Main Idea
- การเติบโตอย่างรวดเร็วและความนิยมของแอปพลิเคชันสั่งอาหารได้ดึงดูดผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหารให้เข้ามาขยายตลาด ก่อให้เกิดโอกาสและความท้าทายที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนธุรกิจ
- ไม่เพียงแต่ช่วยเร่งการขยายตัวของธุรกิจ Food Delivery แต่แอปพลิเคชันสั่งอาหารยังช่วยกระจายรายได้ให้กับผู้เล่นในห่วงโซ่ธุรกิจ อาทิ ร้านอาหาร กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และแอปพลิเคชันสั่งอาหาร
ธุรกิจร้านอาหารจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญของภาคบริการในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดสูงถึง 4.2 แสนล้านบาท ซึ่งมีห่วงโซ่ในธุรกิจที่เชื่อมโยงมากมายไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิตวัตถุดิบ ธุรกิจขนส่ง หรือธุรกิจจัดเลี้ยง โดยครอบคลุมผู้ประกอบการรายใหญ่ไปจนถึงผู้ประกอบการขนาดเล็ก และในระยะเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมาแอปพลิเคชันสั่งอาหาร (Food Delivery Application) เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร
สะท้อนจากการขยายตัวของธุรกิจการจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ที่มีการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีในปี 2557 – 2561 อยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารโดยรวมที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยเกิดจากการที่มีผู้เล่นเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น
1. แอปพลิเคชันสั่งอาหาร ผู้เล่นหน้าใหม่ที่สร้างจุดเปลี่ยนในธุรกิจร้านอาหาร ผู้เล่นในกลุ่มนี้ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางที่รวบรวมร้านอาหารหลายๆ ร้านเข้าด้วยกันรวมไปถึงนำเสนอบริการจัดส่งอาหารให้แก่ผู้บริโภค เป็นกลุ่มที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจ Food Delivery สะท้อนให้เห็นจากทั้งจำนวนร้านอาหารที่เข้ามาอยู่ในระบบมากยิ่งขึ้น หรือจะเป็นจำนวนการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นที่เพิ่มมากขึ้นโดยมีผู้ประกอบการบางรายมีจำนวนเฉลี่ยการสั่งอาหารต่อเดือนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
2. เครือร้านอาหารที่มีบริการจัดส่งสินค้า ผู้นำตลาดที่จำเป็นต้องปรับตัวจาก Digital Disruption โดยในอดีตผู้เล่นในกลุ่มนี้จะมีประเภทของอาหารจำกัดอยู่แค่เพียง อาหารจานด่วน อาทิ พิซซ่า ไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ดีจากการที่แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารมีการเติบโตและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการเครือร้านอาหารที่มีบริการจัดส่งสินค้า จำเป็นต้องมีการปรับแผนธุรกิจเพื่อให้รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีอยู่ได้ โดยการเพิ่มช่องทางการสั่งซื้ออาหารและความหลากหลายของประเภทอาหาร ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
แอปพลิเคชันสั่งอาหารเพิ่มการกระจายรายได้ให้กับผู้เล่นในห่วงโซ่ธุรกิจ Food Delivery
ธุรกิจ Food Delivery ในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างมากทั้งในแง่ ความเร็ว และความหลากหลายของประเภทอาหารที่มีให้เลือกมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการเข้ามาของผู้เล่นจากนอกอุตสาหกรรมที่เข้ามานำเสนอทางเลือกใหม่ๆให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงเข้ามาดึงส่วนแบ่งทางการตลาด ทั้งยังเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ให้แก่ผู้เล่นที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร
จากการศึกษาโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าแอปพลิเคชันสั่งอาหาร อาจมีส่วนช่วยให้มูลค่าของธุรกิจ Food Delivery มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในการเดินทางไปยังร้านอาหารมาเป็นค่าจัดส่งสินค้า ซึ่งรายได้ส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้นยังได้กระจายตัวไปยังผู้เล่นต่างๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจ อาทิ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่สามารถมีทางเลือกของอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มเติมโดยการรับงานผ่านแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารที่มีให้เลือกมากมาย ซึ่งคาดว่ากลุ่มผู้ขับขี่รถจักยานยนต์นี้ น่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มูลค่าประมาณ 3.9 พันล้านบาท
ร้านอาหารซึ่งรวมถึงร้านอาหารขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มรวบรวมร้านอาหารเพื่อขยายจำนวนฐานลูกค้าโดยที่ไม่ต้องเพิ่มทรัพยากรเงินทุนและแรงงานในส่วนของระบบขนส่งเอง ทำให้อาจมียอดขายเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของฐานลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งอาจมีส่วนแบ่งของรายได้มูลค่าประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ทางฝั่งของแอปพลิเคชันสั่งอาหารเองนั้นก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากค่าบริการที่ได้รับทั้งทางฝั่งร้านอาหารและผู้บริโภค ทำให้อาจมีส่วนแบ่งของรายได้ประมาณ 3.4 พันล้านบาท จากมูลค่ารวมของธุรกิจ Food Delivery ในปี 2562 ที่ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท
แอปพลิเคชันสั่งอาหารส่งผลถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคไทย
การเข้ามาของ แอปพลิเคชันสั่งอาหาร ไม่เพียงส่งผลต่อผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหาร แต่ยังมีผลทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป สะท้อนจากผลสำรวจ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 63 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าการมีบริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันประเภทต่างๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของตน โดยทำให้เปลี่ยนมาสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงทำให้มีการออกไปนั่งรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลงอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ 88 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างเคยใช้บริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันประเภทต่างๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากโปรโมชั่นและส่วนลดที่ทางผู้ประกอบการได้ทำแข่งขันกัน ซึ่งการสั่งมาทานส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งมาทานกับครอบครัวและเพื่อน
ธุรกิจร้านอาหารในวันที่แอปพลิเคชันสั่งอาหารครองเมือง
เมื่อมองโดยภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ตลาดธุรกิจร้านอาหารในวันที่แอปพลิเคชันสั่งอาหารเป็นที่นิยม ดังนี้
- แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) อาจเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ของร้านอาหาร สะท้อนจากการที่กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากเลือกสั่งอาหารจากร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก อาทิ ร้านอาหารเก่าแก่ตามห้องแถว ร้านอาหารข้างทางที่มีชื่อเสียง ร้านอาหารไทยและอีสาน เป็นต้น โดยร้านอาหารในกลุ่มนี้ได้รับยอดการสั่งผ่านแอปพลิเคชั่นสูงเป็นอันดับสองรองจากเพียงแค่ร้านอาหารจานด่วนที่เป็นผู้ครองตลาดมาอย่างยาวนาน ทำให้เห็นถึงโอกาสในการขยายฐานลูกค้าของผู้ประกอบการร้านอาหารประเภทนี้ผ่านการเข้าร่วมแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร
- ราคาและส่วนลด รวมไปถึงความเร็วในการจัดส่งสินค้า เป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่างในการเลือกใช้บริการของผู้บริโภค สะท้อนจากคำตอบทั้งในแง่ของความพึงพอใจและปัญหาที่พบของผู้บริโภคจากการขนส่งที่ล่าช้า นอกจากนี้ยังมีผู้บริโภคหลายรายพบปัญหาจากความไม่สมบูรณ์ของตัวแอปพลิเคชันที่ส่งผลให้สมาร์ทโฟนค้าง รวมไปถึงการคลาดเคลื่อนของแผนที่ที่แสดงบนแอปพลิเคชันกับสถานที่จริง
- ผู้บริโภคบางส่วนยังคงชื่นชอบการนั่งรับประทานในร้านอาหาร แม้ว่าการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันจะเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคให้ความนิยม แต่ยังมีกลุ่มตัวอย่างถึงหนึ่งในสาม ให้ความเห็นว่าร้านอาหารยังจำเป็นต้องมีการขยายสาขา โดยให้เหตุผลเรื่องความรวดเร็วและการรองรับจำนวนลูกค้าที่มากขึ้น ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคบางส่วนก็ยังให้ความสำคัญกับการไปนั่งรับประทานที่ร้านอาหารอยู่เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าการเข้ามาของแอปพลิเคชันสั่งอาหารก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารอย่างน่าสนใจ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันของตนเองให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น อาทิ โดยการเพิ่มช่องทางการสั่งซื้ออาหารและความหลากหลายของประเภทอาหาร รวมไปถึงการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี