ธนาคารเอชเอสบีซี เผยรายงานการสำรวจคาดการณ์การค้าโลกล่าสุด ระบุการค้าโลกจะกลับมาสู่วิถีแห่งการเติบโตอีกครั้งในปี 2559 หลังชะลอตัวมานานจากผลพวงวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลดีและสร้างโอกาสใหม่ ๆ แก่ธุรกิจที่ปรับตัวรับประโยชน์
รายงานการสำรวจทางการค้าของเอชเอสบีซี ระบุว่า บริษัทส่งออกและนำเข้าในกลุ่มวัฏจักรธุรกิจ อาทิ อุปกรณ์การขนส่งและโลหะ จะได้ประโยชน์เป็นกลุ่มแรกจากการกลับมาเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะฟื้นกลับมาเติบโตที่ร้อยละ 8 ในปี 2559 เทียบกับปีที่ผ่านมาที่โตเพียงแค่ร้อยละ 2.5
หากมองในระยะยาว รายงานการค้าคาดว่า การค้าโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวนับจากนี้จนถึงปี 2573 เนื่องจากบริษัทที่ปรับตัวเก่งจะสามารถหาประโยชน์จากความสามารถในการผลิตที่เพิ่มขึ้น และความมั่งคั่งของผู้บริโภคในตลาดเกิดใหม่
มร. ไซมอน คูเปอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจพาณิชย์ธนกิจ กลุ่มเอชเอสบีซี กล่าวว่า “ธุรกิจต่าง ๆไม่ควรจะวิตกกับความเสี่ยงจากปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ และอัตราการเติบโตที่ไม่สม่ำเสมอ จนกระทบต่อ
การวางแผนธุรกิจในอนาคต เงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคต่อการค้าก็จริง แต่สถานการณ์ตอนนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว โอกาสสำหรับธุรกิจทั้งในระยะกลางและระยะยาวที่เตรียมพร้อมรับการฟื้นตัวของการค้าทั้งในตลาดที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาสดใสขึ้นมาก”
เศรษฐกิจสหรัฐและอังกฤษที่กลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น พร้อม ๆ กับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจในแถบยูโรโซน จะเป็นปัจจัยหนุนให้บริษัทการค้าระหว่างประเทศจำนวนมากเติบโตธุรกิจในช่วงปี 2558 การเติบโตของตลาดเกิดใหม่ในระยะสั้นมีความอ่อนไหวมากขึ้น แต่ในเชิงเปรียบเทียบตลาดเกิดใหม่ก็ยังคงโตเร็ว สะท้อนถึงความท้าทายในเชิงโครงสร้างและความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าทางเรือจากจีนไปต่างประเทศคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5 เท่า ภายในปี 2573 เนื่องจากความสัมพันธ์ทางการค้าที่แนบแน่นระหว่างจีนกับตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ปัจจุบัน มูลค่าการส่งออกสินค้าของจีนไปตลาดโลกสูงกว่าเยอรมนี และสหรัฐถึง 1.4 เท่า และจะเพิ่มมากขึ้นอีกจนเกือบเป็น 3 เท่าของการส่งออกของสหรัฐ
ขณะเดียวกัน อินเดียมีแนวโน้มจะกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกที่เติบโตเร็วที่สุดของโลกในช่วงจากปี 2557 จนถึงปี 2573 และมีโอกาสจะขยับขึ้นจากประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้ามากที่สุดอันดับ 14 มาเป็นอันดับ 5 ของโลก
อินเดียกำลังมาแรงในตลาดการค้าโลก
มร. นาเรนดา โมดิ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดีย เปิดเผยถึงแผนปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดียเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการแถลงการจัดทำงบประมาณครั้งแรก โดยบอกว่าการปฏิรูปที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นจะช่วยกระตุ้นการส่งออกของอินเดียให้ขยายตัวกว่า 5 เท่าภายในปี 2573 โดยจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11 ต่อปี
ปัจจุบัน การส่งออกของอินเดียส่วนใหญ่ยังพึ่งพิงสินค้าคุณภาพค่อนข้างต่ำ รวมทั้งกลุ่มแร่เชื้อเพลิง สิ่งทอ และอัญมณี อย่างไรก็ตาม เอชเอสบีซี คาดว่าในอนาคตหมวดอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและทักษะฝีมือเข้มข้น อาทิ ยาและเวชภัณฑ์1 และรถยนต์2 จะกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนสำคัญของการส่งออกรวมของอินเดีย
รายงานการสำรวจ คาดว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะกลายเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอินเดียภายในปี 2573 เนื่องด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังทวีความสำคัญขึ้นในฐานะเป็นศูนย์กลางการส่งออกต่อ ซึ่งจะสะท้อนถึงรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไปในอนาคต และอินเดียจะมุ่งเน้นนโยบายมองตะวันออกมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออก
ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคในชนชั้นต่าง ๆ ของอินเดียที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วจะเป็นโอกาสดีของผู้ผลิตในตลาดอื่น ๆ ของโลกที่จะเติบโตการส่งออกของตนเอง เอชเอสบีซี คาดว่าการนำเข้าของอินเดียจะเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าภายในปี 2573 โดยจีนน่าจะฉกฉวยประโยชน์ได้มากที่สุดจากตลาดอินเดียที่กำลังขยายตัว โดยการส่งออกไปอินเดียคาดว่าจะขยายตัวเกินกว่า 9 เท่า และยังคงเป็นผู้ส่งออกสินค้าหลักของโลกไปยังอินเดีย ขณะที่สหรัฐจะขยับอันดับขึ้นมาเล็กน้อยจากอันดับ 5 มาอยู่อันดับ 4 โดยการส่งออกของสหรัฐไปอินเดียขยายตัวกว่า 3 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน