Main Idea
- ทันทีที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลง TPP โควต้าส่งออกข้าวไปญี่ปุ่นจำนวน 70,000 ตันของสหรัฐฯ ยุติลง
- ส้มหล่นใส่ออสเตรเลีย ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคญี่ปุ่น เพราะใช้สารเคมีน้อยในการปลูก ได้คุณภาพ ที่สำคัญราคาต่ำ
ในฐานะที่ไทยขึ้นชื่อในเรื่องผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดี และเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับต้น ๆ ของโลก วันนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับวงการข้าวมาเล่าสู่กัน เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีนี่เอง เหตุจากดัชนีราคาข้าวซึ่งเป็นผลผลิตในญี่ปุ่นมีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคโดยเฉพะธุรกิจร้านอาหารหันไปสั่งข้าวเมล็ดสั้นจากออสเตรเลียที่มีความใกล้เคียงข้าวญี่ปุ่นแต่ราคาถูกกว่าประมาณ 20% ทำให้ช่วยลดต้นทุนลงได้
ผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทเท็น คอร์ปซึ่งดำเนินธุรกิจเชนร้านข้าวหน้าเทมปุระเผยเหตุที่เลือกซื้อข้าวออสเตรเลียเนื่องจากเป็นข้าวที่เข้ากันได้ดีกับซอสของทางร้าน เป็นเวลานานนับปีแล้วที่ทางร้านใช้วิธีผสมข้าวญี่ปุ่นกับข้าวออสเตรเลียอย่างละครึ่ง ส่วนบริษัทเซโย ฟู้ด-คอมพาส กรุ๊ป ในโตเกียวซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ข้าวให้กับร้านอาหารและโรงอาหาร 1,900 แห่งในญี่ปุ่นก็เริ่มส่งข้าวออสเตรเลียให้ลูกค้าแทน
ขณะที่บริษัทโอโตยะ โฮลดิ้งส์ เจ้าของเครือข่ายร้านอาหารโอโตยะรับมือกับภาวะข้าวแพงโดยเสิร์ฟข้าวเปล่าถ้วยเล็กลง และนำข้าวออสเตรเลียมาผสมกับข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดเพื่อเป็นข้าวสุขภาพ สำหรับผู้บริโภคทั่วไป ก่อนหน้านั้น หากจะให้เลือกข้าวที่นอกเหนือจากข้าวญี่ปุ่นก็มักจะเลือกข้าวเมล็ดยาวจากประเทศอื่นในเอเชีย แต่ช่วงหลังพบว่าข้าวออสเตรเลียที่ส่วนใหญ่เป็นข้าวเมล็ดสั้นนั้นเหมาะมากกว่าเพราะมีความคล้ายคลึงข้าวญี่ปุ่น
รายงานระบุญี่ปุ่นเปิดตลาดข้าวหลังจากที่มีการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยเมื่อปี 1993 นำไปสู่การเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศปีละ 7.7 แสนตันต่อปี โดยส่วนใหญ่นำไปแปรรูป และเพียง 1 แสนตันเท่านั้นที่เป็นข้าวสำหรับหุงรับประทาน นับจากนั้นมา ผู้บริโภคญี่ปุ่นก็เริ่มยอมรับข้าวต่างชาติ และเป็นทางเลือกในเวลาที่ราคาข้าวในประเทศมีราคาผันผวนซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี
ขณะเดียวกัน ภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ TPP ของ 11 ชาติสมาชิกที่มีผลเมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้กำหนดโควต้านำเข้าข้าวออสเตรเลียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8,400 ตันต่อปี นั่นหมายถึงการนำเข้าอาหารเพื่อบริโภคโดยตรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10% ทั้งนี้ การปลูกข้าวในออสเตรเลียเริ่มขึ้นในต้นทศวรรษ 1900 เมื่อมีเกษตรกรญี่ปุ่นคนหนึ่งนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปปลูกที่นั่น และเริ่มมีการปลูกจริงจังในกลางทศวรรษ 1920 จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดภาวะขาดแคลนข้าว ออสเตรเลียได้โหมปลูกมากขึ้น
การที่ข้าวออสเตรเลียได้รับการยอมรับของผู้บริโภคญี่ปุ่นอาจเป็นเพราะเป็นภาพคุณภาพดีได้มาตรฐาน ใช้สารเคมีน้อยในการปลูก และสภาพภูมิอากาศก็เหมาะแก่การปลูกข้าวเมล็ดสั้น-กลาง แบรนด์ข้าวที่มีชื่อเสียงสุดของออสเตรเลียได้แก่ยี่ห้อ SunRise ข้อมูลระบุตลอดหลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ มากกว่าออสเตรเลีย แต่เนื่องจากสหรัฐฯ เพิ่งถอนตัวจากข้อตกลง TPP ทำให้โควต้าส่งออกข้าวไปญี่ปุ่นจำนวน 70,000 ตันของสหรัฐฯ ต้องยุติลง จึงเชื่อว่าส้มจะมาหล่นที่ออสเตรเลียแทน
สำหรับไทย เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวไปญี่ปุ่นรายใหญ่ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่นเฉลี่ยปีละ 3 แสนตัน แต่การที่ปีที่แล้วกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และ สวัสดิการของรัฐบาลญี่ปุ่น เตรียมออกประกาศบังคับปรับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRL) ของสารฟอสอีทิล (fosetyl- aluminium) ซึ่งผสมในยาปราบศัตรูพืชปนเปื้อนในสินค้าเกษตร รวมทั้งข้าวในปริมาณไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมจากเดิมที่กำหนดไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมก็อาจส่งผลกระทบ เพราะจากการสุ่มตรวจข้าวไทย พบการปนเปื้อนของสารฟอส อีทิลในระดับ 0.1-0.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเกินระดับของประกาศใหม่ ดังนั้น ผู้ผลิตข้าวไทยจึงต้องหาทางแก้ไขตรงนี้ จะได้ไม่เสียตลาด
อ้างอิง
https://asia.nikkei.com/Business/Markets/Commodities/Australian-rice-finds-favor-in-Japan-as-cheaper-option
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี