Main Idea
- มูลค่าธุรกิจบริการอาหารในประเทศไทยปี 2560 อยู่ที่ 836,856 ล้านบาท แบ่งเป็น Street Food ถึง 32.43 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 2.7 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 แสนล้านบาท ในปี 2564
- ธุรกิจอาหารยังคงแข่งขันกันรุนแรง ด้วยจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี กลายเป็นโจทย์ของผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาด ให้ต้องใช้พลังของ “วัตถุดิบและความคิดสร้างสรรค์” มาพลิกธุรกิจอาหารให้ปัง
เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ยังคงแข่งขันกันรุนแรง สำหรับธุรกิจอาหาร ด้วยจำนวนผู้เล่นที่เท่าทวีขึ้นทุกปี แม้จะคนล้มหายตายจากไปไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมในธุรกิจนี้ลดลง โดย Euro monitor International รายงานมูลค่าธุรกิจบริการอาหารในประเทศไทยปี 2560 พบว่าอยู่ที่ 836,856 ล้านบาท แบ่งเป็น Street Food ถึง 32.43 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 2.7 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 แสนล้านบาท ในปี 2564
วันนี้หันไปทางไหนก็มีแต่ร้านชานมไข่มุก ซึ่งปัจจุบันตลาดชานมไข่มุกในไทยมีมูลค่าถึงประมาณ 2,500 ล้านบาท ขณะที่ร้านกาแฟสดสร้างมูลค่าตลาดอยู่ถึง 17,000 ล้านบาท
เม็ดเงินมหาศาล กลายเป็นขนมหวานส่งกลิ่นเย้ายวนใจให้ผู้เล่นทั้งรายใหญ่ รายเล็ก และรายใหม่ ต่างอยากลงมาชิงพื้นที่เค้กในสนามนี้ จนเมืองไทยเต็มไปด้วยธุรกิจอาหาร
เฉพาะแค่ร้านอาหารริมทางก็มีถึงกว่า 103,000 ร้านเข้าไปแล้ว!
ถามว่าเป็นร้านเปิดใหม่จะฉีกตัวเองจากนับแสนร้านที่เกิดมาก่อนหน้าได้อย่างไร…ถ้าไม่แปลกและแตกต่าง
ไม่ WOW ผู้บริโภคไม่ WANT ต้องสร้างจุดขายด้วยวัตถุดิบ
การทำธุรกิจอาหารไม่ได้ง่ายเหมือนการต้มไข่ แต่ผู้ประกอบการวันนี้ต้องรับมือกับคู่แข่งจำนวนมหาศาล และยังต้องต่อสู้กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เอาชนะใจยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนเบื่อความซ้ำซากจำเจ เสพติดโซเชียล ชอบแสดงตัวตนบนโลกออนไลน์ วิ่งหาของแปลกใหม่เพื่อที่จะได้แชะแล้วแชร์ ส่งต่อถึงเพื่อนๆ ในโลกโซเชียล เป็นมนุษย์ชาว FOMO (Fear Of Missing Out) ที่กลัวตกข่าวสำคัญๆ กลัวจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษที่มีอยู่จำกัด แล้วถามว่าถ้ายังขายของธรรมดาๆ หาได้ทั่วไปในท้องตลาด ไม่ยอมปรับตัวเพิ่มความแปลกใหม่ให้กับสินค้าและบริการที่ร้าน แล้วจะเรียกความสนใจจากผู้บริโภคยุคนี้ได้อย่างไรเล่า
“คนยุคนี้โดยเฉพาะเด็กเจนใหม่เขาอยู่บนโลกทวิตเตอร์ ซึ่งเร็วยิ่งกว่าเฟซบุ๊กเสียอีก ฉะนั้นถ้ามีอะไรใหม่ๆ ที่เขารู้สึกว้าว เช่น เมนูแปลกๆ ใหม่ๆ จากวัตถุดิบแปลกๆ อย่าง บิงซูไข่เค็มลาวา เขาจะรีบแชร์ทันที และกระแสมันไปไวมาก อย่างวันนี้เห็นในโซเชียลปุ๊บ อีกวันต้องตามไปกินทันทีเพราะไม่อย่างนั้นจะช้าตามคนอื่นเขาไม่ทัน เป็นพวก FOMO ที่กลัวตกข่าวตกกระแส รวมถึงการมีสื่อออนไลน์ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น มีความรู้มากขึ้น ออกเดินทางมากขึ้น มีประสบการณ์ในการกินมากขึ้น จึงเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เมนูใหม่ๆ ซึ่งเป็นเทรนด์ของคอนซูเมอร์ยุคนี้ ที่ส่งผลอย่างมากต่อธุรกิจอาหาร”
ผศ. ดร. พัลลภา ปีติสันต์ อาจารย์ประจำสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) บอกเทรนด์ของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนโลกธุรกิจอาหาร กลายเป็นโอกาสของเมนูสร้างสรรค์ที่มีวัตถุดิบเป็นจุดขาย
วัตถุดิบ + ความคิดสร้างสรรค์ = โอกาสธุรกิจอาหาร
วัตถุดิบมีอยู่มากมายในโลกใบนี้ แต่การจะเปลี่ยนให้กลายเป็นอาหารว้าวๆ ขึ้นมาได้ แค่วัตถุดิบอาจยังไม่พอ ตัวจุดพลังสำคัญคือหัวใจที่ชื่อ ความคิดสร้างสรรค์(Creativity)
ถามว่าถ้าสองอย่างนี้อยู่ด้วยกันจะเกิดอะไรขึ้น
กาแฟไข่เค็มลาเต้ พิซซ่าหน้าทุเรียน ทิรามิสุครีมดักแด้ มันฝรั่งทอดกรอบรสมะนาว หรือจะบราวนี่พริกขี้หนูสวน คือตัวอย่างเมนูแปลกใหม่ที่เกิดจากการจับคู่วัตถุดิบ มาผสานกับ ความคิดสร้างสรรค์ จนก่อเกิดเป็นเมนูอาหารที่หลุดกรอบจากความธรรมดา มาเป็นของใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคยุคนี้ต้องร้องว้าว
วัตถุดิบสร้างสรรค์ทำให้อาหารมีเสน่ห์ น่าสนใจ ดึงดูดให้ผู้บริโภคยุคนี้อยากลิ้มอยากลอง กลายเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่คนทำธุรกิจจะได้ฉกฉวย ในยุคที่ผู้บริโภคขี้เบื่อ แถมยังมีร้านให้เลือกมหาศาล ถ้าผู้ประกอบการยังทำร้านแบบเดิมๆ เมนูเดิมๆ ขายอยู่ในทำเลเดิม การจะได้ลูกค้าใหม่ๆ หรือทำให้ลูกค้าเก่าซื้อเพิ่มขึ้นได้นั้นเป็นไปได้ยากมาก
เมนูสร้างสรรค์จากวัตถุดิบใหม่ๆ จึงมาตอบโจทย์ทำให้ลูกค้าเก่าที่อยากลองของใหม่มีโอกาสซื้อเพิ่มขึ้น เวลาเดียวกันก็ดึงดูดลูกค้าใหม่ให้มาลองลิ้มไปพร้อมกันด้วย ซึ่งหากรสชาติของใหม่ถูกปากก็จะเปลี่ยนลูกค้าใหม่ให้กลายเป็นแฟนประจำของร้านได้ไม่ยาก
อีกโอกาสธุรกิจ คือวัตถุดิบและความคิดสร้างสรรค์ จะช่วยสร้างแวลู่ให้กับสินค้าอาหาร โดยสามารถตั้งราคาได้สูงขึ้นจากความแปลกใหม่ และเป็นราคาที่ลูกค้าพร้อมยอมจ่ายด้วย เพราะรู้สึกถึงความพิเศษที่ได้รับ เช่น กาแฟลาเต้ไข่เค็ม และช็อคโกแลตไข่เค็ม ของ คาเฟ่ อเมซอน ที่ตั้งราคาสูงกว่ากาแฟธรรมดา แต่ก็ยังกลายเป็นเมนูยอดนิยมในช่วงที่เริ่มจำหน่าย หรือชานมไข่มุกน้องใหม่หลายร้านที่ใช้วัตถุดิบและรสชาติแปลกใหม่มายกระดับชานมราคาหลักสิบให้กลายเป็นชมนมหลักร้อย เรียกว่าแพงกว่าราคาอาหาร และใกล้เคียงกับกาแฟแบรนด์ดังอย่างสตาร์บัคส์ แต่ก็ยังขายดิบขายดี มีคนต่อคิวซื้อ
นี่คือตัวอย่างพลังของ “วัตถุดิบ + ความคิดสร้างสรรค์” ที่กลายเป็นโอกาสใหม่ๆ ในการขาย ขยายตลาด และเรียกเงินในกระเป๋าผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มอาหาร สามารถนำมาสร้างโอกาสในสมรภูมิที่ดุเดือดของการแข่งขันวันนี้ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี