Main Idea
- การตลาดอินฟลูเอนเซอร์เป็นเทรนด์ที่มาแรง ไม่เพียงช่วยสร้างการรับรู้และเข้าถึงผู้บริโภคได้ดีเท่านั้น แต่ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนำไปสู่การโน้มน้าวให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้
- แต่การเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ไม่ง่าย ผู้ประกอบการต้องรู้วัตถุประสงค์ของการใช้ และเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่ใช่มาตอบโจทย์ธุรกิจให้ได้
ไทยขึ้นแท่นประเทศที่มีค่าเฉลี่ยการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียสูงที่สุดของโลก!
นี่จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายให้ทุกธุรกิจต้องเร่งปรับกลยุทธ์การตลาดให้เท่าทันไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น โดยเทน้ำหนักไปยังการตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากผู้มีอิทธิพลบนโลก โซเชียล หรือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing)
แต่อินฟลูเอนเซอร์มีอยู่มากมายบนโลกออนไลน์ แล้วจะเลือกใช้แบบไหนให้ตอบโจทย์ธุรกิจที่สุด ชัชวาล เดชาโรจนภัทท์ กรรมการบริหารงานสื่อสารการตลาด บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ผู้คร่ำหวอดอยู่กับการวางแผนสื่อโฆษณาออนไลน์ บอกเราว่า การทำการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ต้องเริ่มต้นจากวัตถุประสงค์ซึ่ง 4 อย่าง คือ
1.Awareness (การรับรู้) : ให้ดูว่าอินฟลูเอนเซอร์คนไหนที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก และมีอำนาจในการส่งข้อความของคุณไปได้ไกลที่สุด
2.Engagement (การมีส่วนร่วม) : ต้องดูว่าคอนเทนต์ของใครเปิดให้ผู้คนมีส่วนร่วมมากกว่ากัน โดยอาจจะเป็นคอนเทนต์ของคนที่ชอบเปิดคำถามให้คุยกัน เป็นต้น
3.Conversion (การวัดผลได้) : ต้องเลือกคนที่มักให้มีกิจกรรมตอบคำถามด้านล่าง ส่งอีเมล ส่งเบอร์โทรเข้ามา เพื่อให้ติดต่อกลับ ซึ่งเจ้าของแบรนด์อาจใช้วิธีแนบลิงก์ไปกับคอนเทนต์ของอินฟลูเอนเซอร์นั้นๆ ซึ่งลิงก์ดังกล่าวจะสามารถเช็กได้ถึงหลังบ้านว่ามีคนคลิกกี่คน และสามารถปิดการขายจากลิงก์นี้ได้หรือไม่
4.Advocate (การสนับสนุน) : เลือกคนนี้โพสต์แล้วมีผู้กลับมาติดตามสนับสนุนแบรนด์เพิ่มขึ้น
เขาอธิบายต่อว่า เมื่อรู้จุดประสงค์ที่แน่ชัดแล้ว วิธีการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่ใช้ สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือการมีคอนเทนต์คุณภาพ โดยให้ดูว่าคนคอมเมนต์อะไรเกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ที่นำเสนอไปหรือไม่ ไม่ใช่จำนวนคอมเมนต์เยอะแต่คนด่าเยอะก็ไม่ส่งผลดีกับแบรนด์ และสะท้อนว่าคอนเทนต์นั้นไม่ได้คุณภาพ โดยเราต้องเลือกการมีส่วนร่วม (Engagement ) จากจำนวนคอมเมนต์ที่ประสบความสำเร็จมาเป็นหลัก
ต่อมาคือต้องนึกถึงธรรมชาติของแพลตฟอร์ม อย่างยูทูบที่มีไว้ดูและฟังเพลง หรืออินสตาแกรมมักมีไว้ดูรูป ซึ่งที่คนกดไลค์คือรูปของดาราไม่ใช่สินค้า นั่นมันหมายความว่าเขาไม่ได้สนใจสินค้าของเราด้วยซ้ำ และสิ่งที่ต้องเข้าใจคือเราไม่สามารถบังคับให้อินฟลูเอนเซอร์มาสร้างคอนเทนต์ตามใจเราได้ แต่ต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติของเขาเพราะเขารู้ว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างคอนเทนต์ให้เหมาะกับแพลตฟอร์มของเขาได้ ซึ่งสิ่งที่นักการตลาดควรทำคือเชื่อมั่นในตัวอินฟลูเอนเซอร์เพราะนั่นคือบ้านของเขา
ชัชวาล บอกว่า คอนเทนต์ที่มาจากกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์หลายครั้งที่คนรับรู้แต่ไม่ Action คำถามคือต้องทำคอนเทนต์อย่างไรที่จะกระตุ้นให้คนหันมาสนใจสินค้าหรือบริการของเราได้ นั่นคือจะต้องเป็นคอนเทนต์ที่เขาสนใจอยู่แล้ว และสามารถถ่ายทอดให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย ตรงกับตัวเขา และกลืนไปกับเพจ คนก็จะแชร์และเกิด Action ตามมาได้
อีกเรื่องที่ต้องตระหนักคือ ราคาการใช้อินฟลูเอนเซอร์สมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าหลายครั้งราคาในตลาดอาจจะแพงเกินไป เรียกว่าอาจจะแพงเป็น 3-4 เท่าของสิ่งที่จะได้กลับมาก็ได้ ซึ่งเกิดจากการที่ต้องติดต่อผ่านตัวกลางคือเอเยนซีมาหลายต่อ ซึ่งหากแบรนด์สามารถติดต่อกับอินฟลูเอนเซอร์ได้โดยตรงก็จะได้ราคาที่ถูกลง แต่อย่างไรก็ตามเอเยนซีก็จะเป็นตัวกลางที่ดี เพราะในการทำงานแต่ละครั้งต้องผ่านการแก้งานหลายรอบกว่าจะโพสต์คอนเทนต์ออกไปได้ เอเยนซีจึงจะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนการทำงานตรงนี้แทนแบรนด์ได้
ใครที่อยากเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์มาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาด ก็สามารถศึกษาจากมุมคิดเหล่านี้ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี