Main Idea
- การสิ้นสุดของบางอย่างอาจเป็นจุดเริ่มต้นของบางสิ่ง
- จากผู้จัดซื้อที่คอยป้อนชิ้นงานให้ชาวต่างชาติ นำประสบการณ์และไอเดียมาสร้างสรรค์ผลงานออกแบบของตัวเองที่เปลี่ยนเศษเหล็กไร้ค่าให้กลายเป็นหน้ากาก ยกระดับสู่ของตกแต่งบ้านที่ตลาดต่างชาตินิยมชมชอบ
ใครจะคิดว่าเศษเหล็กที่รอชั่งกิโลขาย จะกลายเป็นสิ่งของที่มีความหมายกับคนที่เห็นคุณค่าและโอกาสทางการค้า จากการคลุกคลีกับการจัดหาของตกแต่งให้บริษัทที่ฝรั่งเศสมากว่า 40 ปี ทำให้ วิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์ เห็นโอกาสว่า ผู้บริโภคเริ่มหันมองหางานแปลกๆ วัสดุใหม่ๆ จากชิ้นงานที่ทำจากโลหะมากกว่าไม้ เขาจึงขายกิจการที่เมืองน้ำหอมแล้วบินกลับเมืองไทยเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ที่ยังซ่อนโอกาสมหาศาลอยู่ในนั้น
“ช่วงตลาดบูมผมเคยซื้อพวกของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ เซรามิก มูลค่าประมาณ 80 ล้านบาทต่อปีไปขายที่ฝรั่งเศส ช่วงหลังตลาดเริ่มดาวน์ลงเหลือประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี ก็เลยตัดสินใจขายกิจการที่นั่นไป”
แต่ประสบการณ์ในการจัดหาสิ่งของไม่ได้สูญหายไปไหน เมื่อมือขวาอย่าง ประกิต สีหะวงษ์ ซึ่งมีความชอบงานโลหะอยู่แล้ว เกิดไอเดียนำวัสดุพวกเศษเหล็ก โลหะ มาผลิตเป็นหน้ากากที่ได้แรงบันดาลใจจากชนเผ่าต่างๆ รวมทั้งการชมพิพิธภัณฑ์ในฝรั่งเศสมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของเขา
“พวกเราเริ่มทำหน้ากากมาประมาณ 3-4 ปี พบว่าคนฝรั่งเศสชอบของที่เป็นงานคราฟท์มากๆ ทำให้ผลงานที่ออกแบบครั้งแรกประสบความสำเร็จดีเกินคาด โดยคนจองหมดภายใน 3 ชั่วโมง เนื่องจากหน้ากากแต่ละชิ้นเป็นงานที่มีชิ้นเดียวหมดแล้วหมดเลย”
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้พวกเขาได้รับการติดต่อจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีพาร์ทเม้นท์ 99 และ WIT’S COLLECTION interior design นำสินค้าไปจำหน่ายที่เชียงใหม่ และนำมาเปิดตัวในงาน Style Bangkok งานแสดงสินค้าของใช้ของแต่งบ้าน ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในคอลเลกชัน Theater by Prakit Seehawong For Department 99
“ความตั้งใจของเราคือทำออกมาให้เหมือนเป็นโรงละคร จินตนาการว่าเป็นโรงละครหุ่นกระบอก แต่แทนที่จะเป็นหุ่นกระบอกเหมือนทั่วๆ ไป ก็เปลี่ยนเป็นหน้ากากเหล็กที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนชนเผ่าต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าก็ยังเป็นคนต่างชาติเป็นหลัก อย่างอิตาลี และไต้หวันที่ซื้อเพื่อนำไปตกแต่งในร้าน เป็นต้น ส่วนตลาดในประเทศยังไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควรมีเพียงร้าน Another Story ที่สนใจซื้อของเราไปจำหน่ายแล้ว”
ตลอดเวลา 3 ปี ประกิตได้ออกแบบหน้ากากเหล็กไปแล้วไม่ต่ำกว่าพันชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นราคาก็ลดหลั่นกันไปตามความยากง่ายในการผลิต โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,500 ถึงประมาณ 4,000 บาท
“สำหรับธุรกิจนี้แนวโน้มดีขึ้นทุกปี แต่เนื่องจากเป็นงานฝีมือที่ทำเพียงคนเดียว และยังต้องเสียเวลากับการหาวัสดุตามแหล่งต่างๆ รวมทั้งเวลาในการออกแบบด้วย จึงทำให้ยังผลิตงานได้จำนวนจำกัด โดยงานแต่ละชิ้นถ้าสังเกตดูดีๆ มันมีอารมณ์ขันในตัวของมันเอง เหมือนเรากำลังทำให้เหล็กดู Soft ลง สามารถสร้างรอยยิ้มให้กับผู้พบเห็นได้ เป็นเหมือนงานกึ่งๆ ประติมากรรมที่ดูแล้วไม่เครียด ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อไปเป็นของตกแต่งเพื่อสร้างบรรยากาศให้กับบ้านและร้านค้าต่างๆ ได้”
ก่อนจบบทสนทนา ประกิตบอกเราว่า เขารู้สึกโชคดีที่พอหันมาผลิตสินค้าเองก็สามารถขายได้ทันที ทำให้มีกำลังใจที่จะทำต่อไป จึงอยากให้คนที่ยังไม่กล้าเริ่มต้นหรือยังลังเล ลองศึกษาให้รู้ในสิ่งที่จะทำ
“ผมเชื่อว่าถ้าคนเราได้ทำงานที่เกิดจากความรักในสิ่งนั้นๆ ก็จะทำมันออกมาได้ดีอย่างแน่นอน” เขากล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี