เจ้าของธุรกิจหลายคนบ่นอุบกับการปรับอัลกอริทึมของเฟซบุ๊ก ที่ทำให้โพสต์ของพ่อค้าแม่ขายหายไปจากนิวส์ฟีดจนแทบไม่เหลือ ยิ่งถ้าไม่มีแฟนพันธุ์แท้ติดตามกันเป็นประจำ หรือสาวกที่ชื่นชอบเลือกเห็นก่อน (See First) สำหรับโพสต์ของคุณ ไม่ต้องลุ้นเลยว่าธุรกิจจะเป็นเช่นไร
บทความนี้จึงขอเสนอ 3 เทคนิคเพิ่มยอดขาย (แบบเร่งรัด) ให้กับผู้ที่ประสบปัญหาข้างต้น โดยเป็นข้อสรุปที่มาจากหลากหลายกูรูการตลาดดิจิทัลที่เห็นตรงกันว่า ในสภาวะเช่นนี้จะใช้เทคนิคอะไรที่ทำให้ธุรกิจมีโอกาสมากที่สุด เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำ ทำให้ยอดขายยังคงเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดไม่ลดลงไปกว่าเดิม ว่าแล้วไปติดตามกันเลย
1. โปรโมตสินค้า หรือบริการในเฟซบุ๊กกรุ๊ป
เฟซบุ๊กกรุ๊ป (Facebook Group) และฟอรั่ม (Forum) เป็นพื้นที่ที่นักการตลาดสามารถสร้างความผูกพัน หรือ เอนเกจเมนต์ (Engagement ) ได้ดีที่สุด เหตุเพราะเป็นที่ที่ผู้บริโภคแนะนำสินค้ากันเอง ทำให้มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำกว่า ซึ่งนอกจากนักการตลาดจะใช้ทำเลเหล่านี้ในการนำเสนอแบรนด์ สินค้า และบริการกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจ หรือกำลังอยากซื้อ (มีกำลังซื้อ+ความต้องการ) ยังสามารถใช้เฟซบุ๊กกรุ๊ปหรือฟอรั่มสำหรับทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อดูว่ามันจะเกิดในตลาดได้หรือไม่อีกด้วย คำถามคือเราจะใช้ทำเลเหล่านี้ในการขายผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร?
ข้อเท็จจริงคือ คุณสามารถทำตลาดสินค้าในฟอรั่ม หรือเฟซบุ๊กกรุ๊ป ที่มีความสนใจบางเรื่องร่วมกัน (Niche) โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสินค้า หรือบริการของคุณ แต่กฎข้อแรกของการทำการตลาดออนไลน์กับกรุ๊ปก็คือ อย่า สแปม ให้เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักในกรุ๊ปก่อน แต่ถ้าอยากขายของเร็วให้เริ่มต้นด้วยการโปรโมตสินค้าใน Buy and Sell Group ของเฟซบุ๊ก (https://www.facebook.com/salegroups/) และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วควรเลือกกรุ๊ปโดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- เลือกกรุ๊ปที่แอ็กทิฟ สแปมน้อย สำรวจจำนวนสมาชิก ความถี่ของการโพสต์ และเอนเกจเมนต์โพสต์เป็นอย่างไร
- สังเกตโพสต์แบบไหนให้ผลลัพธ์ดีสุด นำแนวทางมาพัฒนาโพสต์ อย่ามโนว่าพวกเขาน่าจะชอบโพสต์แบบที่คุณชอบ
- อ่านเงื่อนไขการเข้ากลุ่ม แม้จะเป็นกรุ๊ป Buy & Sell การเคารพกฎกติกาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่อย่างนั้นอาจถูกทางกรุ๊ปแบนได้
2. โฆษณาเฟซบุ๊กทั้งเชิงรุก และเชิงลึก
เนื่องจากในแต่ละเดือนมีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่แอ็กทิฟมากถึง 1.55 พันล้านคนทั่วโลก แถมผู้ใช้แต่ละคนยังเช็กฟีดหลายครั้งต่อวันอีกด้วย แต่จุดเด่นที่สำคัญที่สุดคือ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจได้อย่างแม่นยำ เพราะผู้บริโภคทุกคนต่างเปิดเผยข้อมูลความสนใจ ความชื่นชอบส่วนตัวในแทบทุกเรื่องจริงๆ ทำให้นักการตลาดสามารถกำหนดแคมเปญโฆษณาที่แยบยล เพื่อเข้าถึงกลุ่มที่ต้องการได้ ด้วยการใช้ข้อมูลประชากร ความสนใจ ไปจนถึงพฤติกรรม เหนืออื่นใดพยายามเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสซื้อสินค้ามากกว่าแค่สนใจสินค้า เริ่มตั้งแต่พิจารณากลุ่มที่มีกำลังซื้อ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากหลากหลายคุณสมบัติ เช่น ถ้าขายสินค้าแพง กลุ่มที่เลือกควรใช้สินค้ามีแบรนด์ ส่งลูกเรียนโรงเรียนค่าเทอมแพงๆ ใช้ iPhone X ฯลฯ สนใจสินค้าแบบที่คุณขายอยู่หรือเปล่า (กลุ่มที่ไลค์เพจคู่แข่ง) จากนั้นดูพฤติกรรมการบริโภคช้อปปิงที่ไหน (ห้างอะไร ฯลฯ) ช้อปออนไลน์เพจไหน เมื่อไรคลิกปุ่ม Shop Now บนโพสต์? เป็นต้น แล้วนำข้อมูล 3 ส่วนนี้มาหาจุดร่วม (Intersection) ซึ่งหมายถึง เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ สนใจสินค้าแบบที่เราขาย และเป็นนักช้อป โดยเราสามารถกำหนดคุณสมบัติเหล่านี้ เพื่อให้เฟซบุ๊กตามหากลุ่มได้แม่นยำยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี มีองค์ประกอบอื่นๆ ในการทำโฆษณา เฟซบุ๊กให้ได้ให้โดนอยู่ 4 ส่วนด้วยกัน ดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) ต้องชัดเจน เราต้องการให้คนรู้จัก สนใจ หรือซื้อสินค้าและบริการของเรา
2. ข้อเสนอ (Offer) แกรี่ ฮอลเบิร์ท นักการตลาดชั้นอ๋องกล่าวไว้ว่า “ก๊อบปี้โฆษณาที่แข็งแรง ยังสู้ข้อเสนอที่อ่อนแอไม่ได้” ในทางกลับกัน ข้อเสนอที่แข็งแรงยังทำให้ประสบความสำเร็จได้ แม้ก๊อบปี้จะอ่อนแอปานใดก็ตาม เพราะหลักการขายที่ถูกต้องคือ ต้องทำให้ลูกค้าอยากซื้อ เพราะพวกเขาเกลียดการถูกยัดเยียดขาย ดังนั้น พยายามสร้างข้อเสนอที่ดึงดูด เช่น “ลด 15 เปอร์เซ็นต์ สำหรับเสื้อยืดธีมน้องหมา” ฟังดูก็ไม่เลว แต่มันจะน่าจดจำกว่าไหม หากเปลี่ยนเป็น “เสื้อยืดแต่ละตัวที่ซื้อไป สมทบทุนอาหารเลี้ยงสุนัขไร้เจ้าของได้ 5 ตัวเป็นเวลา 1 สัปดาห์” (เสื้อน้องหมา สำหรับคนรักน้องหมา แล้วคนรักน้องหมาจะไม่รู้สึกดีใจกว่าหรือที่ได้ช่วยน้องหมาด้วยการซื้อเสื้อ) อย่างไรก็ตาม ไอเดียในการสร้างข้อเสนอที่ดี ควรตรวจสอบคู่แข่ง และดูว่าข้อเสนออะไรที่เวิร์ก แล้วมาพัฒนาข้อเสนอของตัวเองให้น่าสนใจกว่า
3. ก๊อบปี้ที่กระตุ้นความสนใจได้ (Compelling Copy) หมายถึง ข้อความโฆษณาที่เขียนเพื่อให้คนที่อ่านรู้สึกว่าต้องแอ็กชันอะไรบางอย่าง (Content Marketing) ตั้งแต่ ลงทะเบียนด้วยอีเมลไปจนถึงซื้อสินค้าของคุณ ก๊อบปี้ที่ดีต้องโฟกัสที่คุณประโยชน์ และคุณค่าที่ได้จากผลิตภัณฑ์มากกว่าคุณสมบัติ ตัวอย่างคลาสสิกที่สุดของ สตีฟ จอบส์ ก็คือ ไอพอดที่มีคุณสมบัติเด่นคือ เครื่องเล่น MP3 ที่มีความจุ 1GB แต่คำโฆษณาดังกล่าวไม่ได้มีความหมายกับผู้บริโภคส่วนใหญ่เท่ากับ “ให้คุณพกพาเพลงได้ 1,000 เพลงไว้ในกระเป๋าเสื้อของคุณ” อันนี้กระตุ้นความสนใจได้มากกว่า
4. ภาพ (Image) จากสถิติภาพที่โพสต์ในเฟซบุ๊กมีผลต่อประสิทธิภาพของโฆษณา 75-90 เปอร์เซ็นต์ และควรมีนางแบบอยู่กับผลิตภัณฑ์ด้วย เพราะจากสถิติอีกเช่นกันระบุว่า ภาพใบหน้าคนช่วยเพิ่มเอนเกจเมนต์ได้มากกว่า 38 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับไม่มีและที่สำคัญไปกว่านั้น นางแบบที่อยู่ในภาพควรดูสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ และดูคล้ายกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่ต้องการด้วย
3. ร่วมมือกับไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro-Influencer)
หมายถึง กลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ หรือบริโภคสินค้าที่มีกลุ่มผู้ติดตามชัดเจน แต่ไม่ใช่เบอร์ใหญ่ ฟอลโลว์ไม่เยอะมาก (แต่ก็ควรมีหลักพันขึ้นไป) แต่เป็นตัวจริง (ชอบจริง ใช้จริง ฯลฯ) ไมโครอินฟลูเอนเซอร์มักแฝงตัวอยู่ในยูทูบ เฟซบุ๊ก หรือไอจี และมีบล็อกเป็นของตนเอง ซึ่งสถิติที่น่าสนใจก็คือ นักการตลาด พบว่า “70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ไอจีติดตามคอนเทนต์ของแบรนด์” ได้ยินเช่นนี้แล้ว มันน่าสนใจไม่น้อยสำหรับเจ้าของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ
ประเด็นคือ แล้วเราจะใช้พลังของไอจีเพิ่มยอดขายได้อย่างไร? หนึ่งในนั้นก็คือ การร่วมมือกับไมโครอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์น่าสนใจมี 3 ประการดังนี้
1. ระดับความผูกพัน (Engagement) กับกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000-100,000 คน จะมีเอนเกจเมนต์ดีกว่าอินฟลูเอนเซอร์เบอร์ใหญ่ที่มีผู้ติดตามหลักล้าน (ข้อมูลจากเว็บไซต์ HelloSociety และ Markerly)
2. เข้าถึงได้มากกว่า ธุรกิจสามารถติดต่อไมโครอินฟลูเอนเซอร์ได้โดยตรง ง่ายกว่าเบอร์ใหญ่
3. ค่าใช้จ่ายต่ำกว่า โดยตัวเลขจาก influencer.co ระบุว่า ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่มีกลุ่มผู้ติดตาม 1,000-100,000 คน จะคิดค่าบริการเฉลี่ย 137-258 ดอลลาร์ฯ (4,500-8,500 บาท) ต่อการโพสต์ไอจีหนึ่งครั้ง นอกจากนี้ ในอินฟลูเอนเซอร์บางราย รีวิวให้ถ้าได้สินค้าฟรี หรือให้รหัสลดราคาสำหรับให้เป็นรางวัลกับผู้ติดตาม
ประเด็นคือ คุณต้องเลือกไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะกับสินค้าของคุณด้วย ทริกก็คือ ให้ทำรีเซิร์ชก่อน โดยเริ่มจากไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้คนติดตามไม่กี่พัน แต่เอนเกจเมนต์สูงมาก และหากเคยโปรโมตสินค้าให้ใครมาบ้างแล้ว ดูผลลัพธ์จากโพสต์นั้นด้วย อย่าสนใจแค่คอมเมนต์เยอะ แต่ให้อ่านด้วยว่า ความเห็นเป็นบวก หรือลบ และหากพบว่า ไมโครอินฟลูเอนเซอร์คนนั้น มีโพสต์สินค้าของแบรนด์เดิมซ้ำๆ แสดงว่าได้ผลลัพธ์ดี และสุดท้ายไม่ท้ายสุดคือ ก่อนที่จะใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ คุณต้องคิดข้อเสนอ (Offer) ที่กระตุ้นความสนใจของทั้งไมโครอินฟลูเอนเซอร์ และผู้ติดตามได้ก่อนด้วย
หวังว่า เทคนิคเพิ่มยอดขายแบบเร่งรัดทั้ง 3 ข้อนี้ จะช่วยให้ธุรกิจของท่านประสบความสำเร็จกันทุกคน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี