Main Idea
- การตั้งราคาสินค้าให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่าจ่ายแพง เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สามารถช่วยกระตุ้นยอดขายได้ แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายคนอาจจะยังไม่รู้เทคนิคว่าต้องทำอย่างไร
- การใช้ฟอนต์ขนาดเล็ก การลดแลกแจกแถม การไม่ใช้คอมม่าคั่น การเสนอสินค้า 3 อย่างในราคาที่ต่างกัน หรือการลงท้ายด้วยเลข 9 เหล่านี้เป็นเพียงเทคนิคส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายเทคนิคที่จะช่วยให้การตั้งราคาสินค้าของคุณทำได้ง่ายขึ้นและโดนใจลูกค้าได้ไม่ยาก
การตั้งราคาขาย เป็นหัวใจสำคัญหนึ่งในการทำธุรกิจ นอกจากจะต้องวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับต้นทุน เพื่อให้ได้ผลกำไรอย่างที่ต้องการแล้ว การตั้งราคาขายที่สามารถกระตุ้นให้ลูกค้าอยากควักกระเป๋าจ่ายได้ง่ายขึ้น ก็ถือเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งด้วย ดังนั้น มาดูกันว่า ผู้ประกอบการควรตั้งราคาสินค้าอย่างไร ให้ลูกค้ารู้สึกจ่ายไม่แพง!
1. ใช้ฟอนต์ขนาดเล็กเข้าไว้ : ตามหลักจิตวิทยา ขนาดของตัวอักษรที่ใช้นั้นมีส่วนในการคิดวิเคราะห์ราคาของลูกค้า ซึ่งหากมีการใช้ฟอนต์ขนาดเล็ก จะทำให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าราคาไม่ได้แพงมาก
2. โชว์ตัวเลือกแบบพรีเมี่ยมขึ้นมาก่อน : พราะลูกค้ามักใช้ข้อมูลแรกที่ได้เห็นหรือได้ยินในการตัดสินใจซื้อ ดังนั้น ควรวางสินค้าที่มีราคาแพงให้เห็นได้ก่อน โดยวางถัดจากสินค้าที่มีราคาถูกกว่า เพื่อให้ลูกค้าได้มีตัวเลือก
3. ตั้งราคาแบบลดแลกแจกแถม : กลยุทธ์นี้เป็นการขายสินค้าหรือบริการแบบเป็นเซ็ตในราคาที่ถูกกว่าที่ลูกค้าจะจ่ายแบบซื้อแยกชิ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่ากว่า
4. ไม่ใช้คอมม่าคั่น : การไม่ใส่คอมม่าคั่นในตัวเลขของราคา จะทำให้ลูกค้าเห็นว่ามีพยางค์น้อยลงและรู้สึกว่าสินค้าชิ้นนั้นไม่ได้มีราคาแพงอะไร อีกทั้งพออ่านออกเสียงแล้วมีจำนวนพยางค์น้อยกว่า คนก็จะรู้สึกว่าสินค้าชิ้นนั้นไม่แพงมาก
5. แยกจ่ายเป็นงวดๆ ได้ : เมื่อทางร้านสามารถให้ลูกค้าแบ่งจ่ายเป็นงวดๆได้ จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าสินค้านั้นถูกลง เนื่องจากลูกค้าจะมีการเปรียบเทียบราคาโดยไม่รู้ตัว ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบราคาที่จะจ่ายเป็นงวดๆกับราคาเต็ม
6. เสนอสินค้า 3 อย่าง : ลองนำเสนอสินค้า 3 อย่างด้วยราคาที่แตกต่างกันไป โดยวางสินค้าที่ต้องการให้ลูกค้าซื้ออยู่ตรงกลาง วิธีนี้จะช่วยให้ลูกค้าเลือกซื้อของที่มีราคาปานกลาง เพราะรู้สึกสบายใจที่จะจ่ายมากกว่า
7. แสดงราคาสินค้าไว้มุมล่างซ้ายของป้ายราคา : เพราะคนเรามีความคิดที่ว่าตัวเลขที่มีค่าน้อยนั้นจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ แล้วจะเพิ่มจำนวนขึ้นเมื่อขยับไปทางขวา ดังนั้นการแสดงราคาในมุมล่างซ้ายของป้ายราคา จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้านั้นมีราคาถูกลงและยินดีที่จะจ่ายมากขึ้น
8. ตั้งราคาตามจุดประสงค์การซื้อ : ลูกค้าจะถูกดึงดูดด้วยราคาสินค้าที่มีตัวเลขแบบกลมๆหรือแบบเจาะจงนั้น ขึ้นอยู่กับว่าการซื้อนั้นได้รับการกระตุ้นด้วยความรู้สึกของความอยากมี (Want) หรือเหตุผลโดยดูที่ความจำเป็น (Need) เป็นหลัก โดยการตั้งตัวเลขกลมๆจะช่วยดึงดูดลูกค้าที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินใจซื้อ ส่วนราคาที่เจาะจงไปเลยจะเหมาะกับกลุ่มที่ใช้เหตุผลในการจับจ่าย
9. ตั้งราคาลงท้ายด้วยเลข 9 : ลูกค้าจะรู้สึกว่าสินค้าที่มีราคาลงท้ายด้วยเลข 9 หรือ 99 นั้นมีราคาถูกกว่า อีกทั้งยังเป็นเลขที่ดูดีและมีเสน่ห์ทางการค้าอีกด้วย
10. เอาเครื่องหมายสกุลเงินออก : การตั้งราคาโดยแสดงให้เห็นเพียงตัวเลขและไม่มีสกุลเงินกำกับจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้านั้นไม่แพง จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์เนล ชี้ให้เห็นว่า ลูกค้ามีการใช้จ่ายมากขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์เมื่อโปรดักต์นั้นๆเอาเครื่องหมายดอลลาร์ ($) ออก
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี