Main Idea
- ผู้ส่งออกไทย มีประมาณ 30,000 ราย ในจำนวนนี้เป็น SME ที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ สร้างมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมด จะเห็นได้ว่า SME มีส่วนสำคัญต่อภาคการส่งออกไทยอย่างยิ่ง
- สถานการณ์การส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัวจากปี 2561 โดยมูลค่าลดลงถึง 2.7 เปอร์เซ็นต์อย่างไรก็ตามยังถือว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โลกน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
- SME ไทยควรเน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม และกระจายสินค้าให้ตรงตามที่ตลาดแต่ละประเทศต้องการ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น
ในจำนวนผู้ส่งออกไทยทั้งหมดประมาณ 30,000 ราย มีผู้ประกอบการ SME ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ที่ร่วมการสร้างมูลค่าการส่งออก 30 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ยังต้องการ SME ที่สามารถส่งออกได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาบริษัทใหญ่ นำไปสู่การรวมกลุ่มและสร้างพันธมิตรทางการค้า และสร้างเสถียรภาพทางการส่งออกให้มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวขณะนี้
หลังจากผ่านครึ่งปีแรกไป กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้เผยข้อมูลการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 ของประเทศไทยรวมมูลค่า 101,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,204,470 ล้านบาท ลดลง 2.7 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเนื่องมาจากภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกยังอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงและปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง
- การค้าโลกอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง
ถึงอย่างนั้น การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และขยายตัวได้ดีในหลายตลาดทั้งตลาดสำคัญเดิม อาทิ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย และตลาดดาวรุ่งใหม่ เช่น แคนาดา และรัสเซียและ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และกระจายตัวในหลายตลาด ทั้งตลาดจีน อาเซียน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และฮ่องกง โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป และเครื่องดื่ม
ส่วนกรณีค่าเงินบาทที่แข็งตัวนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการเตรียมรองรับไว้แล้วและคาดว่าเมื่อการประชุม G20 เสร็จสิ้นสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจะคลี่คลายลงซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาทต่อไป
- กลยุทธ์เจาะตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม
บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “จุดแข็งที่สำคัญต่อการส่งออกไทย คือ มีการกระจายตัวของตลาดส่งออกในระดับดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยปี 2561 การส่งออกไทยมีค่าดัชนีการกระจุกตัวของตลาดส่งออก (Concentration of Importing Countries) อยู่ที่ 0.05 เป็นระดับที่ต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งแสดงถึงความหลากหลายของตลาดส่งออกไทยที่ไม่ได้พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป และมีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยที่ไม่คาดคิดได้ดี ขณะที่ ลาว บรูไน เมียนมา และ เวียดนาม มีลักษณะตลาดส่งออก ที่ค่อนข้างกระจุกตัว ในการนี้ไทยจึงควรใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์ขยายโอกาสการส่งออกในตลาดศักยภาพ”
ผู้ประกอบการจึงต้องเน้นการเจาะตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม และกระจายสินค้าให้ตรงตามที่ตลาดแต่ละประเทศต้องการ เช่น การส่งออกไปยังประเทศอินเดียจะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์และอาหาร ประเทศญี่ปุ่น จากการสำรวจพบว่าเป็นตลาดที่กำลังจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะ จ.โยโกฮาม่า ที่ขณะนี้กำลังนิยมเรื่องการทำสปา จ.คุมาโมโตะ นิยมสินค้าประเภทของชำร่วย กิฟต์ช็อป จากการสำรวจพบว่าญี่ปุ่นจะเป็นตลาดที่กลับมามีความคึกคักอีกครั้ง รวมทั้งเน้นการขายออนไลน์
ซึ่ง DITP ได้มีแผนผลักดันการส่งออกช่วงครึ่งหลังปี 2562 โดยใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ ไม่ว่าจะเป็น กลยุทธ์รายพื้นที่ขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย และ CLMV และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น รัสเซีย และแคนาดา นอกจากนี้ ยังให้ความสาคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออก อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดี มาตรฐานระดับสากล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิม
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี