุดขายของคุณอาจหายไปก็ได้”






     ใช้บทเรียนนี้หาวิธีรับมือความเสี่ยงในอนาคต



     ในโลกธุรกิจ ไวรัสโคโรนาไม่ได้นำพาแต่ข่าวร้าย ทว่ายังเป็นโอกาสดีๆ ที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ลุกมาหาโนว์ฮาวในการรับมือวิกฤติด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในเรื่องอื่นๆ ในอนาคต


     “สิ่งที่ผู้ประกอบการจะเรียนรู้ได้คือ การมีโรคระบาดเช่นนี้อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และความเสี่ยงอาจจะมาในรูปแบบอื่นอีกก็ได้ ที่สำคัญอาจเกิดขึ้นตรงมุมไหนของโลกก็ได้ ไม่ใช่แค่กับจีน ซึ่งอาจเป็นประเทศที่เป็นลูกค้าสำคัญของผู้ประกอบการไทย ฉะนั้นนี่จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะวางนโยบายในระยะยาวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจของเราเอง เช่น ถ้าเกิดสถานการณ์แบบนี้ เราจะปรับกลยุทธ์ธุรกิจอย่างไร มีมาตรการรับมือความเสี่ยงอย่างไร และพนักงานของเราจะรับมืออย่างไร เหล่านี้เป็นต้น”


     ชฎากร บอกอีกว่า ในปีนี้อาจเป็นการเริ่มต้นปีที่ไม่ดีนักสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะผ่านมาเพียงไม่กี่วันก็มีสถานการณ์ให้ต้องรับมืออย่างหนักหน่วง สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเยอะขึ้น และเรียนรู้อะไรเยอะขึ้นในโลกยุคต่อจากนี้


     “สิ่งที่เห็นชัดเลยคือ การทำธุรกิจวันนี้ SME ต้องรู้เยอะขึ้น ไม่ใช่รู้แค่สินค้าของเรา หรือลูกค้าของเราเท่านั้น แต่ต้องดูไปถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่รอบตัวลูกค้าของเราด้วย อย่างเหตุการณ์ครั้งนี้เห็นชัดเลยว่า ผู้ประกอบการไทยเราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เราอยู่เฉยๆ ปัญหาก็เข้ามาหาเราเอง ฉะนั้นถ้าสมมติเราไม่รับรู้ข่าวสารหรือไม่ติดตามข่าวสารเลย เราก็คงไม่มีทางรู้ว่าจริงๆ แล้วมันมีผลกระทบทางอ้อมมาถึงธุรกิจเราได้ด้วยนะ


     สิ่งที่อยากฝากไว้คือ นักการตลาดหรือผู้ประกอบการทุกวันนี้ ถ้าคุณทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ หรือรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะต้องไปรู้รายละเอียดของปัญหาต่างๆ เยอะขึ้น แม้แต่เรื่องของ อากาศ เชื้อโรค ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ก่อนเราอาจคิดว่า รู้แค่ Consumer Insight  ก็พอ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว ฉะนั้นคุณต้องเปิดหูเปิดตาและรับรู้ข่าวสารให้เร็วมากขึ้น”


      ชฎากร  กล่าวในตอนท้ายว่า ในทุกวิกฤติยังมีโอกาสเสมอ ซึ่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในวิกฤติไวรัสโคโรนาครั้งนี้ ก็คือการได้แสดงศักยภาพและภาพลักษณ์ที่ดีของคนไทย เป็นช่วงเวลาที่จะได้สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคู่ค้าของเรา ผ่านการมีน้ำจิตน้ำใจ เพื่อวันที่ทุกอย่างคลี่คลาย เราจะไม่ต้องสูญเสียตลาดสำคัญนี้ไป แถมยังได้ใจลูกค้าคนจีนมากขึ้นอีกด้วยในอนาคต




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน