Main Idea
- ในยุคที่ผู้บริโภคไม่ปลื้มโฆษณา เบื่อหน่ายและอยากกดข้ามไปให้ไว ทำอย่างไรโฆษณาของเราถึงจะยังโดนใจผู้บริโภค ชนิดที่รอดูจนจบไม่อยากกดข้าม
- มาหาคำตอบด้วยการเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าลูกค้ายุคใหม่ไม่ชอบโฆษณาเพราะอะไร เพื่อหากลยุทธ์พัฒนางานโฆษณาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
การทำธุรกิจทุกวันนี้ ผู้ประกอบการต้องใช้ยุทธวิธีหลายอย่าง ที่จะดึงดูดใจลูกค้าให้สนใจสินค้าและบริการ จนกระทั่งตัดสินใจควักเงินซื้อ ซึ่งการทำโฆษณาให้ปังก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะโฆษณาบนโลกออนไลน์
ทว่าหลังจากที่เราตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานโฆษณาบนโลกออนไลน์ แล้วคาดหวังว่ากลุ่มลูกค้าจะให้ความสนใจ จะช่วยสร้างยอดขาย สร้างการรับรู้ แต่กลับกลายเป็นว่าไม่มีใครใส่ใจสักเท่าไหร่ ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะขนาดนักการตลาดที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ วิเคราะห์และวิจัยตลาดจนเกิดงานโฆษณาคุณภาพคับแก้ว ก็ยังถูกผู้บริโภคเมินเฉยหรือหลีกเลี่ยงที่จะรับชมโฆษณาได้
สิ่งแรกที่เราต้องยอมรับคือ กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ค่อยปลื้มกับโฆษณามากนัก บางคนถึงขั้นเบื่อเลยก็มี ลองนึกภาพตอนเราดูโทรทัศน์ ดู Youtube แล้วมีโฆษณามาคั่น เรารู้สึกอย่างไร เล่น Facebook แล้วพบแต่โฆษณา หรือเนื้อหาโฆษณาที่ไมน่าสนใจ เราทำอย่างไร
เพราะฉะนั้น วิธีการแก้ไขก็คือ ต้องเริ่มต้นเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าลูกค้า ไม่ชอบโฆษณาเพราะอะไร จากนั้นจึงพัฒนางานโฆษณาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
1. ขาดความน่าเชื่อถือ
ปัญหาแรกคือความน่าเชื่อถือ เพราะเมื่อขึ้นต้นว่าการ “โฆษณา” กลุ่มลูกค้าจะยังไม่เชื่อถือสิ่งที่แบรนด์สื่อสารออกมาแบบเต็มร้อย โดย Keith Weed อดีตผู้บริหารฝ่ายการตลาดบริษัท Uniliver เคยพูดไว้ว่า
“แบรนด์ที่ขาดความน่าเชื่อถือ จะเป็นได้แค่ผลิตภัณฑ์เท่านั้น และการโฆษณาที่ขาดความน่าเชื่อถือก็เป็นแค่เสียงรบกวน” ความไม่น่าเชื่อถือ ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ และเกิดเป็นการปฏิเสธแบบห่วงโซ่ที่คล้องต่อกันเป็นทอดๆ แบบเงียบงัน
ทุกวันนี้มีแบรนด์มากหน้าหลายตา การจะซื้อความสนใจและความเชื่อมั่นใจผู้บริโภคด้วยการโฆษณาเพียงครั้งสองครั้งย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์ แสดงตัวตนของแบรนด์ให้เห็นถึงความจริงใจ โปร่งใส น่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อลูกค้ารู้จักและยอมรับตัวตนของแบรนด์ ทีนี้ล่ะ ไม่ว่าจะผลิตภัณฑ์ หรือโฆษณา เขาจะค่อยๆ เปิดใจยอมรับตามไปด้วย
2. จำนวนโฆษณามีมากเกินไป
ทุกวันนี้ทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ มีจำนวนโฆษณาที่เยอะมากๆ ยิ่งบางคนต้องเดินทางออกจากบ้าน ขึ้นรถเมล์ รถแท็กซี่ ต่อรถไฟฟ้า ต้องผ่านป้ายโฆษณา บิลบอร์ด แผงไฟ LED ไหนจะนั่งก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ ถึงออฟฟิศก็เปิดจอคอมพิวเตอร์ทำงาน เห็นโฆษณาบนช่องทางออนไลน์อีกเพียบ เรียกว่ากว่าจะถึงบ้านอาจพบกับโฆษณานับ 100 นับ 1,000 แต่ประเด็นคือ มีซักกี่โฆษณาที่เราจดจำได้ในแต่ละวัน
ด้วยสาเหตุจากการถูกทิ้งระเบิดด้วยโฆษณาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา พอเชื่อมต่อเข้าสู่โลกออนไลน์ก็ถูก Tag ถูกติดตามจากโฆษณาออนไลน์ผ่านฟีด ผ่านแอปพลิเคชัน จนต้องมองหาตัวช่วยต่างๆ ในการป้องกันโฆษณา หรือยอมชำระเงินเพื่อใช้งานแพลตฟอร์มที่ไม่มีโฆษณาเข้ามากวนใจ ดังนั้น การจะทำงานโฆษณาสักชิ้นเราต้องพยายามเน้นที่คุณภาพ อย่าเน้นที่ปริมาณ และต้องสร้างความแตกต่างเพื่อให้เกิดการจดจำในเชิงบวกต่อกลุ่มเป้าหมาย
3. ทางเลือกของกลุ่มเป้าหมายมีเพิ่มขึ้น
สมัยก่อนผู้บริโภคไม่มีอำนาจและช่องทางในการเลือกรับสื่อมากเท่ากับปัจจุบัน เช่น ทำได้แค่เปิดโทรทัศน์ กับวิทยุ เพื่อฟังในสิ่งที่แบรนด์ต้องการจะพูด ต้องการจะบอก ต้องการจะขาย แต่ทุกวันนี้ทั้ง Facebook, Instagram, Twitter ได้แปลงโฉมตัวเองให้เป็นตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ให้เราเลือกจับจ่ายใช้สอยกันได้หมดแล้ว สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายมีเสรีภาพของตัวเอง และไม่ใช่แค่ผู้บริโภคอีกต่อไป แต่เป็นผู้สร้างสิทธิให้กับตัวเองในการเลือกที่จะฟัง เลือกที่จะอ่าน เลือกที่ตอบโต้สอบถามให้กลายเป็นการสื่อสารสองทาง (Two Way Communication) และเลือกตัดสินใจที่จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ในหน้า Page หรือแอปพลิเคชันเดียว ฉะนั้นแบรนด์ที่ไม่สามารถสร้างแรงดึงดูด โฆษณาที่น่าสนใจ ความน่าเชื่อถือ และตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายยุคนี้ได้ ย่อมไม่สามารถขยายธุรกิจได้ในระยะยาว
4. ประสบการณ์ที่ไม่ดีของลูกค้า
การสร้างแคมเปญโฆษณาที่ยอดเยี่ยมจะไม่มีคุณค่าและความหมายอะไรเลย ถ้าผลิตภัณฑ์ของเราไม่มีคุณภาพ หรือลูกค้ามีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับผลิตภัณฑ์ของเรา เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคอ่านรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ดังนั้น การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าทั้งผลิตภัณฑ์ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การให้บริการ รวมถึงบริการหลังการขาย ทั้งหมดนี้เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจบนโลกดิจิทัล
5. ขาดการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า
นักการตลาดสามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของการโฆษณาได้หลายวิธีด้วยกัน วิธีแรกเป็นการบอกว่าปัญหาของกลุ่มเป้าหมายคืออะไร และผลิตภัณฑ์นั้นๆ ของแบรนด์ช่วยแก้ปัญหาให้กลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร วิธีที่สอง แทรกความสนุกสนานหรือความบันเทิงเข้าไป เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีความสนุกหรือเกิดความสุขขณะรับชมโฆษณา วิธีที่สาม เล่าให้ฟังว่าแบรนด์ของเราช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร
สุดท้าย นำทุกอย่างมาวิเคราะห์และร้อยเรียงกันโดยต้องไม่ลืมคำนึงถึงเพศ อายุ รายได้ อาชีพ ของกลุ่มเป้าหมายที่จะนำเสนอโฆษณาด้วย เพราะบางครั้ง โฆษณาดีแค่ไหน แต่ถ้าเอาไปอยู่บนยอดเขายอดดอยร้างไกลเปล่าเปลี่ยวผู้คน โฆษณาชิ้นนั้นคงไม่มีใครได้เห็น ไม่ต่างกับการนำโฆษณาไปเผยแพร่ผิดช่องทาง ผิดเวลา ผิดสถานที่ กลุ่มเป้าหมายที่ได้เห็นก็อาจจะไม่ชอบ และโฆษณาเองก็คงไม่สามารถแสดงประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่
SME ที่ไม่อยากแป้ก แต่อยากทำโฆษณาให้ปัง เข้าถึงใจผู้บริโภค ก็ลองเอาวิธีเหล่านี้ไปใช้ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี