จากการเห็นถึงปัญหาของยางพาราล้นตลาดในประเทศไทย จุดประกายให้ อรกานต์ สายะตานันท์ นักออกแบบดีกรีปริญญาโทด้านโปรดักต์ดีไซน์จาก Domus Academy มิลาน ประเทศอิตาลี เกิดความคิดที่จะเพิ่มมูลค่าให้ยางพาราในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นที่มาของการก่อตั้งแบรนด์ PARA ภายใต้คอนเซปต์ “Simply Innovative Design” ที่ใช้หลักการออกแบบด้วยนวัตกรรมแบบเรียบง่ายในทุกๆโปรดักต์
“คีย์เวิร์ดของแบรนด์มีอยู่ 3 คำ คือ Thailand, Innovation และ Environment”
อรกานต์: จากการไปเรียนที่ต่างประเทศทำให้เห็นว่าเขามีการใช้ขวดไวน์กันเยอะ บวกกับกระแสโลกร้อนซึ่งเป็นประเด็นที่เราควรให้ความสนใจ เลยเกิดแรงบันดาลใจว่า ต้องมองหา Material ของไทยสักอย่างมาทำการเพิ่มมูลค่าที่ต้องมีทั้งดีไซน์และสามารถลดร้อนโลกได้ด้วย และด้วยความที่ยางพาราในบ้านเรานั้นล้นตลาด เลยทำให้เห็นช่องทางของการนำมาแปรเปลี่ยนสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมแบบเรียบง่ายให้เป็นโปรดักต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการหยิบเอา Innovation เข้ามาดีไซน์ให้เป็นของที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันจะทำให้เราสู้ได้ในตลาดและทำให้เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น
“แม้โปรดักต์แต่ละอย่างจะมีการทำในกรรมวิธีที่แตกต่างกันไป แต่ทุกชิ้นจะมีการตั้งต้นด้วยการใช้ยางจากธรรมชาติทั้งหมด”
อรกานต์: ปัจจุบันยางที่เขาใช้กันนั้นยังไม่ค่อยมีคนใช้ในวงการออกแบบสักเท่าไร ส่วนมากที่ใช้กันก็จะออกมาในรูปของการเป็นยางรถยนต์ ยางรัดของ หรือถุงมือยาง ด้วยความที่เป็นนักออกแบบ เราก็จะมาดูตั้งแต่ต้นว่าคุณสมบัติของยางเป็นแบบนี้ จะสามารถทำการแปรรูปเป็นโปรดักต์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ยังไงบ้าง ที่สำคัญคือการที่เราต้องการที่จะสื่อให้เห็นว่า แค่เพียง Material เดียวของไทยที่มีอยู่เยอะมากอย่าง “ยางพารา” นั้นสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายแบบและหลายวิธี ซึ่งบางครั้งเราอาจจะหลงลืมไป และอยากทำให้รู้ว่ายางจากธรรมชาตินั้นสามารถอยู่ในวงการดีไซน์ได้เช่นเดียวกับวงการอื่นๆ
“จุดแข็งของแบรนด์คือ การมีความเป็นธรรมชาติและมี Innovation ตอบโจทย์คนรักงานดีไซน์ที่มีความยั่งยืน”
อรกานต์: สิ่งที่ทำให้โปรดักต์ของเราโดดเด่นคือ การที่เราสามารถผสมความเป็นธรรมชาติที่คนติดภาพว่าต้องมีความดิบหรือดูเป็นสิ่งที่มีความเปียกให้สามารถมาอยู่บนโต๊ะอาหารได้ด้วยการใช้นวัตกรรมด้านการออกแบบและมีฟังก์ชั่นที่สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่ามันเข้าถึงยาก
“Tree – in – One: ที่ปิดจุกขวด – ที่รินน้ำ – กรวยกรอกน้ำ ภายในอันเดียว”
อรกานต์: คอลเลคชั่นแรกของเราที่ทำออกมาคือตัว Tree – in – One ซึ่งจะมีฟังก์ชั่นการใช้งาน 3 อย่างในชิ้นเดียว โดยฟังก์ชั่นแรกเรียกว่า “A Vacuum Stopper” เป็นจุกปิดขวดแก้ว ซึ่งพอทำการพลิกขึ้นมาก็จะเปลี่ยนรูปฟอร์มเป็นคล้ายๆกับรูปกลีบ เป็นฟังก์ชั่นที่ 2 หรือ “A Smart Funnel” ที่สามารถรินน้ำได้ ช่วยให้น้ำไม่หกตามปากขวด และฟังก์ชั่นที่ 3 หรือ “A Perfect Pourer” เป็นการรณรงค์ให้คนนำขวดแก้วกลับมาใช้ใหม่ โดยในรูปฟอร์มเดิมสามารถเป็นกรวยกรอกน้ำได้เลย โปรดักต์ชิ้นนี้ทำมาจากยางธรรมชาติซึ่งสามารถใช้ได้กับขวดแก้วทุกขนาด ไม่สามารถนำไปใช้กับขวดพลาสติกได้ เพราะเราเน้นไปที่การนำขวดแก้วกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งการ Reuse ขวดแก้วนั้นจะไม่ทิ้งสารตกค้างและมีความปลอดภัย แตกต่างจากขวดพลาสติกที่พอนำกลับมาใช้หลายๆครั้งจะเกิด Toxic และมีสารตกค้าง
“Ta – Kraw: ที่ห้อยต้นไม้ ห้อยของ”
อรกานต์: ผลงานชิ้นนี้ใช้วิธีของการถักมือ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากลูกตะกร้อที่เขาเล่นกัน ซึ่งเรามีวัตถุประสงค์ที่จะให้คนนำขวดแยมที่ทานหมดแล้วกลับมาใช้ใหม่ โดยตัว Ta – Kraw จะเป็นที่ใช้ห้อยต้นไม้หรือห้อยของ ซึ่งสามารถรูดขึ้น -ลงได้เพื่อทำการปรับขนาด และด้วยความที่ทำมาจากยางก็จะสามารถยืดหยุ่นได้และสามารถปรับให้เข้ากับขนาดขวดแยมที่มีหลายไซส์ได้ ในส่วนของการรองรับน้ำหนักจะได้มากขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับเรื่องของความร้อนด้วย ถ้าอยู่ในร่มหรือใช้ในบ้านจะสามารถรองรับน้ำหนักได้ที่ประมาณ 1 – 2 กิโลกรัม เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก และไม่แนะนำให้ใช้นอกบ้านหรือกลางแจ้ง เพราะยางจะเสื่อมไว เนื่องจากเราใช้ยางธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์และไม่ได้ใส่สารกันร้อน
“Weave: ที่จับขวดไวน์ ขวดแก้ว กันลื่น”
อรกานต์: ชิ้นงานนี้เราใช้เทคนิคการทอมือเข้ามาช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำการหยิบจับขวดไวน์หรือขวดแก้วที่มีความเย็นได้อย่างไม่ลื่นมือ โดยตัวแพทเทิร์นนั้นพัฒนามาจากการถักลาย 1 ของไทยให้มีความโมเดิร์นและเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ซึ่งลวดลายดังกล่าวทำให้สามารถนำขวดหลายๆขวดไปวางซ้อนทับกันได้โดยไม่กลิ้งหรือตกลงมา ช่วยประหยัดพื้นที่ในการเก็บไวน์
“Layer: ที่รองจาน รองแก้ว”
อรกานต์: คอลเลคชั่นนี้ใช้น้ำยางเป็นตัวตั้งต้นในการสร้างสรรค์ศิลปะลวดลายต่างๆ เป็นงานแฮนด์เมด 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเราจะใช้สีผสมกับน้ำยางแล้วนำไปเทใส่แม่พิมพ์ รอจนแห้งก็จะได้เป็นที่รองจานและรองแก้วออกมา ซึ่งสีแต่ละสีที่ใช้นั้นจะมีการเกาะกันเองเกิดเป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์ การที่สีอยู่ในเนื้อยางซึ่งไหลมาปนกันกับสีอื่นก็เป็นการสร้างเสน่ห์ให้กับตัวชิ้นงาน เรียกได้ว่างานแต่ละชิ้นนั้นจะมีแค่เพียงชิ้นเดียวและไม่ซ้ำใครแน่นอน
“ทุกแพ็กเกจจิ้งสามารถ Reuse ได้ทั้งหมดและเป็น Zero Waste”
อรกานต์: ตั้งแต่ Material คอนเซปต์การออกแบบชิ้นงานไปจนถึงแพ็กเกจจิ้งของเราจะมุ่งเน้นไปที่การนำมากลับมาใช้ใหม่หรือ Reuse ได้ทั้งหมด เพราะเราคำนึงถึงวัฏจักรของสิ่งแวดล้อมจริงๆ โดยแพ็กเกจจิ้งทุกอันจะเป็นกระดาษคราฟท์ไม่ขัดสี ไม่มีการใช้กาวและไม่มีการใช้สารเคมีในตัวแพ็กเกจเลย อย่างแพ็กเกจจิ้งของ Tree – in – One เมื่อนำเอาผลิตภัณฑ์ออกไปแล้ว จะสามารถฉีกตามรอยปะให้เป็นที่รองแก้วได้ ในส่วนของ Ta – Kraw ก็สามารถทำการพับตามคำแนะนำบนกล่องก็จะได้เป็นที่เตรียมดินสำหรับปลูกต้นไม้ หรือของ Layer ก็สามารถพับตามรอยเป็นแจกันประดับบนโต๊ะอาหาร และ ของ Weave นั้นก็สามารถทำการ Reuse ออกมาเป็นตัวตกแต่งแก้วได้ เช่น ใช้ในงานปาร์ตี้ ปกติคนดื่มไวน์เขาจะมีที่ตกแต่งแก้วเพื่อให้รู้ว่าอันนี้คือแก้วของเขา ช่วยให้แก้วไม่หายหรือจำแก้วตัวเองได้ ดังนั้นตัว Reuse ของแพ็กเกจทุกชิ้นจะมีความสอดคล้องไปกับตัวโปรดักต์นั้นๆและไม่ก่อให้เกิดขยะตามมา
“การดีไซน์ทุกวันนี้ต้องมีทั้งประโยชน์และความสวยงามควบคู่กันไป”
อรกานต์: การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงและมีความสวยงามนับว่าสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะพอทั้ง 2 อย่างมาเข้าคู่กันจะช่วยให้วิถีชีวิตของเราดีขึ้น มีความสุขและใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เรียกได้ว่าต้องเป็นโปรดักต์ที่มีประโยชน์และให้คุณค่าทางใจ ในขณะที่พร้อมใช้งานได้จริงในเวลาเดียวกัน และด้วยความที่ยางพารามาจากธรรมชาติ การควบคุมมาตรฐานและการคงรูปจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นการออกแบบต้องออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติของยางแต่ละแบบ ถ้าเรารู้ว่าธรรมชาติของยางประเภทนี้เป็นยังไง ก็จะช่วยให้การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นั้นมีความสอดคล้องกับคุณสมบัติของยางประเภทนั้นได้ดีขึ้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี