Main Idea
- สมัยนี้ผู้ชายดูแลตัวเองไม่แพ้ผู้หญิง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ธุรกิจเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายจะขยายตัวอย่างมาก
- โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ต้นฉบับของวัฒนธรรมเค-ป๊อป หรือแม้แต่ตลาดจีน ที่เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องรูปร่างหน้าตากันมากขึ้น
- ส่งผลให้เครื่องสำอางผู้ชายในจีนมีมูลค่าสูงถึง 44,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะเติบโตมีมูลค่าเท่าตัวในอีก 12 ปีข้างหน้า
เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่จำกัดเฉพาะสุภาพสตรีอีกต่อไป ผู้ชายสมัยนี้ก็บำรุงผิวและแต่งหน้าเพื่อให้ดูดีไม่แพ้ผู้หญิงเช่นกัน ตลาดที่เปิดกว้างสุดสำหรับเครื่องสำอางผู้ชายเห็นจะเป็นตลาดเกาหลีใต้เนื่องเพราะอิทธิพลของวัฒนธรรมเค-ป๊อปที่กำลังแพร่ขยาย ขณะที่จีนเองผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ก็กำลังทดสอบค่านิยมทางวัฒนธรรมของจีน ปี 2561 ที่ผ่านมา ตลาดเครื่องสำอางผู้ชายในจีนมีมูลค่าสูงถึง 44,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะเติบโตมีมูลค่าเท่าตัวในปี 2573 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า
สินค้าที่ออกสู่ตลาดมีตั้งแต่อายชาโดว์ไปจนถึงครีมรองพื้น โดยมีแบรนด์ชั้นนำของโลกเข้ามาร่วมด้วย อาทิ แบรนด์ “ชาเนล” จากฝรั่งเศส และแบรนด์ “โพลาออร์บิส” จากญี่ปุ่นที่เปิดตัวเครื่องสำอางชุดต่างๆ เพื่อรองรับกระแสความนิยมในหมู่ลูกค้าผู้ชายโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าในเอเชีย โพลาออร์บิสนั้นแนะนำครีมรองพื้นออกมา 15 ชนิดด้วยกันเพื่อครอบคลุมทุกเฉดผิว โดยใช้ชื่อแบรนด์ “Crispin” และ “Joaquin” นอกจากลูกค้ากลุ่มชายเจ้าสำอาง ทางแบรนด์ยังพุ่งเป้าไปที่ลูกค้ากลุ่มอื่น ได้แก่ บรรดานักธุรกิจหรือผู้บริหารที่ดูแลตัวเองเพื่อให้ดูดี
อากิระ โกโกะ ประธานบริษัท Acro ซึ่งเป็นบริษัทในเครือโพลาออร์บิส กล่าวว่า จากความไม่แน่นอนของธุรกิจนี้ในช่วงที่ผ่านมา บวกกับการที่มี ลอรีอัล แบรนด์จากฝรั่งเศสยืนหนึ่งในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย ทำให้ แบรนด์ต่างๆ ยังไม่ค่อยอยากเสี่ยงที่จะทุ่มโฆษณามากเกินไป
“เราไม่ได้คาดหวังว่าจะเห็นยอดขายพุ่งขึ้นทันที แต่เราพยายามสร้างวัฒนธรรมเพื่อให้ตลาดค่อยๆ เติบโต”
อย่างไรก็ตาม การตอบรับที่เพิ่มมากขึ้นในหลายตลาด เช่น ตลาดเกาหลีใต้ที่บรรดานักร้องวงบอยแบนด์ได้ พรีเซนต์ความน่ารัก ผิวหน้าเนียนใสไร้ไฝฝ้าก็ได้กลายเป็นต้นแบบที่ส่งผลให้ตลาดเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอางผู้ชายเติบโตอย่างมีศักยภาพ ยกตัวอย่าง ลี โฮจุน หนุ่มเกาหลีวัย 28 ปีผู้ทำอาชีพแฟชั่นดีไซเนอร์ซึ่งเล่าว่าผู้ชายคนอื่นอาจแต่เขียนคิ้วหรือทาปากให้ระเรื่อ แต่เขาชอบที่จะแต่งหน้าแบบเต็มๆ มีใช้รองพื้น และแวะเคาน์เตอร์เครื่องสำอางชายเป็นประจำโดยไม่เขินอาย
ข้อมูลจากบริษัทวิจัยยูโรมอนิเตอร์ระบุสินค้าเกี่ยวกับเครื่องประทินผิวและความงามสำหรับผู้ชายในตลาดโลกเมื่อปี 2560 มีมูลค่า 49,500 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ตลาดอื่นเน้นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการโกนหนวดและดับกลิ่นกาย แต่ตลาดเอเชียผลิตภัณฑ์ประเภทประทินผิวเติบโตสูงมาก คิดเป็นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายสกินแคร์ทั้งหมดทั่วโลก และขึ้นแท่นผลิตภัณฑ์ที่เติบโตเร็วสุดเซกเมนต์หนึ่ง
ส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องสำอางส่วนใหญ่หันมาจับตลาดผู้ชาย เช่น ลอรีอัลที่เริ่มทำโฆษณาเครื่องสำอางผู้ชายครั้งแรกเมื่อปี 2559 เป็นแคมเปญโฆษณาครีมบีบีรองพื้นสำหรับผู้ชาย ขณะที่ เอสเต้ ลอเดอร์ ก็แนะนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับผู้ชายภายใต้แบรนด์ “Lab Series” และล่าสุดเพิ่งเปิดตัวมอยเจอไรเซอร์แบบมีสีที่เวลาทาแล้วจะทำให้ใบหน้าดูฟุ้งๆ เหมือนใช้ฟิลเตอร์เวลาถ่ายภาพ
แต่แบรนด์ที่ขึ้นชื่อสุดในเรื่องเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายคือ ทอม ฟอร์ด แบรนด์จากสหรัฐฯ ทอม ฟอร์ดจำหน่ายลิปสติกผู้ชาย 2 รุ่นด้วยกันได้แก่ “Alistair” และ “Scott” นอกจากนั้นยังผลิตโคลนพอกหน้ากระปุกละ 60 ดอลลาร์ออกจำหน่ายด้วย ด้านชาเนลที่เพิ่งเข้ามาจับตลาดนี้ แนะนำรองพื้นราคาสูงถึง 75 ดอลลาร์แต่ก็ขายได้เพราะยังมีลูกค้าชายที่ต้องการรองพื้นคุณภาพดีเพื่อใช้ปกปิดรูขุมขนให้เนียนดูธรรมชาติ นอกจากนั้น ชาเนลยังแนะนำผลิตภัณฑ์อื่นได้แก่ลิปบาล์ม และดินสอเขียนคิ้วภายใต้แบรนด์ “Boy” อีกด้วย โดยวางจำหน่ายที่เกาหลีเป็นตลาดแรกและจะขยายไปยังตลาดอื่นในเอเชียในภายหลัง
ที่ตลาดจีน การเปิดตัวเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายได้รับการตอบรับดีเนื่องจากค่านิยมของการตัดสินกันด้วยรูปร่างหน้าตา ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เฉพาะดารา นักร้องหรือคนในวงการบันเทิงที่แต่งหน้า หากแต่หนุ่มจีนรุ่นใหม่ทั่วไปรวมถึงนักเรียนนักศึกษาก็ใช้เครื่องสำอางเช่นกันเพราะต้องการดูดีแต่ก็กระอักกระอ่วนหากต้องหาซื้อเครื่องสำอางผู้หญิงมาใช้ เจดีดอทคอม อีคอมเมิร์ซอันดับ 2 ของจีนจำนวนลูกค้าชายที่ซื้อสินค้าประเภทเครื่องประทินผิวเพิ่มขึ้นมาก และ แบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ ดิออร์ และ SK-II
อ้างอิง : www.scmp.com/news/asia/east-asia/article/2178807/asias-emerging-mens-make-market-now-attracting-some-worlds
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี