Main Idea
- ในการทำธุรกิจ หรือคิดผลิตสินค้าขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง ยิ่งเราสามารถรู้จักลูกค้าได้ดีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้มากขึ้นเท่านั้น
- การค้นหา Insight หรือความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า คือ หนึ่งในสิ่งสำคัญที่สามารถนำมาเป็นข้อมูล เพื่อให้ธุรกิจหรือแบรนด์สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีทิศทางถูกต้อง ไม่สะเปสะปะ โอกาสประสบความสำเร็จก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
การตลาดหลายตำราเคยกล่าวไว้ว่า ไม่ว่าจะคิดทำการใดให้ประสบความสำเร็จ การค้นหา Insight หรือความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าให้เจอ เปรียบเหมือนกลยุทธ์หรือทิศทางที่จะนำพาธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้อย่างถูกต้อง ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ แต่การจะรู้ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้เราจึงมานำเสนอวิธีเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถค้นหา Insight ของลูกค้าได้อย่างตรงจุด จะมีวิธีอะไรบ้างนั้น ลองไปดูกัน
ทำแบบสอบถาม
ถือเป็นขั้นตอนแรกที่จะทำให้เราสามารถรู้จักกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ หรือความต้องการในเบื้องต้นได้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการผลิตสินค้าขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง รวมถึงการพัฒนาสินค้าที่มีอยู่เดิมให้ดีมากยิ่งขึ้น วิธีการนี้อาจสามารถทำได้แบบทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เช่น อาจแจกแบบสอบถามเพื่อขอความคิดเห็นสั้นๆ การส่งอีเมลล์ หรือเปิดกิจกรรมหน้าเว็บไซต์หรือเพจให้คนเข้ามาร่วมสนุก แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจ อาจมีของชำร่วยเล็กๆ น้อยๆ แทนการขอบคุณเพื่อเสียสละเวลาในการทำแบบสอบถามให้ก็ได้
ส่งสินค้าให้ทดลองใช้
ข้อนี้ เรียกว่าเป็นการเจาะลึกความต้องการแบบละเอียด บางครั้งแค่แบบสอบถามอาจไม่เพียงพอ เราอาจอยากทราบความต้องการแบบเชิงลึก เพื่อสามารถนำมาพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ได้ วิธีการนี้อาจลองสุ่มกลุ่มตัวอย่าง หรือเปิดรับอาสาสมัครเพื่อให้นำผลิตภัณฑ์ไปทดลองใช้ จากนั้นก็อาจทำการสัมภาษณ์ หรือให้ตอบแบบสอบถามสั้นๆ กลับมา วีธีการนี้อาจทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึก แต่อาจต้องใช้เวลา ลงทุนทรัพยากร และเก็บรวบรวมนานสักหน่อย เพราะต้องทดสอบและรอผลตอบกลับจากลูกค้าแต่ละราย แต่ถ้าทำได้ก็ดีทีเดียว
ออกบูธแสดงสินค้า
อีกวิธีที่จะทำให้ล่วงรู้ถึง Insight ของลูกค้าที่แท้จริงได้สำหรับแบรนด์หรือสินค้าที่เพิ่งเปิดตลาดใหม่ ก็คือ การออกบูธแสดงสินค้า เพื่อทดสอบกับตลาดของจริง ซึ่งนอกจากจะเป็นเหมือนเวทีแรกๆ เพื่อเปิดตัวสินค้าให้เป็นที่รู้จักแล้ว ขณะเดียวกันก็อาจช่วยให้แบรนด์ได้พบเจอกับลูกค้า ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ ได้สอบถามความคิดเห็น และเก็บเป็นข้อมูลนำมาใช้ในการวางแผนการตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปจนได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้
จัดกิจกรรม
วิธีการนี้อาจใช้ในช่วงที่เริ่มต้นเปิดตัวแบรนด์ หรือสร้างแบรนด์ทำธุรกิจมาแล้วพักหนึ่งก็ได้ โดยการจัดกิจกรรมถือเป็นการสร้างโอกาสสานสัมพันธ์อันดีระหว่างแบรนด์และลูกค้า และแนะนำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้ดียิ่งขึ้น เช่น ช่วยให้ลูกค้าได้เห็นถึงประโยชน์ที่แท้จริงของสินค้าได้ชัดเจนมากขึ้น ได้รู้ว่าสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ได้บ้าง นอกจากนี้การจัดกิจกรรมยังทำให้แบรนด์สามารถมีโอกาสสอบถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ผลการทดลองใช้ ความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ รวมถึงความต้องการที่ยังขาดการตอบสนองแก่ลูกค้าได้ แถมผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่ง คือ ได้สร้างฐานแฟนพันธุ์แท้ให้กับแบรนด์ได้ด้วย
ฟีดแบ็กจากลูกค้า
นับเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้แบรนด์ล่วงรู้ Insight หรือความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้ บางครั้งฟีดแบ็กหรือคอมเมนต์ต่างๆ เหล่านั้นแหละ คือ สิ่งที่ลูกค้ากำลังพยายามบอกกับแบรนด์ให้รับรู้ หากไม่มองข้าม ลองเก็บรวบรวมนำมาคิด อาจทำให้สามารถเจอจุดบอดของสินค้า รวมไปถึงข้อดี จุดแข็งของแบรนด์ก็เป็นได้
สุดท้ายแล้วหากเราสามารถทราบ Insight ที่แท้จริงของลูกค้าได้แล้ว ข้อสำคัญอีกอย่าง คือ การวิเคราะห์ แปลผลจากข้อมูลดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงได้ด้วย เพื่อนำไปเป็นแนวทางการทำตลาด รวมถึงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ออกมาตอบโจทย์ ตรงใจความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี