ท่ามกลางการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการค้าปลีกมีการขยายสาขาไปยังพื้นที่ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สิ่งสำคัญคือ การดำเนินธุรกิจค้าปลีกนับจากนี้ไป จะต้องเป็นอะไรที่มากกว่าการซื้อ-ขายสินค้าผ่านหน้าร้านเพียงอย่างเดียว
นั่นหมายถึง “การดำเนินธุรกิจที่เคลื่อนเข้าหาผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และมีการเลือกใช้กลยุทธ์ที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด (Fast & Smart Moves)” ซึ่งนอกจากจะมองหาพื้นที่ที่มีศักยภาพใหม่ๆ เพื่อขยายสาขาให้ครอบคลุมแล้ว ผู้ประกอบการค้าปลีกยังต้องมีการปรับกลยุทธ์ทางการแข่งขันต่างๆ ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการปรับ/เพิ่มรูปแบบร้านค้าหรือช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่เหมาะสม การเลือกทำกลยุทธ์การตลาดที่แตกต่างและเข้มข้นขึ้น รวมถึงการให้บริการเสริมของผู้ประกอบการที่ครบวงจร
ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจะต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือให้มีต้นทุนต่ำที่สุด เพราะจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น ร้านค้าปลีกจำเป็นต้องมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการสั่งซื้อสินค้า การบริหารสต็อกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ การสร้างพันธมิตรทางการค้านับเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างเครือข่ายธุรกิจให้มีการเชื่อมโยง เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมถ่ายทอดเทคนิคการจัดการ ทักษะต่างๆ การทำการตลาด ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจค้าส่งค้าปลีกด้วยแล้ว การสร้างพันธมิตรทางการค้าจะทำให้ธุรกิจเข้าสู่ตลาดได้ง่ายกว่า เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปแล้ว แผนการรุกขยายสาขาอย่างรวดเร็วของผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ดูเหมือนว่าจะสวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงชะลอตัวในปัจจุบัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ในปี 2557 นี้ น่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 4.6 (YoY) และคาดว่าจะขยับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.0-10.0 (YoY) ในปี 2558
ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการขยายสาขาใหม่ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยหนุนทางด้านสถานการณ์ทางการเมืองที่กลับมาเป็นปกติ แผนนโยบายของภาครัฐที่มาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงการเร่งอัดกลยุทธ์ทางการตลาดกันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องของฝั่งผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม การเติบโตดังกล่าวยังถือเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10.0 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่า ธุรกิจค้าปลีกของไทยน่าจะมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จากปัจจัยหนุนทางด้านการขยายตัวของความเป็นเมืองและการค้าชายแดนที่คาดว่าจะขยายตัวสูงภายหลังจากการเปิดการค้าเสรี AEC ในปี 2558 จึงทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงรุกขยายสาขากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า
แต่ทั้งนี้ การที่ธุรกิจค้าปลีกจะประสบความสำเร็จได้นั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ รูปแบบของร้านค้าปลีกที่จะเข้าไปทำตลาดจะต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ทั้งทางด้านประชากร กำลังซื้อ รวมถึงการตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ ด้วย