วิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี 2008-2009 นั้นส่งผลให้การค้าของโลกเปลี่ยนไป เห็นได้จากอัตราการเติบโตของการนำเข้าโลกที่ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้การส่งออกของไทยที่ถึงแม้จะมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปี 2009-2010 แต่กลับมีการชะลอตัวในเวลาต่อมา ดังนั้นมาตรการในการผลักดันเศรษฐกิจที่จำเป็นคือการส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศ
นอกจากนี้ การสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคการส่งออกไทยอีกทางหนึ่งคือ การเน้นการส่งออกไปยังภูมิภาคที่มีการฟื้นตัวและเติบโตเร็วเช่น กลุ่มลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และ แอฟริกา
หลังวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2008-2009 การค้าโลกมีการเติบโตที่ลดลง ทั้งในกลุ่มสินค้าคงทนและไม่คงทน โดยช่วงปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจการนำเข้าของสินค้าคงทนและไม่คงทนลดลงกว่า 21% และ 27% ตามลำดับ
โดยสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำเข้าหลักของโลกในเวลานั้น มีการนำเข้าที่ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยนำเข้าสินค้าคงทนและไม่คงทนลดลง 23% และ 38% ตามลำดับ
และแม้การค้าโลกจะมีการฟื้นตัวได้เร็วในช่วงปี 2010 แต่ยังถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติมาก หากเราเปรียบเทียบระหว่างช่วง 2001 - 2008 และ 2009 - 2013 การนำเข้าของโลกในช่วงแรกเติบโตกว่า 15% ต่อปี แต่ในช่วงหลังนั้นลดเหลือเพียง 7% ต่อปี
อีกทั้งเรายังพบว่าถึงแม้ภาพเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่มูลค่าการนำเข้ากลับไม่ได้ดีตามไปด้วย นอกจากนี้ หากวิเคราะห์การค้าโลกเปรียบเทียบกับ GDP พบว่าสัดส่วนการนำเข้าต่อ GDP นั้นเริ่มมีการปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2011 แสดงถึงการค้าที่ชะลอตัวไม่สอดคล้องกับการเติบโตของ GDP โดยที่สินค้าแต่ละประเภทได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป
สินค้าที่ได้รับผลกระทบน้อยและมีการฟื้นตัวเร็ว ในการเปลี่ยนแปลงของการค้าโลกคือ สินค้าพื้นฐาน เช่น อาหารสดและอาหารแปรรูป หากมองลึกลงไปถึงกลุ่มสินค้าต่างๆ ของการนำเข้าโลก จะพบว่าอาหารสดและอาหารแปรรูป เป็นหมวดสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าของโลกลดลงน้อยกว่า 10 % ในช่วงปี 2009 และยังสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนวิกฤติได้ภายในหนึ่งปี
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤติค่อนข้างหนักโดยที่มูลค่านำเข้าลดลงมากกว่า 15% แต่ฟื้นตัวเร็ว คือ สินค้าประเภทพลาสติกและยาง รวมถึงหินและแก้ว ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่การฟื้นตัวของการส่งออกของไทยนั้นดีกว่าการฟื้นตัวของการค้าโลกอยู่พอสมควร
สินค้าเหล่านี้นับว่ามีความยืดหยุ่นสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งปีในการกลับมาสู่ระดับที่สูงกว่าช่วงปี 2008 (ยกเว้นสินค้าประเภทแร่และเชื้อเพลิง) ยิ่งไปกว่านั้นในสินค้าบางประเภทที่การนำเข้าของโลกถือว่าได้รับผลกระทบหนัก
เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ที่ยังติดลบถึง 10% แต่หลังจากผ่านวิกฤติไปแล้วหนึ่งปีไทยกลับมาส่งออกได้มากขึ้นกว่า 9% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันได้ดี นอกจากนี้ ช่วงปี 2010-2013 การส่งออกของไทยในสินค้าหลักยังคงมีอัตราการเติบที่สูงกว่าการนำเข้าของโลก ทั้งนี้ แม้การส่งออกของไทยจะยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดี แต่ก็ยังมีโอกาสขยายตัวได้มากขึ้นอีกหากมุ่งไปยังตลาดใหม่ๆ ที่ขยายตัวสูง
ตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยคือ ภูมิภาคที่เป็นผู้นำเข้าขนาดเล็กเช่น กลุ่มลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และ แอฟริกา ที่ในยุคการค้าปัจจุบันมีแนวโน้มการเติบโตสูงและไทยมีสินค้าที่สามารถเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มนี้ได้ ในช่วงวิกฤติปี 2009 นั้น ภูมิภาคที่มีความยืดหยุ่นและสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าการฟื้นตัวของโลก คือ กลุ่มลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และ แอฟริกา
สำหรับช่วงหลังวิกฤตินั้น ทั้งสามภูมิภาคดังกล่าวมีอัตราการเติบโตของการนำเข้าที่เหนือกว่าสหรัฐฯ โดยที่มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 8% เมื่อเทียบระหว่างปี 2008 กับ 2013 ในขณะทั้งสามภูมิภาคเติบโตกว่า 20%-30% ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ไทยยังคงมีสัดส่วนการส่งออกไปยังทั้งสามภูมิภาคค่อนข้างน้อย
นอกจากนี้ เมื่อรวมตลาดทั้งสามภูมิภาคเข้าด้วยกันถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ โดยที่มูลค่าการนำเข้าของรวมกันอยู่ที่ประมาณ 14% ของการนำเข้ารวมของโลก ซึ่งมีขนาดที่ใหญ่กว่าการนำเข้าของทั้งสหรัฐฯ (12%) และจีน (10%) แสดงให้เห็นว่า ตลาดกลุ่มดังกล่าวเป็นตลาดส่งออกที่มีความน่าสนใจทั้งให้แง่การเติบโตที่สูงและขนาดที่ใหญ่
ยิ่ง ไปกว่านั้น สินค้าของไทยยังมีศักยภาพในการส่งออกไปยังภูมิภาคเหล่านี้อยู่แล้ว เนื่องจากประเทศในภูมิภาคเหล่านี้มีการนำเข้าสินค้าที่เราสามารถตอบสนองได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 2013 ทั้งสามภูมิภาคมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เป็นสัดส่วนที่ค่อนข้าง ใหญ่ (ประมาณ 10% ของการนำเข้าทั้งหมด) โดยเป็นสินค้าหลักๆ เช่น เครื่องรับส่งสัญญาณ ชิ้นส่วนประกอบโทรศัพท์ และ แผงวงจรรวม ซึ่งประเทศไทยก็ส่งออกสินค้าเหล่านี้อยู่แล้ว
ผู้ประกอบการที่เน้นการส่งออกเป็นหลักนั้น ควรที่จะหาตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจในการส่งออกสินค้าเพิ่มเติม จากข้อมูลในอดีตทำให้เราเห็นว่าการส่งออกของไทยในช่วงเกิดวิกฤตินั้นมีความยืดหยุ่นสูงมาก มีอัตราการฟื้นตัวที่เร็วกว่า การฟื้นตัวของการนำเข้าโลกอยู่แล้ว
ดังนั้นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการในการขยายการส่งออกคือ การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวและเติบโตเร็ว เช่น กลุ่มลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และ แอฟริกา ซึ่งผู้ประกอบการสามารถหาข้อมูล ได้จากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
ในส่วนภาครัฐนั้น จากการค้าโลกที่เปลี่ยนไปการส่งออกเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาตรการที่เน้นการเติบโตจากในประเทศเป็นทางเลือกที่จำเป็น ผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าของโลก โดยเฉพาะประเทศผู้นำหลักอย่างสหรัฐฯ เห็นได้จากการเติบโตของมูลค่าการนำเข้าหลังวิกฤติที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติ ส่งผลให้การส่งออกของไทยในระยะหลัง ช่วง 2010 – 2013 ชะลอตัวลง
ดังนั้น การหวังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในการผลักดันเศรษฐกิจโดยรวมนั้นอาจจะไม่เพียงพอ มาตรการที่ภาครัฐฯ สามารถเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยคือ การเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งจากภายใน (domestic –led growth) โดยเน้นการส่งเสริมการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ ตลอดจนการลงทุนของภาครัฐฯ ร่วมด้วย