Main Idea
- Hypothesis สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมที่เริ่มต้นคิดแบบ Research Based จากการตั้งคำถาม สร้างสมมติฐาน ศึกษาวิจัย จนกระวัดผลสำเร็จ
- ผลงานการออกแบบของ Hypothesis ไม่เพียงตอบโจทย์ด้านความสวยงามและฟังก์ชันการใช้งาน แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อการสร้างแบรนด์ โฆษณา และการตลาดไปพร้อมกัน
Hypothesis คือ ชื่อของสตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมอันดับต้นๆ ของไทย ผลงานแต่ละที่ล้วนมีเอกลักษณ์โดดเด่นต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นอาคารเหล็กสนิมเขรอะของ Viila Vinotto โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากอิตาลี ร้านอาหาร VIVARIUM by chef ministry ที่ใช้เหล็กดัดเป็นวัสดุหลัก จนสามารถคว้ารางวัลมาแล้วหลายเวที ทั้งเป็นผู้ชนะใน World Festival of Interior 2015 ในหมวด Bars & Restaurants และล่าสุดกับรางวัล Winning Award ในหมวด Innovation จากเวที FRAME Awards 2019 โดยนิตยสารชื่อดังอย่าง FRAME ในโปรเจ็กต์ WERK ไมโครออฟฟิศบนรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานทีราชดำริ
มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Hypothesis เล่าถึงวิธีคิดที่มีความชัดเจนและเป็นตัวเอง การทำงานของพวกเขาเริ่มต้นจากกระบวนการตั้งคำถาม สร้างสมมติฐาน ศึกษาวิจัย จนกระทั่งวัดผลความสำเร็จ
“กระบวนการของเราเป็น Research Based ไม่ใช่ Design Based เราไม่ได้มองในแง่ความงามเป็นหลัก แต่ออกแบบเพื่อตอบคำถามของลูกค้า มันสนุกกว่าที่ได้ท้าทายโจทย์โดยใช้ดีไซน์เป็นเครื่องมือ ลูกค้าเดินเข้ามาหาเราพร้อมกับบอกว่ามีที่ดินหรือเม็ดเงินแล้วอยากจะทำอะไร อาจเป็นร้านอาหาร โรงแรม เราจะพยายามตอบว่าจะทำให้ลูกค้ามีรายได้กลับมาอย่างไร ผมมองข้ามช็อตไปถึงเรื่องการตลาด โฆษณา ไม่ได้มองแค่ว่าเราจะสร้างสถาปัตยกรรมที่สวยแต่ไม่ถูกมอง ไม่ได้ขายตัวเอง การถูกพูดถึงคือสิ่งสำคัญ เป็น Word of mouth การบอกต่อโดยที่เขาไม่ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณา แต่ได้จากความเป็นเอกลักษณ์และความโดดเด่นที่เราออกแบบให้ นั่นคือสิ่งที่เราต้องค้นคว้าวิจัยเพื่อหาคำตอบให้ตรงกับโจทย์ที่ลูกค้ามี”
อาจเป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตก่อนที่จะมาเป็นสถาปนิก มนัสพงษ์เรียนจบมัณฑนศิลป์สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์และเคยทำงานในบริษัทโฆษณามาก่อน กลายเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เขาเข้าใจเรื่องการสร้างแบรนด์ โฆษณาและการตลาด งานออกแบบของเขาจึงสร้างมูลค่าที่มากกว่าสิ่งก่อสร้างที่สวยงามหรือใช้พื้นที่ได้อย่างเยี่ยมยอดเหมือนที่เราได้จากงานสถาปัตยกรรมอื่นๆ หากถามว่าเมื่อลูกค้าเดินเข้ามาใช้บริการความเชี่ยวชาญ Hypothesis แล้วได้อะไรบ้าง มนัสพงษ์แจกแจงได้เป็นข้อๆ
“เมื่อลูกค้ามาหาเรา 1.เขาลงทุนแล้วเขาได้รายได้กลับไปแน่นอน ผมไม่ได้คิดแค่ว่าดีไซน์ต้องสวยแต่สนใจว่าสิ่งที่ดีไซน์ออกมาแล้วสามารถสร้างเม็ดเงินย้อนกลับมาได้ ผมคิดว่าทุกคนที่ลงทุนไปต้องการเม็ดเงินคืนกลับมาเสมอ 2.ลูกค้าจะได้มากกว่าความต่าง คือได้ความลุ่มลึก สิ่งที่ทีมเราเป็น ไม่ได้แค่ฉาบฉวยแค่ว่าสวย มีความคิดทุกเม็ด ตึกทุกตึกที่เราทำจะไม่มีใครกล้าทุบเพราะมันเป็น Value Asset ที่คนต่อไปที่ได้รับจะสามารถทำเงินได้มากกว่าเดิม”
ตอนนี้ Hypothesis พยายามก้าวข้ามจากการเป็นสถาปนิกสามัญไปเป็นคนที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับจุลภาคได้ เขายกตัวอย่างตอนที่ออกแบบโครงการล้ง 1919 จากคำถามที่ว่าจะพัฒนาที่ดินของตระกูลหวั่งหลีไปในทิศทางใดได้บ้าง ในท้ายที่สุดพวกเขาผลักดันให้เป็น Culture Community Space แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามาใช้พื้นที่ได้สำเร็จ เช่นเดียวกับการพยายามเปลี่ยนแปลงโกดังร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้กลับมาเป็นพื้นที่มีชีวิตอีกครั้ง กลายเป็นโปรเจค Factoria ในซอยสุขุมวิท 26 ศูนย์กลางของคนทำงานสร้างสรรค์ มีออฟฟิศด้วยก็ได้ เป็นสตูดิโอศิลปะ กลางวันเป็นศูนย์อาหาร กลางคืนเป็นร้านอาหาร เสาร์-อาทิตย์ช่วงที่ไม่มีคนเข้ามาใช้สามารถปรับเป็น Event Space ได้ ทำให้ใช้ทุกเวลาในการหาเงิน
นี่คือแนวคิดการทำงานออกแบบที่แตกต่างสไตล์ Hypothesis ที่เขาคิดจะส่งต่อไปยังสถาปนิกและนักออกแบบรุ่นหลัง
“ผมมองว่าวันหนึ่ง Hypothesis จะผันตัวไปเป็นโรงเรียน ผมว่าออฟฟิศจะมีวงจรของมัน อย่างออฟฟิศดังๆ สมัยก่อนที่เป็นระดับมาสเตอร์พอครบรอบอายุเจ้าของก็หายไปแล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้ออฟฟิศยั่งยืนได้ ต้องผันไปเป็นที่ที่สอนคนอื่นในเรื่องงาน โดยที่ใช้งานจริงเป็นตัวสอน พอเขาออกไปจากที่นั่นไปทำของตัวเองเขาก็จะพัฒนามาตรฐานงานแบบเราให้ยั่งยืนต่อไปด้วย”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี